เช็กที่นี่! "วิธีรับมือแผ่นดินไหว" ข้อห้ามและอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมพร้อม หากเกิดเหตุการณ์จริง ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร พยายามควบคุมสติ อย่าตื่นตระหนก

จากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อเวลา 08.40 น. วันที่ 19 มิ.ย. 2566 ขนาด 6.0 ลึกลงไปในดิน 10 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางอยู่ที่นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ห่างจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ อ.พบพระ จ.ตาก ประมาณ 289 กม. ตึกสูงใน กทม. รับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย และมีการรีบอพยพ เคลื่อนย้ายคนลงมาจากตึกทันทีเพื่อเฝ้าระวัง ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

 

วันนี้ ทีมข่าวออนไลน์ช่อง8 จะพาไปรู้จักวิธีรับมือหากเกิดแผ่นดินไหวควรปฏิบัติอย่างไร?

 

ข้อควรปฏิบัติ ขณะเกิดแผ่นดินไหว


1. ถ้ากำลังขับรถยนต์ ให้หยุดรถและอยู่ในรถจนกระทั่งการสั่นสะเทือนหยุดลง ควบคุมสติอย่าตื่นตระหนกจนเกินกว่าเหตุ
2. ถ้าอยู่ในอาคารสูง ให้มุดเข้าใต้โต๊ะทำงาน อย่าวิ่งออกไปภายนอก เพราะบันไดอาจพังลงได้ และอย่าใช้ลิฟต์ เพราะอาจติดอยู่ภายใน
3. ถ้าอยู่นอกอาคารให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ๆ อาคาร กำแพงและเสาไฟฟ้า ให้อยู่ในที่โล่งแจ้ง
4. อยู่อย่างสงบ ถ้าอยู่ในอาคาร ให้ระวังปูนซีเมนต์ อิฐ ร่วงหล่นทับ ให้อยู่ในส่วนของอาคารที่มีโครงสร้างแข็งแรง ควรอยู่ให้ห่าง ประตู หน้าต่าง กระจก ระเบียง ถ้าอยู่ในสภาวะอันตรายให้มุดเข้าใต้โต๊ะ เตียง และหลังจากการสั่นไหวหยุด ให้รีบออกจากอาคารทันที

 

 

ข้อควรปฏิบัติ หลังเกิดแผ่นดินไหว


1. ปฐมพยาบาลแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และหากเจ็บมากขอความช่วยเหลือจากแพทย์ทันที
2. ตรวจสอบเรื่องไฟ ห้ามจุดไม้ขีดไฟ ก๊าซ หรือเปิดสวิตช์ไฟ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดประกายไฟ จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีก๊าซรั่วออกมาอีก
3. หลีกเลี่ยงจากสายไฟฟ้าที่ห้อยลงมา หรือวัตถุที่สัมผัสกับสายไฟฟ้า และยกสะพานไฟฟ้าเพื่อตัดกระแสไฟฟ้า
4. ตรวจท่อของเสียชักโครกก่อนที่จะใช้น้ำชักโครก
5. อย่าใช้โทรศัพท์ เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เพราะอาจถูกใช้ส่งข่าว ที่สำคัญกว่า
6. ตรวจสภาพรอบบ้าน และอาคารว่ามีความปลอดภัยเพียงพอก่อนเข้าไปอีกครั้ง
7. อย่าเดินเที่ยวดูสภาพความเสียหายของผู้อื่น เพราะทางสัญจรอาจจำเป็นต้องใช้ ในกรณีฉุกเฉิน
8. เตรียมพร้อมสำหรับการเกิดแผ่นเดินไหวในครั้งต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว