ประธานศาลฎีกา ตรวจเยี่ยมมอบนโยบายศาลยุติธรรมภาค 6 ในพื้นที่จ.พิษณุโลก-เพชรบูรณ์ เน้นย้ำการวางระบบติดตามดูแลการพิจารณาคดีตั้งแต่ต้นทาง ส่งเสริมการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาอำนวยความสะดวกประชาชน
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา พร้อมด้วยคณะ และนายนพเรศ พันธุ์นรา อธิบดีผู้พิพากษาภาค 6 ร่วมกับคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมศาลแขวงนครไทยและโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดนครไทย ศาลจังหวัดหล่มสัก ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์ และศาลจังหวัดเพชรบูรณ์
โดยมีนายสมชาย อติกรจุฑาศิริ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนครไทย นายนิวัฒ ทั่งทอง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหล่มสัก นายสุเนตร สาทา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์ และนายฉัตรชัย เพ็ชรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมคณะ ให้การต้อนรับ
ซึ่งประธานศาลฎีกา ประชุมมอบนโยบายแก่คณะผู้พิพากษา ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้ประนีประนอม ตลอดจนผู้พิพากษาสมทบ พร้อมทั้งรับฟังรายงานผลการดำเนินงานการปฏิบัติตามนโยบายประธานศาลฎีกา และแนวทางการปรับปรุงพัฒนาของศาล หลังจากนั้น ประธานศาลฎีกาได้ทักทาย พูดคุยและรับฟังปัญหาข้อขัดข้องจากคณะผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามส่วนงานต่าง ๆ รวมถึงให้กำลังใจในการปฏิบัติงานและขอให้ทุกคนมุ่งมั่นทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ ประธานศาลฎีกากล่าวว่า ศาลแขวงนครไทย และศาลจังหวัดพิษณุโลก สาขานครไทย เป็นศาลขนาดเล็กที่มีปริมาณคดีไม่มาก มีอำนาจพิจารณาเฉพาะคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงและคดีแพ่งบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลจังหวัด เหตุที่ต้องเปิดทำการศาลที่อำเภอนครไทยซึ่งอยู่ในท้องที่ห่างไกลก็เพื่ออำนวยความสะดวกและบริการประชาชนในพื้นที่ให้ไม่เป็นภาระต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางไปยังอำเภอเมืองพิษณุโลก และในอนาคตมีแผนการที่จะยกฐานะศาลแขวงนครไทยขึ้นเป็นศาลจังหวัดนครไทยเพื่อสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ครอบคลุมทั้งคดีที่อยู่อำนาจของศาลจังหวัดและศาลแขวง นอกจากนี้ ประธานศาลฎีกายังได้ตรวจพื้นที่บริเวณโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดนครไทย และกำชับสำนักงานศาลยุติธรรมให้บริหารสัญญาการก่อสร้างเพื่อเปิดทำการศาลโดยเร็วต่อไป
ในส่วนศาลจังหวัดหล่มสัก ประธานศาลฎีกา เน้นย้ำถึงความสำคัญของการกำหนดเป้าหมายในการทำงาน และการวางแผนการบริหารจัดการคดี ซึ่งต้องมีการวางระบบติดตามดูแลการพิจารณาคดีตั้งแต่ต้นทาง ส่งเสริมการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทโดยมีกำหนดเวลาที่เหมาะสม ประชาสัมพันธ์ให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี เช่น การยื่นคำฟ้องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) และระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) เป็นต้น รวมทั้งสามารถเปิดทำการศาลนอกเวลาราชการและในวันหยุดราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาพิพากษาคดีได้อีกด้วย
โดยประธานศาลฎีกา กล่าวถึงศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์ด้วยว่า เป็นศาลที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้าใจการทำงานด้านคดีเยาวชนและครอบครัวเป็นอย่างดี ส่งผลให้บริหารจัดการคดีแล้วเสร็จตามเกณฑ์ที่กำหนด แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง โครงการต่าง ๆ ของศาลย่อมต้องปรับให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ นอกจากนั้น การทำโครงการและกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อประชาชนก็เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นการสร้างเสริมภาพลักษณ์และสร้างชื่อเสียงให้แก่ศาลยุติธรรมอีกด้วย ส่วนศาลจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาทั้งคดีศาลจังหวัดและคดีศาลแขวงทำให้มีปริมาณคดีค้างพิจารณาพอสมควร จึงต้องมีการวางแผนบริหารจัดการคดีให้เหมาะสมกับประเภทของคดี โดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและบุคลากรในศาลควรร่วมกันประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการบริหารจัดการคดี นอกจากนี้ การไกล่เกลี่ยก็เป็นแนวทางจัดการคดีให้แล้วเสร็จได้อย่างมีคุณภาพ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลพึงนำคดีเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยซึ่งมีผู้ประนีประนอมที่มีความเชี่ยวชาญให้มากที่สุด แต่ต้องกำหนดระยะเวลาในการไกล่เกลี่ยให้เหมาะสม เพื่อให้คดีเสร็จการพิจารณาอย่างรวดเร็วบนความพึงพอใจของคู่ความทุกฝ่าย ส่งผลให้ปริมาณคดีค้างพิจารณาลดลงและทำให้ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์กลับสู่เกณฑ์มาตรฐาน (ศาลสีเขียว) ในที่สุด
ทั้งนี้ การตรวจเยี่ยมศาล วันนี้ (14 ก.ค.) ประธานศาลฎีกาและคณะ มีกำหนดการที่จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมศาลยุติธรรมภาค 3 ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิต่อไปด้วย