"ครูจวง ก้าวไกล" มองปม "หยก" ชี้กระบวนการมอบตัวควรยืดหยุ่น คำนึงถึงสิทธิการศึกษา ชวนทบทวนกฎระเบียบให้โรงเรียนเป็นพื้นที่เปิดกว้าง

วันที่ 15 มิ.ย. ปารมี ไวจงเจริญ หรือ ครูจวง ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อันดับที่ 29 ของพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงกรณี 'หยก' เยาวชนอายุ 15 ปี ที่มีปัญหาไม่ได้รับสถานะนักเรียนของโรงเรียน โดยระบุว่า

"ดิฉันติดตามกรณีคุณหยกด้วยความกังวลใจ โดยดิฉันเห็นว่าจากคำพูดและข้อคิดเห็นของหลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ปัจจุบันมีการอ้างถึง 2 สาเหตุที่นำไปสู่การที่คุณหยกไม่ได้เข้าเรียนและการมีสถานะเป็นนักเรียน ซึ่งล้วนสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาไทยที่เราต้องร่วมกันหาทางออก

สาเหตุที่ 1 ที่มีการอ้างถึง คือกระบวนการมอบตัวเป็นนักเรียนที่ไม่สมบูรณ์

ประเด็นการมอบตัวที่จะนำไปสู่สถานะการเป็นนักเรียนของคุณหยกนั้น ดิฉันเห็นว่าหลักการสำคัญที่สุดที่ต้องพิจารณา คือ ‘สิทธิในการเข้าถึงการศึกษาของนักเรียน’ ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (https://www.unicef.org/thailand/th/reports/convention-on-the-right-of-the-child)

ทั้งนี้ แม้ว่าโรงเรียนได้พูดถึงความพยายามในการให้ความยืดหยุ่นเพื่อให้คุณหยกสามารถเข้าสู่กระบวนการมอบตัวสู่สถานศึกษาแล้วตามกรอบของระเบียบปัจจุบัน แต่การที่ผู้ปกครองตามกฎหมายนั้นไม่สะดวกเข้ามารับรองตามกระบวนการดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในหลายกรณี

ดังนั้น การร่วมกันทบทวนระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อลดขั้นตอน ลดเอกสารที่ต้องใช้ เข้าใจความจำเป็นพิเศษของนักเรียน นำไปสู่กระบวนการเพิ่มความยืดหยุ่นเกี่ยวกับรูปแบบการรายงานตัวของนักเรียน จะทำให้ผู้ปกครองมีความสะดวกยิ่งขึ้นในกระบวนการดังกล่าว ในขณะเดียวกันหากผู้ปกครองไม่พร้อมในการดำเนินการดังกล่าว ก็ควรมีระบบช่วยเหลือนักเรียนให้เข้าศึกษาต่อได้ เพื่อเป็นไปตามหลักการที่รัฐต้องคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการพัฒนาของเด็กเพื่อให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้

สาเหตุที่ 2 ที่มีการอ้างถึง คือการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบโรงเรียน

โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนทุกคน ซึ่งรวมไปถึงการมีกฎระเบียบที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียน โอบรับความหลากหลายของนักเรียน และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคน

แม้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่สังคมคาดหวังให้นักเรียนทุกคนปฏิบัติตามกฎระเบียบโรงเรียน (แต่ถึงอย่างไร การปฏิบัติต่อนักเรียนที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบโรงเรียนควรต้องเป็นไปตามสัดส่วนของกฎระเบียบนั้น และไม่นำไปสู่การปิดกั้นนักเรียนในการเข้ารับการศึกษา) แต่ต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง เกิดจากการที่กฎระเบียบโรงเรียนในภาพรวม ยังไม่ได้ถูกพูดคุยหรือทบทวนอย่างจริงจัง

หลังจากที่นักเรียนหลายกลุ่มได้ออกมาตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถึงกฎระเบียบที่พวกเขามองว่าขัดหลักสิทธินักเรียนและสิทธิมนุษยชน ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการมีบทบาทเชิงรุกในการออกข้อกำหนดเพื่อห้ามไม่ให้โรงเรียนใดยังคงมีช่องในการออกกฎที่ขัดหลักสิทธินักเรียน นำไปสู่การร่วมกันทบทวนกฎระเบียบระดับโรงเรียนทั้งหมด จะทำให้การคุ้มครองสิทธินักเรียนและการให้นักเรียนปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นสิ่งที่ไม่ขัดแย้งกัน

ดิฉันเห็นความพยายามของหลาย ๆ โรงเรียนที่ต้องการสร้างพื้นที่ทดลองทั้งเรื่องการแต่งกาย และทรงผมของนักเรียนให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น สร้างพื้นที่พูดคุยด้วยเหตุผล รับฟังความเห็นของนักเรียนด้วยความใส่ใจ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นำไปสู่พื้นที่การเคารพกัน นี่คือวิธีที่สร้างสรรค์ และเป็นระบบการศึกษาที่ดิฉันต้องการเห็น

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงชุดความคิด (mindset) เกี่ยวกับสิทธิเด็ก ตั้งแต่ระดับกระทรวงสู่ระดับโรงเรียน ตลอดจนถึงผู้ปกครอง ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ๆ เพราะดิฉันเองก็เข้าใจและให้ความสำคัญกับ ครู โรงเรียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ถูกกดทับจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม ทั้งระดับผู้ปกครอง ระดับโรงเรียน และระดับกระทรวง เช่นกัน

สรุป - ดิฉันเห็นว่าการที่โรงเรียนยืนกรานว่าไม่มีการปฏิเสธนักเรียน และพยายามที่จะทำให้กระบวนการมอบตัวนั้นเกิดขึ้นได้ก่อนหน้านี้ เป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ดิฉันขอเสนอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 ต้นสังกัดของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และคุณหยกกับผู้แทนผู้ปกครองได้หารือร่วมกันเพื่อรักษาสิทธิของผู้เรียนในการเข้าเรียนตามหลักการและกระบวนการที่ควรจะเป็น

จงอย่าลืมว่า เพราะมี ‘เด็ก’ ระบบการศึกษาจึงมีความหมาย ระบบการศึกษาจึงไม่ควรละเมิด และทำลายเด็ก การเปลี่ยนแปลงที่ยกระดับการศึกษาให้ดีขึ้นเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างยิ่งนะคะ"