"เรืองไกร" เผยคลิปเสียงบันทึกประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีไร้น้ำหนัก แนะกองผู้สนับสนุน "พิธา" ศึกษาข้อกฎหมาย และเอกสารหลักฐานอื่นให้รอบคอบ บอกเรื่องนี้ต้องดูยาว ๆ
วันที่ 12 มิ.ย. 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ หนึ่งในผู้ที่ยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี “ข่าวสามมิติ” นำคลิปเสียงบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นของไอทีวีมาเปิดเผย ซึ่งไม่ตรงกับเอกสารที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า ไม่ได้หมายถึงบันทึกการประชุมเท็จ แต่เป็นการจดบันทึกการประชุมที่คลาดเคลื่อน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ผู้ถือหุ้นที่ตรวจพบ หรือสงสัยว่ามีการบันทึกการประชุมคลาดเคลื่อน ก็สามารถแจ้งไปยังบริษัทเพื่อแก้ไขบันทึกการประชุมได้ เป็นเรื่องระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัท
ทางด้าน นายเรืองไกร ยังบอกอีกว่า คลิปเสียงบันทึกการประชุมที่นำมาเปิดเผย ไม่ได้ทำให้น้ำหนักในการถือหุ้นไอทีวีซึ่งเป็น “กิจการสื่อ” ลดน้อยลงไป เพราะวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัทที่จดแจ้งเอาไว้ ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนหรือยกเลิกไป ยังคงวัตถุประสงค์เดิมอยู่ และคำว่า “สื่อ” ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องรับสัมปทาน หรือมีสัญญาร่วมการงานกับรัฐเท่านั้น แต่ประกอบกิจการอย่างอื่นก็เป็นสื่อได้ เช่น ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็เป็นสื่อ หรือรับพิมพ์สิ่งพิมพ์ต่างๆ เหมือน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด กรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็มีสถานะเป็น “สื่อ” เช่นกัน ฉะนั้นเรื่องบันทึกการประชุมจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ตนเห็นข่าวแล้วก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าจะมาแถลงตื่นเต้นอะไรกัน จึงขอเสนอให้ผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ ไปเปิดพจนานุกรมดูว่า คำว่า “สื่อ” หรือ mass media หมายความว่าอะไร มีอะไรที่เป็น mass media บ้าง
นอกจากนั้น ในบันทึกการประชุมฉบับเต็มของไอทีวี ก็มีการรายงานแผนธุรกิจ และแผนการทำสื่อรูปแบบต่างๆ ระบุเอาไว้ชัดเจน ตั้งแต่ก่อนจะจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่เสียอีก ฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องการเมืองที่มีการวางแผนเล่นงานนายพิธา ตามที่มีการตั้งข้อสงสัยกัน
ในส่วนกรณีที่ กกต.ตีตกคำร้องของตน เกี่ยวกับคุณสมบัตินายพิธาที่ยังถือหุ้นไอทีวีอยู่นั้น นายเรืองไกร บอกว่า ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งจาก กกต. ก็กำลังรอพิจารณาเหตุผลอยู่เหมือนกัน แต่การตีตกคำร้องก็ไม่ได้แปลว่า นายพิธา จะรอดเรื่องหุ้นไอทีวี เพราะ กกต.ตีตกคำร้องในแง่ที่ว่าพ้นระยะเวลาส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิจารณาวินิจฉัยเท่านั้น ซึ่งต้องส่งก่อนเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ กกต.ตั้งแท่นดำเนินคดีอาญา ตามกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 151 จึงแสดงให้เห็นว่า กกต.เชื่อเองว่า นายพิธา ไม่มีคุณสมบัติลงสมัคร ส.ส. และรู้ตัวเองตั้งแต่ต้น แต่ยังฝืนลงสมัคร ซึ่งในความเห็นของตนถือว่าหนักกว่าคำร้องที่ตนยื่นไปด้วยซ้ำ
นายเรืองไกร ยังฝากถึงหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงนี้ แสดงความดีใจจนออกนอกหน้าเกี่ยวกับเรื่องหุ้นนายพิธา ว่าควรศึกษาข้อกฎหมายและเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ให้รอบคอบ เพราะหลักฐานไม่ได้มีแค่บันทึกการประชุมเพียงแผ่นเดียว แต่ก็ไม่ได้ขัดข้องหากใครจะดีใจ ก็ถือเป็นความหวังอีกเฮือกหนึ่งของผู้สนับสนุนนายพิธา แต่ตนอยากขอให้ดูเรื่องนี้ยาว ๆ