หยกฟาดวิชาจริยธรรม-ไหว้ครูไร้ประโยชน์ รร.ตัดออกระบบ - ลีน่าฉะเป็นลูกบีบคอตาย

จากกรณีของ “หยก” เยาวชนวัย 15 ปี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีปัญหาไม่ได้รับสถานะนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ล่าสุดวันที่ 17 มิ.ย. 2566 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการได้ออกประกาศฉบับ 2 ยืนยันว่า "หยก" ไม่มีสภาพนักเรียนของโรงเรียนแล้ว

โดยระบุใจความว่า หยกไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการมอบตัว ที่กำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องมามอบตัวพร้อมผู้ปกครอง อันเป็นเงื่อนไขสำคัญตามระเบียบ ขณะที่สิทธิในการศึกษายังมีหน่วยงานการศึกษาอื่นดูแลการเรียนต่อให้เหมาะตามความต้องการได้ พร้อมกันนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตของนักเรียน และครู รวมถึงอาคารทรัพย์สินอื่นๆ ในโรงเรียน โรงเรียนจึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด พร้อมลงลายเซ็น น.ส.จินตนา ศรีสารคาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ

ขณะที่ หยกได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงว่า
"1. หนูไม่ได้เข้าเรียนตามเวลาที่ใจปรารถนา แต่ที่หนูเข้าห้องสายตอนนี้เพราะถูกกีดกันไม่ให้เข้าโรงเรียน มันยากลำบากมาก หนูเข้าคาบตามเวลาที่กำหนดตลอด คาบไหนออดดังแล้วก็รีบวิ่งขึ้นไปทันที
2. หนูไม่ได้เลือกเรียนเฉพาะวิชาที่ชอบ แต่หนูเห็นว่าวิชาจริยธรรม เป็นวิชาที่ไม่มีประโยชน์ หนูคิดว่าสอนกันมาแบบนี้ก็ไม่มีใครเป็นคนดีขึ้น จากการต้องฟังว่าเราต้องเป็นคนดี
3. หนูไม่ได้ต่อต้านทุกกิจกรรมของโรงเรียน เหมือนกับในคุกบ้านปรานีเช่นกัน หนูไม่ท่องอาขยานก่อนกินข้าว แต่ถ้าต้องทำความสะอาดตรงกลางหนูก็ทำ เรื่องไหว้ครู ต่างๆ หนูเห็นว่าไม่มีประโยชน์กับเยาวชนและนักเรียน
4.การกระทำนี้ ไม่ใช่หนูดื้อแพ่งโง่ๆ แต่หนูคิดว่า สิ่งที่ทำอยู่ในโรงเรียนในประเทศคือเรื่องไม่ปกติ เด็กหลายคนก็คงอยากแต่งตัวไปรเวทเหมือนกันแหละ แต่อาจจะถูกพ่อแม่ไม่ให้ สังคมไม่ให้ โครงสร้างที่กดทับ ถูกโรงเรียนกดทับ แล้วก็ไม่มีความสามารถที่จะเป็นเจ้าของร่างกายตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เริ่มมาตั้งแต่ในชั้นเป็นเด็กแล้วคุณจะคาดหวังว่าเราจะมีผู้ใหญ่ที่โตไปเป็นผู้พิพากษาหรือข้าราชการ หรือคนมีตำแหน่งแล้วให้เค้ากล้าหาญที่จะหักคำสั่งของเจ้านายในเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควรได้ยังไงกันคะ
5. สังคมไทยก็ต้องเปลี่ยนตอนนี้ ถ้าไม่ใช่ตอนนี้แล้วจะเป็นตอนไหนคะ
หนูพูดในฐานะที่ตัวเองเป็นเยาวชนเพราะเปลี่ยนเพื่อให้หนูได้อยู่ต่อ
ให้เพื่อนๆทุกคนได้ไปต่อพร้อมกัน
การที่ผู้ใหญ่ชอบโลกแบบของผู้ใหญ่ก็คือเรื่องนึง แล้วพวกหนูในฐานะเด็กมีถ้าอยากเปลี่ยนแปลงเราต้องทำยังไง การร้องขอดีๆหลายสิบปีที่ผ่านก็ปรากฎชัดแล้วว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง
ในวันนี้ สิ่งที่หนูทำไม่ได้เป็นเรื่องฆ่าคนตาย เป็นการแสดงออกทางความคิดผ่านสัญญะ การแต่งตัวแบบนี้ไม่ได้ทำให้หนูเรียนไม่ได้ สิ่งที่ทำให้เรียนไม่ได้คือโรงเรียนและบุคลากร
เรื่องนี้เป็นบททดสอบของสังคมไทยทำให้เห็นว่า จะพิสูจน์อะไรอีก ถ้าตกลงแล้วสถานศึกษาหรือทัศนคติของสังคมไทย ว่าจะยังไง จะใช้วิธีปัดตกเขี่ยทิ้งกลบฝังคนที่อยากได้ความเปลี่ยนแปลงใช่ไหม"

