ย้อนโพสต์ "เอ้ สุชัชวีร์" เคยเตือนเรื่องความปลอดภัยสะพานลาดกระบัง พร้อมระบุถึงปัญหาที่พบ 3 ข้อ ถึงเครื่องจักรขนาดใหญ่ทำงานโดยที่ไม่มีแนวป้องกัน เสี่ยงอุบัติเหตุของหล่น จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน

จากเหตุการณ์คานสะพานข้ามแยก สูงกว่า 20 เมตร ตรงหน้าห้างโลตัส เขตลาดกระบัง ซึ่งกำลังก่อสร้างทางยกระดับลาดกระบัง เกิดทรุดตัว ถล่มลงมา เมื่อเวลา 18.00 น. วานนี้ (10 ก.ค.66) ซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 2 ราย เบื้องต้นมีรายงานผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 13 คน และเจ้าหน้าที่ได้ปิดการจราจร ด้านถนนหลวงแพ่ง ฝั่งขาเข้า ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

หากย้อนไปเมื่อช่วงปีที่แล้ว (2565) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เคยโพสต์เตือนโครงการก่อสร้างดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ว่า “ด้วยความห่วงใย การก่อสร้างสะพาน ต้องมีมาตรฐาน นั่งรถผ่านโครงการก่อสร้างสะพานถนนลาดกระบัง-อ่อนนุช ทุกวัน เห็นแล้วอดเป็นห่วงไม่ได้”

 

 

พร้อมกับแสดงความกังวล และเล่าจากประสบการณ์หลายปี ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการวิบัติของการก่อสร้างโครงสะพาน ซึ่งจะเกิดเหตุบ่อยครั้งขณะทำงานในกรณี “นั่งร้านคนงานพัง” เนื่องจากทั้งดินอ่อนรับน้ำหนักนั่งร้านไม่ได้ หรือไม่ได้ค้ำยันกับโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง ทำให้คนงานบาดเจ็บและเสียชีวิตบ่อยครั้ง นอกจากนี้ “ไม้แบบรองรับการเทคอนกรีตเสาและคานพัง” เพราะรับน้ำหนักขณะเทคอนกรีตไม่ได้ หรือ เทผิดจังหวะทำให้ไม้แบบเอียงพัง หรือ เสาค้ำยันไม้แบบวางบนดินอ่อนเกิน ก็พังลงมา และกรณี “เครนล้ม” เนื่องจากใช้เครนไม่ถูกขนาด เล็กเกินไปที่จะยกโครงสร้างน้ำหนักมาก จึงพลิกคว่ำบ่อยครั้ง เป็นอันตรายทั้งคนขับเครน และคนงานในพื้นที่ สุดท้าย “คานหล่น” ขณะติดตั้ง เนื่องจากหลุดจากเครนยก หรือหล่นขณะวางพาดบนเสา หลายครั้งลงมาใส่รถที่สัญจร อยู่ข้างล่าง ซึ่งกรณีนี้เอง เกิดขึ้นจริงเมื่อวานนี้ ตามที่ดร.เอ้ เคยให้ความเห็นไว้

ต่อมา ดร.เอ้ ยังโพสต์ฉะอีกครั้ง วันที่ 19 สิงหาคม 2565 ว่า “กลับบ้านวันศุกร์ ไม่สุข ไม่ปลอดภัย ผมขอแสดงความเป็นห่วงจากใจ โครงการก่อสร้างสะพานข้าม ถนนอ่อนนุช-หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง เห็นปัญหาชัดเจน” พร้อมระบุถึงปัญหาที่พบ 3 ข้อใหญ่ๆ ถึงเครื่องจักรขนาดใหญ่ทำงานโดยที่ไม่มีแนวป้องกัน เสี่ยงอุบัติเหตุของหล่น จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน อีกทั้งถนนยุบจากการก่อสร้าง เสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ และสุดท้ายการจราจรติดขัดสาหัส เพราะโครงการก่อสร้างกินพื้นที่กว้าง แม้ว่าบางช่วงก่อสร้างเสร็จแล้ว ก็ต้องคืนให้ประชาชนสัญจรได้ เพราะอุบัติเหตุจากการก่อสร้างสะพาน เกิดขึ้นบ่อยหลายครั้ง และทิ้งท้ายว่า “ขออย่าให้เกิดที่ใด กับใครอีกเลยครับ เป็นห่วงจริงๆ”

 

 

ล่าสุด ดร.เอ้ โพสต์อีกครั้ง เพื่อแสดงความเสียใจอย่างมาก เนื่องจากตนเองเคยเตือนหลายครั้งแล้วว่าการทำงานก่อสร้างสะพาน ต้องทำงานตามมาตรฐานความปลอดภัยที่เคร่งครัด และต้องระมัดระวังตลอดเวลา ดีกว่ามาแก้ไขทีหลัง และหลายอย่างสูญเสียแล้วทดแทนคืนไม่ได้