"ประธานสภาฯ" พร้อมน้อมนำพระราชดำรัส ของในหลวงไปปฏิบัติ เชื่อวันโหวตนายกฯราบรื่น มอง ส.ว.ใช้ดุลพินิจเลือกนายกฯ เพื่อประเทศชาติและประชาชน
วันที่ 7 ก.ค. 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังรับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า พร้อมน้อมนำพระราชดำรัส ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้แก่สมาชิกวันที่ 3 กรกฎาคม ในพระราชพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา เพื่อนำไปปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติต่อไป
นายวันมูหะมัดนอร์ ยังกล่าวถึงกรอบการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่า เรื่องนี้ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ส่วนกรอบเวลาของการประชุมตลอดจนเรื่องของความรวดเร็วอย่างไรนั้นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ถ้าพูดคุยล่วงหน้าอาจจะไม่ตรงกับสถานการณ์จริง ต้องรอดูวันที่ 13 กรกฎาคม คาดว่า การประชุมวันที่ 13 กรกฎาคมจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย แต่หากไม่เสร็จสิ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม ก็ได้หารือกับประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภาว่า อาจจะมาพิจารณาต่อในวันที่ 19 กรกฎาคม ซึ่งน่าจะเป็นวันที่เหมาะสมที่สุด เพราะเว้นไปหนึ่งสัปดาห์ ทั้งนี้ การประชุมวันที่ 19 กรกฎาคมจะเสร็จเรียบร้อยหรือไม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุม
ส่วนเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า เป็นการเลือกเพื่อไปบริหารประเทศ หน้าที่ของรัฐสภาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือเป็นองค์กรในการทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อไปบริหารประเทศต่อไป เพราะประชาชนและปัญหาของประเทศชาติกำลังรอคอยอยู่ เราก็ต้องทำหน้าที่เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรี เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ
เมื่อถามถึงข้อกังวลของ ส.ว.คือการเสนอชื่อคนเดิมซ้ำในการโหวตนายกรัฐมนตรี นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ว.ก็เป็นอิสระที่จะใช้ดุลพินิจตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสมาชิกแต่ละคนจะโหวตอย่างไร เชื่อว่า ทุกคนมีประสบการณ์ในการใช้ดุลยพินิจเพื่อประเทศชาติและประชาชน ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญ เชื่อว่าทุกคนจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ตามที่ประชาชนคาดหวัง
ทั้งนี้ตนในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เชื่อว่าประเทศชาติของเราต้องการความสมัครสมานสามัคคี เพราะเรามาทำงานตรงนี้เพื่อประเทศชาติ และประชาชน ขอให้ทุกท่านได้สนับสนุนให้มีนายกรัฐมนตรีมาเป็นผู้นำของประเทศ อย่างดีที่สุดตามที่ทุกท่านได้รอคอย พร้อมทั้งมองว่าหลายฝ่ายมีส่วนสำคัญอย่างพรรคการเมือง รัฐสภา ประชาชน และสื่อมวลชน ที่จะทำให้งานในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ส่วนมีหลายฝ่ายกังวลเรื่องการชุมนุม นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง กล่าวว่า ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะชุมนุมภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ ขณะนี้ยังไม่มีการแบ่งงานที่ชัดเจน ซึ่งจะได้มีการพูดคุยแบ่งงานกันในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ แต่ยืนยันว่า ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ตามกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุม