3 ตำรวจชลบุรี พัวพันคดีรีดเงินเว็บพนันออนไลน์ 140 ล้านบาท ยื่นหนังสือถึงอัยการช่วยตรวจสอบว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯหรือไม่
วันนี้ (22 มิ.ย.66) ตำรวจสังกัด ภูธรจังหวัดชลบุรี จำนวน 3 นาย ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกับอดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี รีดทรัพย์แก๊งเว็บไซต์พนันออนไลน์ จำนวน 140 ล้านบาท พร้อมด้วยที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ได้เดินทางมายังสำนักงานการสอบสวน ตลิ่งชัน เพื่อยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน เพื่อให้ตรวจสอบว่า การกระทำของ นานตำรวจ ทั้ง 3 นายเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ตามที่มีนายตำรวจระดับสูงกล่าวและปรากฏรายงานตามสื่อมวลชนหรือไม่ พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า หากมีการกระทำที่เข้าข่ายจริง เหตุใดจึงไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว กับเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 นาย เพื่อให้เตรียร้องขอให้มีหน่วยงานอื่น เช่น อัยการเข้ามาร่วมในกระบวนการสอบสวนตามที่ พรบ.ได้กำหนดไว้ได้
ทั้งนี้ ตำรวจทั้ง 3 นายยืนยันว่า ไม่มีส่วนร่วมกับการเรียกรับผลประโยชน์จำนวน 140 ล้านบาท อย่างที่ถูกกล่าวหา โดยในการปฏิบัติงานเข้าตรวจค้นบ้านของนายเป้นั้นเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง มีหมายค้นหมายและจับถูกต้อง แม้บางส่วนอาจมีข้อบกพร่องบ้างก็ตาม และยืนยันว่าไม่ทราบเรื่องเงินจำนวน 140 ล้านบาท มาก่อน อีกทั้งยอมรับว่ารู้สึกน้อยใจ เพราะขณะนี้ ตำรวจทั้ง 3 นายและครอบครัวได้รับผลกระทบจากการมีกระแสข่าวว่าถูกดำเนินคดีตาม พรบ.ฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่และมีบทโทษที่รุนแรง พร้อมยืนยันว่ามีพยานหลักฐานเพื่อชี้แจงความบริสุทธิ์ของตนเอง การออกมาร้องเรียนในครั้งนี้ไม่ใช่การร้อนตัว เพียงต้องการให้ทางอธิบดีอัยการยืนยันกระบวนการที่ถูกต้อง และต้องการให้มีหน่วยงานหรือองค์กรเข้ามาร่วมในกระบวนการตรวจสอบด้วย และในวันพรุ่งนี้ (23 มิ.ย.66) ได้เตรียมเดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน ขอให้มีการเปลี่ยนตัวชุดพนักงานสอบสวนในคดีนี้ด้วย
ด้านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า สำหรับคดีดังกล่าวศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานฉันงานอัยการสูงสุดได้รายงานเห็นว่าเป็นคดีสำคัญ และอธิบดีอัยการสำนักงานสอบสวนได้มีคำสั่งให้แสวงหาพยานหลักฐานประกอบการพิจารณา และรายงานอัยการสูงสุดเป็นคดีสำคัญไปแล้วเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนหนังสือ ที่มีการร้องขอความเป็นธรรมในวันนี้ อธิบดีอัยการสำนักงานสอบสวนจะดำเนินการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่โดยเร่งด่วนต่อไป
ขณะที่นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ กล่าวว่า การจะแจ้งให้อัยการเข้าไปควบคุมการสอบสวนได้ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.อุ้มหายฯได้นั้น พนักงานสอบสวนจะต้องมีหลักฐานจนพบพฤติการณ์ที่เข้าข่าย 3 ฐานความผิดตาม พรบ.อุ้มหาย คือ มีการกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้าย หรือทำให้บุคคลสูญหาย พนักงานสอบสวนคดี ซึ่งอาจเป็นตำรวจ ฝ่ายปกครอง หรือคดีพิเศษ ต้องแจ้งไปที่อัยการเพื่อให้เข้าไปควบคุมการสอบสวน หากยังไม่พบพฤติการณ์ที่เข้าข่าย ก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานจนพบก่อนที่จะแจ้งอัยการ