"อ.ปริญญา" แจงกฎหมายมรดก ชี้แม้ "พิธา" เป็นผู้จัดการมรดก พ่วงตำแหน่งทายาท แต่ไม่ถือเป็นผู้ถือหุ้น เพราะยังไม่มีการแบ่งทรัพย์

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีการถือหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ว่า โดยหลักของกฎหมายมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิย์ ถือว่าตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่ง ก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของ จนกว่าจะมีการแบ่ง ดังนั้นมาตรา 1615 จึงวางหลักไว้ว่าถ้ามีการสละมรดก ถือว่าย้อนหลังไปวันที่เจ้ามรดกตาย ส่วนสาเหตุที่ไม่มีผลตั้งแต่สละมรดกเพราะกฎหมายถือว่าไม่ได้แบ่งยังไม่มีใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง เมื่อสละก็ถือว่าไม่มีมาตั้งแต่ต้น

ดังนั้นกรณีของนายพิธา ที่ถือครองหุ้นไอทีวีใน 2 ฐานะคือผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นการถือแทนทายาททั้งหมด ในขณะเดียวกันก็เป็นทายาทด้วย แต่ในเมื่อหลักกฎหมายมรดกถือว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของที่แท้จริงก็ไม่ถือว่าหุ้นไอทีวีเป็นของนายพิธาเมื่อมีการโอนให้ทายาทคนอื่นก็จบ และถึงไม่โอนก็จบเพราะ ไม่ได้เป็นเจ้าของมรดกได้มาตั้งแต่แรก

เพียงแต่เป็นการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่ต้อง แบ่งมรดกให้กับทายาทซึ่งไม่ได้หมายความว่าทรัพย์เดียวกันต้องแบ่งให้ทุกคนสามารถจัดสรรได้ ซึ่งตามหลักกฎหมายมรดกถ้าไม่มีการแบ่งก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของมรดกชิ้นใดมาตั้งแต่แรก ถ้าว่ากันตามกฎหมายไม่ใช่การจะเอาผิดให้ได้

ส่วนกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ระบุว่า หาก ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีทรัพย์สินมูลค่าเกิน 200,000 บาท ต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีมีการได้มรดกมาโดยยังไม่ได้แบ่งและหากแบ่งแล้วมูลค่าเกิน 200,000 บาทก็ไม่ต้องแจ้ง เพราะยังไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ ประเด็นนี้สอดคล้องกับที่เลขาธิการ ป.ป.ช.บอกว่าความจริงไม่ต้องแจ้งก็ได้เพราะมรดกยังไม่ใช่ทรัพย์สินของนายพิธา ส่วนกรณีที่บอกว่าทำไมผู้จัดการมรดกแบ่งช้าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ได้เกี่ยวกับการมีคุณสมบัติต้องห้ามหรือไม่ ประเด็นสำคัญคือดูว่าไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่ และหากเป็นแล้วการเป็นผู้จัดการมรดกหรือเป็นทายาทถือว่าเป็นการถือหุ้นหรือไม่ ซึ่งทั้งสถานะผู้จัดการและทายาท ไม่ถือว่าเป็นผู้ถือหุ้น

นายปริญญา ยังระบุว่าการให้สัมภาษณ์ของเลขาธิการ ป.ป.ช. ยังเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับการชี้แจงของนายพิธา ซึ่งความจริงไม่จำเป็นแต่เมื่อมีก็จะเพิ่มน้ำหนักเพราะเจตนาคือรู้อยู่แล้วว่าไม่ได้เป็นเจ้าของไม่ได้เข้าองค์ประกอบที่จะเป็นผู้สมัครต้องห้าม

ส่วนนายพิธา จะต้องมีเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมว่าได้มีการสละทรัพย์ไปตั้งแต่แรกหรือไม่นั้น นายปริญญาระบุว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่ที่ กกต. หากจะเดินหน้าดำเนินคดีกับนายพิธาตามมาตรา 151 จะต้องเชิญนายพิธาไปแจ้งข้อหานี้ พร้อมแสดงหลักฐานว่าเหตุใดถึงแจ้งข้อหานี้ เพื่อให้นายพิธาสามารถชี้แจงแสดงหลักฐานหักล้างได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งการไปให้ข้อมูลจะต้องมีทั้งสองประเด็นคือประเด็นที่ระบุว่าไอทีวีไม่ใช่สื่อ ซึ่งเรื่องนี้ยังมีข้อพิรุธเพราะทั้งรายงานเรื่องงบการเงินและรายงานการประชุม

หากดูตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่ศาลยกคำร้องของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 29 คน หากเทียบเคียงกันแล้วไอทีวีแม้มีวัตถุประสงค์เป็นสื่อโทรทัศน์แต่ไม่ได้ประกอบการและมีรายได้ รวมถึงกรณีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า 400 หุ้นน้อยเกินกว่าจะมีบทบาทในการสั่งให้สื่อทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน ส่วนกรณีของนายพิธาสัดส่วนของหุ้นเพียง 0.0035% ถือว่าน้อยมากจนไม่สามารถขออะไรได้เลย และถือในฐานะผู้จัดการมรดก หากยึดตามบรรทัดฐานนี้ เรื่องนี้ยกคำร้องและไม่ต้องดำเนินคดีใดๆแต่กกต.กลับไปสรุปว่าไอทีวีเป็นสื่อและนายพิธาถือหุ้นจึงดำเนินการตามมาตรา 151 ซึ่งปกติแล้ว กกต.ไม่เคยดำเนินการก่อนที่ศาลจะยุติเรื่องว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามหรือไม่

นอกจากนี้ยังเทียบเคียงกับกรณีของนายธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกวินิจฉัยในประเด็นการถือหุ้นบริษัท วีลักซ์ มีเดียซึ่งท้ายที่สุดอัยการก็สั่งไม่ฟ้อง เพราะเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอเพราะหากเขารู้ว่าจะถูกตีความว่าเป็นสื่อมวลชนก็ต้องสละไปก่อน จะมาสมัครให้ตัวเองเดือดร้อนทำไม กรณีนายพิธาก็ทำนองเดียวกัน และคิดว่าเรื่องนี้คงไปไม่ถึงขั้นที่อัยการสั่งฟ้อง และกกต.อาจจะถอยด้วย