"วิษณุ" รับฟังเสียงแย้ง คนโต้คุณสมบัติ "พิธา" ชิงนายกฯ ชี้อยู่ที่เนื้อหาคำร้อง-คำสั่งศาลรธน.วินิจฉัย ไม่วิจารณ์ หวั่นถูกกล่าวหาชี้ช่อง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยถึง กรณีให้สัมภาษณ์วานนี้ (13 มิ.ย.) ที่ระบุว่า หากผู้ที่ถูกศาลรัฐมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะสามารถเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีได้หรือไม่ ว่าเมื่อวานนี้คำถามมันหลายคำถาม ตั้งต้นถามตนจาก มาตรา 151 แล้วก็ไม่รู้ว่าขยับกระโดดคำถามไปเป็นคำถามในมาตรา 82 เมื่อใด ซึ่งหลักง่ายๆที่เขามาโต้แย้งตน ถ้าเป็นไปตามข่าวว่าตนได้พูดอย่างนั้นก็ถูกต้องแล้ว เพราะต้องเรียงลำดับเรื่องการฟ้องตามมาตรา 151 ศาลจะสั่งให้หยุดปฏิบัติ หน้าที่ ไม่ได้ เพราะเป็นการฟ้องตามศาลอาญาปกติ ศาลที่จะสามารถสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้คือศาลรัฐธรรมนูญ และอยู่ที่ว่าขั้นตอนการหยุดปฏิบัติหน้าที่จะหยุดเมื่อใด ซึ่งหน้าที่มีเมื่อไหร่ คือเริ่มต้นจากการรับรองผลการเลือกตั้ง หลังจากนั้นเป็นการรายงานตัว และมีการเสด็จฯเปิดประชุมสภาฯ และมีขั้นตอนการเลือกประธานสภาฯ โดยใช้ส.ส.ผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด
โดยให้สมาชิกได้ปฏิญาณตนจึงถือว่าเป็นส.ส. แต่ความเป็นส.ส.ที่จะเข้าชื่อกัน จำนวน 1 ใน 10 จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการปฏิญาณตนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมยกตัวอย่างนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ว่าสามารถปฏิญาณตนได้ในฐานะส.ส. แต่หากศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก็ต้องดูว่าศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ใดตำแหน่งใด แต่หากไม่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี สามารถดำเนินกระบวนการนั้นไปได้ เว้นแต่มีในคำร้อง ซึ่งตนไม่อยากชี้ช่องว่าในคำร้องได้ร้องอะไรยืดยาวมากกว่านี้ ถ้าศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด ก็ไม่สามารถเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากหากเสนอไปแล้ว แต่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้จะเอาความไปกราบบังคมทูลฯว่าอย่างไร และเมื่อทรงแต่งตั้งแล้ว ตั้งรัฐมนตรีก็ไม่ได้ เพราะผู้ที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการคือนายกรัฐมนตรี แต่กระบวนการจะต้องเกิดขึ้นตามลำดับอย่างนี้ แต่นี่ไม่ทราบว่าศาลจะสั่งอย่างไรในเวลานั้น เหมือนกับกรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ยังทำหน้าที่ได้ เพราะศาลไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดังนั้นสิ่งที่เขาโต้แย้งตนมาเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ว่าหยิบประเด็นกันขึ้นมาคนละประเด็นกัน
เมื่อถามว่ามีกฎหมายใดห้ามเสนอชื่อแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี แต่ตนไม่รู้ว่าคำร้องจะว่าอย่างไร ซึ่งถ้าตนแสดงความคิดเห็นจะหาว่าชี้ช่องให้ร้องอีก ตนจึงไม่ขอตอบในส่วนนี้ ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่คำร้องของผู้ร้อง และอยู่ที่คำสั่งของศาลด้วย ร้องไป 5 เรื่อง ศาลสั่งแค่ 2 เรื่องก็ไม่ได้เมื่อถามว่าสุดท้ายแล้วจะอยู่ที่ดุลยพินิจของประธานสภาผู้แทนราษฎรใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรมีบทบาทสำคัญที่สุด ที่จะรับมือเรื่องนี้ (handle) เนื่องจากมีลายเซ็นของประธานสภาผู้แทนราษฎรเพียงผู้เดียวในการกราบบังคมทูลเรื่องนี้ เพราะเวลาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จะมีคำว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินส่วนเป็นบทบาทของประธานสภาฯ ที่จะต้องดำเนินการหรือไม่หากเห็นอะไรสมควรหรือไม่สมควร นายวิษณุ กล่าวว่าจะต้องรับผิดชอบ เหมือนการเสนอแต่งตั้งข้าราชการ จะมาจากกระทรวงใดก็ช่าง นายกรัฐมนตรีเป็นคนเซ็น นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเมื่อกลับมาที่เรื่องที่ตนพูดเมื่อวานนี้
ส่วนเรื่องนี้อยู่ที่ประธานสภาฯใช่หรือไม่ที่ต้องทำให้ถูกต้อง นายวิษณุ กล่าวว่า ถูกต้อง เริ่มต้นพอเสนอชื่อประธานสภาฯจะรับชื่อนั้นหรือไม่ ถ้าทำไม่รู้ไม่ชี้ก็รับมาและก็ต้องมีการโหวตแข่งอยู่แล้ว 2-3 ชื่อก็ว่ากันไป เมื่อสอบตก ไม่ได้ประธานสภาฯไม่ต้องรับผิดชอบ แต่หากได้ขึ้นมาประธานสภาฯต้องคิดหนัก
เมื่อถามว่าหากส.ส.โหวตรายชื่อที่มีปัญหาแล้วได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จะมีปัญหาด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถูกต้อง ทั้งสอง ส.ส.และ ส.ว. เป็นเพียงการรับผิดชอบทางการเมือง แต่ไม่มีการรับผิดชอบทางกฎหมาย
เมื่อถามว่าหากพิจารณาตามข้อกฎหมาย จะมีเฉพาะตำแหน่งส.ส.หรือนายกรัฐมนตรีที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตราบใดที่ยังไม่ได้ลงตำแหน่ง อาจจะยังไม่มีกฎหมายที่ระบุให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ล่วงหน้าใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่กล้าตอบ เพราะไม่เคยมีตัวอย่าง ศาลอาจจะสั่ง หรือไม่สั่งก็ได้ การสั่งตามมาตรา 82 เป็นการสั่งในตำแหน่ง ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรีส่วนกรณี ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีการร้องแค่เรื่องส.ส.เพียงอย่างเดียว จึงสามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ แต่หากมีคำร้องในตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯพ่วงมาด้วยก็จะเกิดปัญหา ซึ่งไม่มีตัวอย่างมาก่อน จึงไม่สามารถเปรียบเทียบได้
ส่วนหากจะร้องในกรณีดังกล่าวต้องให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ขอชี้ช่อง ถ้าตอบคุณตรงนี้เท่ากับชี้ช่อง
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีการโหวตนายกรัฐมนตรีแล้วไม่ผ่าน ว่า หากโหวตได้ไม่ถึงครึ่งวาระนี้ก็อยู่ในสภาฯ แต่ถ้าตนพูดอย่างนี้ก็จะถูกมองว่าชี้ช่องให้รัฐบาลอยู่ยาว ก็ควรทำให้เสร็จให้เร็ว วันนี้ไม่เสร็จพรุ่งนี้ก็เลือก มะรืนก็เลือก ส่วนมองอย่างไรที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพ่งเล็งการดำเนินคดีต่อนายพิธา ม.151 โดยไม่มีสารตั้งต้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ขอตอบ เพราะรู้ว่าธงของคำตอบคืออะไร
ส่วนกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ออกมาวิจารณ์ข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้ส.ว. เข้าชื่อ 1 ใน 10เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของส.ส. ตามมาตรา 82 สามารถทำได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถทำได้ เนื่องจากมาตรา 82 ไม่มีบทเฉพาะการสามารถใช้ได้ตลอด