เช็กเสียง ส.ว.โหวตนายกฯ กลุ่มเคยประกาศโหวต "พิธา" เสียงแตก หลายคนเปลี่ยนใจ เหตุกังวลแก้ ม.112
ภายหลังนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กำหนดวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ถือว่ามีส่วนสำคัญ
ล่าสุด ทีมข่าวช่อง8 โทรศัพท์สอบถาม ส.ว.เพื่อเช็กเสียงโหวตอีกรอบ ปรากฏว่า มี ส.ว.หลายคน มีข้อกังวลในเรื่องการแก้ไขมาตรา112 และหากพรรคก้าวไกล ยังไม่แสดงจุดยืน ว่าจะไม่แตะต้องมาตรานี้ เรื่องนี้คงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นายพิธา ไม่ถึงเก้าอี้นายก แต่ก็มีส่วนหนึ่งยังแทงกั๊กขอตัดสินใจในวันโหวต
ขณะที่ ส.ว. กลุ่มเดิมที่ก่อนหน้านี้แสดงเจตนารมณ์จะโหวตให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ยังคงยืนยันจุดยืนเดิม อาทิ นายมณเฑียร บุญตัน , นายวันชัย สอนศิริ ,นายอำพล จินดาวัฒนะ แต่ก็มี 1-2 คนที่ ขอเปลี่ยนใจ ไม่โหวตให้แล้ว
อย่างนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ที่ยอมรับตรงๆว่าได้เปลี่ยนใจไม่โหวตให้นายพิธา เพราะเมื่อดูรายละเอียดในร่างแก้ไขมาตรา 112 ตนรู้สึกว่า ไม่สบายใจ แต่หากนายพิธา ยอมยกเลิกการแก้ไขมาตรานี้ ตนก็พร้อมที่จะโหวตให้ และส.ว.หลายคนก็เป็นเช่นนี้ และตั้งแต่เปิดประชุม ส.ว. มา ก็มีการพูดคุยเรื่องนี้มาโดยตลอด ดูเสียงตอนนี้ มีเหลือแค่ประมาณ 10 คน ที่จะสนับสนุนนายพิธา
ทั้งนี้ ยอมรับว่า มีตัวแทนจากพรรคก้าวไกลติดต่อกับส.ว.หลายครั้ง และหลายคน เพื่อพูดคุย แต่ส่วนใหญ่ตอบกลับไปว่าขอพิจารณาหน้างาน แต่ตนเชื่อว่าพรรคก้าวไกลรู้ตัวแล้วว่าจะได้เสียงไม่ถึง
ส่วนนายทรงเดช เสมอคำ ยังคงยืนยันว่า โหวตให้นายพิธา แต่เชื่อว่านายพิธา จะได้เสียง ส.ว. ไม่เพียงพอ หากไม่ประกาศว่าจะไม่แตะต้องมาตรา 112
ขณะที่ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ส.ว.กล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ รอดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาต้องชั่งน้ำหนักถึงหลักการและเรื่องนโยบาย โดยในหลักการนายพิธา ก็มาตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ดูเรื่องนโยบายที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติหรือเปล่า เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การขึ้นค่าแรงต่อการลงทุนของต่างประเทศ การอยู่รอดของอุตสาหกรรมไทย เรื่องนโยบายต่างประเทศที่อาจจะสร้างปัญหาให้กับประเทศเพื่อนบ้าน และกับประเทศมหาอำนาจ เป็นต้น และอีกหลายประเด็นที่เป็นห่วง ดังนั้นตนจึงยังไม่ตัดสินใจ เพราะเห็นว่าพรรคก้าวไกลก็ปรับนโยบายไปเรื่อยๆ และดูว่าวันสุดท้ายจะมีการชูนโยบายของตนเองให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติมากน้อยแค่ไหน
ขณะที่พลอากาศตรีเฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึง การตัดสินใจโหวตนายกรัฐมนตรี ว่า ไม่ได้มองที่ตัวบุคคล แต่ตนพิจารณาจากแนวคิด ยึดความมั่นคงของประเทศชาติ ศาสนาและประชาชนเป็นสำคัญ เพราะไม่อยากนอนผวาว่าวันดีคืนดี จะมีใครมาทำลายเรื่องของความมั่นคงของชาติ และส่วนตัวไม่ได้มองว่าใครจะสืบทอดอำนาจของใคร แต่จะขอยึดความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก ส่วนจะบทเลือกนายพิทาหรือไม่คำตอบอยู่ในคำชี้แจงข้างต้นแล้ว
สำหรับพลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ได้ให้ความเห็นว่า วุฒิสมาชิกมีวุฒิภาวะมากพอที่จะตัดสินใจลงหรือไม่ลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เลือกเพราะความคุ้นเคยศรัทธา หรือผลประโยชน์อื่นใด พิจารณาเลือกเพื่อให้บริหารประเทศที่เขารัก เพื่อประชาชน เพื่อลูกหลานในอนาคต