จากกรณีดังกล่าว หลายคนพุ่งเป้าไปว่า พรรคก้าวไกล อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของเด็กหรือไม่

นายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ได้ตอบคำถามว่า ตอนนี้อะไรก็พรรคก้าวไกล ซึ่งตนมองว่า เป็นการตัดสินใจของตัวหยกเอง และทุกการตัดสินใจ ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังทั้งนั้น เพราะในวันนี้ทุกคนก็รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เขาอยากจะทำ อะไรคือสิ่งที่เขาไม่อยากจะทำ เขาอยากจะตัดสินใจแบบไหน

นายรังสิมันต์ ยังย้ำว่า อย่าใช้กรณีนี้มาบอกว่า พรรคก้าวไกลอยู่เบื้องหลังเลย เพราะไม่ได้ส่งผลดีต่อใครทั้งนั้น ส่วนกรณีของหยก เชื่อว่า การตัดสินใจของเขามาจากตัวเขาเอง 100%

ส่วนพรรคก้าวไกล จะมีการส่งคณะการศึกษาลงพื้นที่เชิงรุกเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่นั้น ตนยังไม่ได้คุยกับคณะกรรมการการศึกษาว่า สุดท้ายจะมีอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ แต่เบื้องต้นมองว่า การจัดการที่ดีที่สุด คือการพูดคุยกัน มองว่า ไม่มีทางเห็นตรงกัน 100%

ขณะที่ การตัดสิทธิความเป็นนักเรียน นายรังสิมันต์มองว่า ทุกวันนี้อัตราการเกิดของเด็กมีน้อย โครงสร้างพื้นฐานของการศึกษาไทยไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับเด็กจำนวนเท่านี้ แต่วันนี้ยังมีคนที่อยู่นอกระบบการศึกษาหรือเข้าไม่ถึงการศึกษา แสดงว่ามันเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น ใครก็ตามที่อยู่ในการศึกษาอยู่แล้วอย่าผลักเขาออกจากระบบการศึกษา แล้วใช้วิธีการพูดคุยกันทำความเข้าใจกัน

ด้านน.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรียกร้องให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความเห็นกรณีน้องหยก โดยได้แท็กไปที่เฟซบุ๊ก “Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” พร้อมระบุข้อความว่า “ถูกหวยเสร็จแล้ว แสดงความเห็นเรื่องหยกหน่อยค่ะ” ซึ่งก็มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ลีน่า จังจรรจา หรือลีน่าจัง ได้ไลฟ์แสดงความเห็นอย่างดุเดือดว่า "เด็กอย่างนี้กูเกลียด ถ้าเป็นลูกกู ก็บีบคอตาย เอาขี้เถ้าอุดปากตายตั้งแต่เกิดแล้ว ก็ไม่ชอบ มีแต่ทำความซวย ความฉิบหายในครอบครัว ไปเรียนหนังสือก็ทำให้ครูลำบาก ทำให้ครูเกลียด ทำให้ครูลำบากใจ ทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง เป็นหมาหัวเน่า คนเดียวในโรงเรียน"

ส่วนนายชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความคิดเห็นกับทีมข่าวช่อง 8 ว่า หากมองเรื่องการแต่งกาย ทรงผม หรือปีนรั้วเข้าโรงเรียน ตนมองว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้น บางสิ่งต้องมีการพูดคุยกัน การที่มองว่าคนที่ผิดระเบียบเป็นคนเกเร ไม่มีทางประสบความสำเร็จ ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างสะท้อนว่าผู้ใหญ่โดยเฉพาะครูอาจารย์มีอคติ มองว่าคนผิดระเบียบจะไม่มีคุณภาพในสังคม ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ได้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เพราะคนที่ทำตามกฎ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะออกมาเป็นคนมีคุณภาพในสังคม​ หรือคนที่ไม่ทำตามกฎ ไม่ได้แปลว่าจะกลายเป็นคนไม่ดีหลังเรียนจบออกมา

แต่ประเด็นสำคัญคือสังคมควรหันมาตั้งคำถามว่ากฎระเบียบเหล่านั้นสมเหตุสมผลแต่ไหน​ สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลหรือไม่​ ในฐานะที่ตนเป็นนักวิจัยด้านสิทธิมนุษชน​ ในองค์กรระหว่างประเทศ​ การมองกฎระเบียบโรงเรียนจะอิงจากกฎหมายระหว่างประเทศ​ จากสนธิสัญญาที่เรียกว่าอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก​ ที่มีการระบุไว้ชัดเจนว่าระเบียบในโรงเรียนควรสอดคล้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์​ และไม่เบียดเบียนหรือละเมิดสิทธิในเนื้อตัว​ ร่างกายของเด็ก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กจะตั้งคำถามกับกฎระเบียบที่มาบีบบังคับการดำเนินชีวิต​ การแต่งกาย การไว้ทรงผม ว่าขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่

ส่วนกรณีสังคมมองว่าหากไม่ยอมรับระเบียบของโรงเรียนก็สามารถไปเรียนที่อื่นที่ยอมรับเงื่อนไขลักษณะนี้ได้นั้น​ นายชนาธิปมองว่าเด็กทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงการศึกษา​ โดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐ ทางออกของเรื่องนี้คงไม่ใช่การไล่ไปเรียนที่อื่น​ ที่หมายถึงโรงเรียนเอกชน​ หรือโรงเรียนนานาชาติที่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงได้​ กฎระเบียบของโรงเรียนที่ทุกคนจะเข้าถึงได้ควรเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่จะให้เด็กหันไปหาตัวเลือกอื่น​ หากกฎระเบียบไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล​ หน่วยงานด้านการศึกษาควรพิจารณา​

​นายชนาธิปยังระบุว่าในช่วง2-3​ ปีที่มีการประท้วงของนักเรียน จะเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณา​ อลุ่มอล่วยกับกฎระเบียบมากขึ้น​ แม้ยังไม่มีคำสั่งชัดเจนให้ยกเลิกเครื่องแบบหรือการบังคับไว้ทรงผม​ แต่ก็ถือเป็นก้าวหนึ่งที่อนุโลมเรื่องเหล่านี้​ แต่ควรเริ่มหันมาพิจารณาใหม่ว่ามีความสำคัญแค่ไหน

สำหรับทางออกในกรณีของหยก การที่หยกไม่ได้เรียนต่อเพราะไม่มีผู้ปกครองทางกฎหมายเซ็นต์รับรอง​ ตามแถลงการของโรงเรียน​ ส่วนการไม่ปฏิบัติตามระเบียบเดี่ยวกับทรงผม​ เครื่องแต่งกาย​เป็นเหตุผลรอง​ ที่โรงเรียนตีความว่าเป็นการไม่เข้าสู่ระบบโรงเรียน​ เหมือนเป็นตัวชี้วัดว่าเด็กเกเร​ หรือไม่สามารถอยู่ร่วมกับโรงเรียนได้

ในมุมของนักสิทธิมนุษยชน​ ตนยังไม่ทราบข้อมูลครอบครัว แต่เบื้องต้นทราบว่าครอบครัวไม่ได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือ​ให้เด็กได้เข้าเรียน​ ซึ่งจริงๆ แล้วโรงเรียนควรยื่นมือมาช่วย​ และผ่อนปรนในส่วนนี้้​ การระบุว่าต้องมีผู้ปกครองมารับรองยินยอมให้เด็กเรียนต่อเป็นหลักการกว้างๆ ว่า การที่เด็กจะตัดสินใจอะไรต้องมีผู้ปกครองรับรอง เพื่อไม่ให้ต้องเผชิญอันตรายหรือการถูกแสวงหาผลประโยชน์​ โดยไม่ชอบธรรม​ ไม่ถูกต้อง​ ดังนั้นในกรณีนี้การมอบตัวก็เป็นประโยชน์ของเด็กโดยตรง​ และช่วยให้เด็กได้รับสิทธิทางการศึกษาที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน​ ​ ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นต้องให้ผู้ปกครองรับรองขนาดนั้น​ โรงเรียนพอจะอลุ่มอล่วยทำให้ได้เลยเพราะอยู่ในผลประโยชน์ของเด็ก​ ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล​

ส่วนขั้นตอนต่อไป​สังคม​ โรงเรียน​ ภาครัฐจะหาทางให้เด็ก ได้มีผู้ปกครองที่ช่วยดำเนินการเรื่องอื่นๆให้ได้รับความชอบธรรมทางกฎหมายได้อย่างไร​ อาจแต่งตั้งโดยศาล​ หรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษชน​ เช่น​ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าไปช่วยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ส่วนเรื่องเครื่องแบบเป็นกระบวนการที่สังคมต้องเรียนรู้จากเรื่องนี้ ว่าการที่เด็กออกมาเรียกร้องในสิทธิ​ เนื้อตัว​ ร่างกาย​ ไม่ใช่ครั้งแรก​ และอยากให้สังคมเรื่อมทำความเข้าใจว่าการที่เด็กออกมาทำอารยขัดขืน​ ประท้วงสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องแปลก​ ควรเป็นสิ่งที่จุดประกายให้สังคมตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้​จำเป็นแค่ไหน​

รร.ตัดขาด หยกสวนไม่ควรมีไหว้ครู