15 กรกฎาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เผยแพร่คลิปวิดีโอทางโซเชียลมีเดีย โดยกล่าวขอบคุณสมาชิกรัฐสภา 324 เสียง โดยเฉพาะ ส.ว. 13 ท่าน ที่โหวตเห็นชอบให้ตน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยตนทราบดีว่า ส.ว. หลายท่านเผชิญแรงกดดันมากมาย ที่รุนแรงหนักหนาจากการตัดสินใจครั้งนี้ ที่สำคัญที่สุด ตนขอขอบคุณทุกแรงใจ แรงสนับสนุนจากประชาชนทุกคน แต่ต้องขออภัยทุกท่านที่เรายังทำไม่สำเร็จ
นายพิธากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในฐานะพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงอันดับหนึ่งในการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลมีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน คือจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ วันนี้เราพยายามทำทุกวิถีทางตามครรลองประชาธิปไตย เพื่อให้เสียงของประชาชนได้รับการตอบสนอง เจตนารมณ์ของประชาชนได้รับการเคารพ นี่คือการต่อสู้ร่วมกันไม่ใช่แค่ของพรรคก้าวไกลและ 14 ล้านเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกล ไม่ใช่แค่การต่อสู้ของ 8 พรรค ตัวแทน 27 ล้านเสียง แต่คือการต่อสู้ของคนไทยทั้งประเทศ เพื่อยืนยันว่าเสียงของประชาชนต้องเป็นเสียงที่กำหนดอนาคตของประเทศนี้
“ขอให้เราเดินด้วยกันต่อไป ตั้งรัฐบาลของประชาชนให้ได้ แต่เวลาของเราเหลือไม่มาก เพราะผมทราบดีว่าประเทศไทยเดินต่อไปโดยไม่มีรัฐบาลของประชาชนแบบนี้ได้อีกไม่นาน ภายใต้เวลาอันจำกัดนี้ เราเหลือโอกาสอีกไม่กี่ครั้ง ที่ต้องสู้ร่วมกัน ใน 2 สมรภูมิ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลตามมติมหาชนได้สำเร็จ
สมรภูมิที่หนึ่ง ที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 วันข้างหน้า คือการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 และสมรภูมิที่สอง ก็คือการยื่นเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกถาวรตลอดกาล ทั้งสองสมรภูมิจะไม่มีวันชนะได้ หากเราไม่สามารถเปลี่ยนใจ ส.ว. ให้อยู่ข้างประชาชน
ผมจึงขอให้ประชาชนทุกคน ร่วมทำภารกิจกับผมในสองสมรภูมินี้ โดยการ ส่งสารถึง ส.ว. ในทุกวิถีทาง ทุกวิธีการที่ท่านนึกออก ย้ำ ขอเป็นวิธีการสร้างสรรค์ ช่วยกันเชิญชวนให้ ส.ว. โหวตนายกตามมติประชาชน หรือ โหวตยกเลิกมาตรา 272 เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน”
โดยหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่าหากพวกเราทำเต็มที่ใน 2 สมรภูมินี้แล้วเป็นที่ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้จริงๆ ตนพร้อมเปิดโอกาสให้ประเทศไทย โดยเปิดทางให้พรรคอันดับสอง คือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ภายใต้ MOU ที่ทำร่วมกันไว้ และผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลทุกคนพร้อมสนับสนุนแคนดิเดทนายกของพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยถึงผลการหารืนร่วมกับพรรคเพื่อไทย เมื่อวานนี้ว่า พรรคก้าวไกล ได้ยืนยันจะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อีกครั้งในการประชุมสภา วันที่ 19 กรกฎาคมนี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะนำไปหารือ โดยการพูดคุยเมื่อวานนี้มีหลายเรื่อง เช่น การหาแนวทางป้องกัน เพราะมีกระแสข่าวว่า ส.ว.บางคน พยายามเสนอให้มีการตีความข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ว่าการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะสามารถทำซ้ำได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า ไม่สามารถตีความข้อคับเหล่านั้นได้ เพราะข้อบังคับนั้นมีไว้ใช้สำหรับญัตติทั่วไปเท่านั้น แต่การเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นกรณีเฉพาะ ซึ่งกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญว่า หากไม่สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ รวมถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า จะมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากเสียงข้างน้อยมาแข่ง และยังพูดคุยถึงการหาเสียงสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นด้วย
ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่าวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ จะมีการเสนอชื่อ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแข่งกับนายพิธานั้น นายชัยธวัช ยอมรับว่า มีการหารือกรณีนี้เช่นกัน ซึ่งก็เป็นภารกิจของทั้ง 8 พรรค โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ที่จะต้องจับมือกันให้แน่น เพื่อไม่ให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าจะมีการนัดประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ในเช้าวันที่ 18 กรกฎาคม เพื่อประสานงาน และพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
ทางด้านพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลนัดหารือเพื่อหาทางออกเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีเย็นวานนี้ “พรรคก้าวไกลมีโอกาสไม่มาก เพราะส่วนใหญ่จะปิดกั้นตัวเอง นี่ก็ไม่ได้ นั่นก็ไม่ได้ ไปยกมาตรฐานไว้สูงเลย ยกตัวอย่าง เช่น พอมี 312 เสียง จะไปหาเพิ่ม ไปติดต่อพรรคชาติพัฒนากล้า ที่มี 2 เสียง แต่พอด้อมส้มทั้งหลายที่ไม่รู้เรื่องพูดมาหน่อยก็ถ้อยแล้วไปฟัวเสียงพวกนี้ทำไม พวกนี้มีอะไรกับพรรคก้าวไกล ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรหรอก ไปฟังใครก็ไม่รู้"
ส่วนความเป็นไปได้ที่ 8 พรรคร่วมจะเสนอยุทธวิธีใหม่ ด้วยการเปลี่ยน ชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน หรือนางสาวแพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย เพราะหากเป็นแคนดิเดตจากพรรค ก้าวไกลจะไม่ได้เสียงจากส.ว.อีก พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า ยังหรอก ถึงอย่างไรวันนั้นเพื่อไทยก็ยังไม่แข่งด้วย เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลอย่างเต็มที่ คบหากันมา คุยกันมา ทำMOU กัน เพื่อเปิดสิทธิ์ให้พรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ เราก็คิดอย่างนั้น เพื่อไทยก็คิดอย่างนั้น จะ 2 ครั้ง 3 ครั้ง 4 ครั้ง ก็ได้ พร้อมย้ำว่า วันที่ 19 กรกฎาคมอย่างไรก็เสนอพรรคก้าวไกลแน่ๆ เพื่อไทยก็ไม่แข่งด้วย
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี จะแพ้โหวตในรัฐสภาอย่างแน่นอน ทางแกนนำพรรคเพื่อไทยคิดว่าได้ทำให้พรรคก้าวไกลเต็มที่แล้ว เมื่อไปไม่ได้ควรจะเป็นสิทธิของพรรคอันดับ 2 ที่จะขึ้นมาเป็นพรรคแกนนำแทน
โดยพรรคเพื่อไทยมีแคนดิเดตนายกฯ คือ "อุ๊งอิ้ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งยังไม่พร้อมที่จะขึ้นมารับตำแหน่งนายกฯ ในขณะนี้ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอีกคนหนึ่ง ขึ้นมาแทน โดยนายเศรษฐาได้ตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องนำพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาลด้วย เพื่อลดกระแสต่อต้านจากกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่เรียกกันว่า “ด้อมส้ม” ในอนาคต
ด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานคณะหลอมรวมประชาชน เปิดเผยว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของนายพิธา และเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือและทางออกที่ดีของพล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เพราะเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วการเสนอชื่อนายพิธาอีกครั้ง ในการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่2 ที่จะเกิดขึ้น 19 ก.ค. นายพิธาก็อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุน แต่การเปลี่ยนแนวทางเพื่อที่จะให้พรรคก้าวไกลโดยนายพิธาเสนอชื่อของนายเศรฐา เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็อาจจะมีแนวโน้มเป็นไปได้มากกว่า แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเสนอชื่อของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ก็อาจกลับไปอยู่ในแนวทางเดิม เพราะสุดท้ายแล้ว เป็นเพียงแค่การรักษาไม่ให้กลุ่มฐานแฟนคลับไม่ว่าจะเป็นด้อมส้มหรือของพรรคเพื่อไทย ลงสู่ถนน และทำให้เกิดวิกฤติ เท่านั้นเอง
และถ้าหากวันที่ 19 ก.ค. นายพิธายังคงเสนอชื่อของตัวเองชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่2 ก็อาจมีความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้ เพราะเนื่องจาก สุดท้ายแล้วจะอยู่ที่ประธานรัฐสภา ว่าจะเห็นชอบหรือปฏิบัติตามระเบียบของการประชุมสภาหรือไม่อย่างไร เพราะทางนี้มีระเบียบข้อ 41 กำหนดเอาไว้ชัดเจน หากได้รับความเห็นชอบ หรือประธานอนุญาต ก็สามารถที่จะเสนอชื่อกลับเข้ามาได้อีกครั้ง
แต่สำหรับแนวทางเรื่องของความเป็นไปได้ หากก้าวไกลตัดสินใจในแนวทางใดทางหนึ่ง ก็อาจจะยังไม่มีผลต่อกลุ่มแฟนคลับด้อมส้มมากเท่าที่ควร เพราะเมื่อเทียบกับในอดีตที่พรรคเพื่อไทยเคยมีคะแนนเสียงท่วมท้นถึง19ล้านเสียง แต่ในเมื่อพักเกิดวิกฤติหรือการตัดสินใจบางอย่างก็มีเพียงคนออกมาขับเคลื่อนแค่500คน เว้นแต่พรรคเพื่อไทย มีการเปลี่ยนขั้วไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคการเมืองอื่น แล้วทิ้งให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นฝ่ายค้านอยู่คนเดียว สิ่งนี้อาจจะทำให้เกิดวิกฤตเกิดขึ้นได้ โดยจะมีฐานแฟนขับที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยออกมาทวงถามถึงจุดยืน และรวมถึงกลุ่มฐานแฟนขับของด้อมส้มก็จะเกิดความไม่พอใจ เรื่องนี้ก็อาจจะทำให้เกิดวิกฤติ ที่ฐานของทั้ง2พรรค จะออกมารวมกันแล้วมีจำนวนมากขึ้น อาจทำให้เกิดการนองเลือด เกิดเรื่องของการต่อสู้ และทำให้เกิดวิกฤติเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ส่วนตัวอยากจะสะท้อนและฝากไปถึงนายพิธา ว่า “ โอกาสมีครั้งเดียว อะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเข้าร่วมประชุมและยืนขึ้นเสนอชื่อให้กับเศรษฐา เพื่อเป็นการทำหน้าที่ก่อนที่จะถูกสั่งพักปฎิบัติงาน เพราะทราบว่าในวันดังกล่าวนั้นศาลรัฐธรรมนูญอาจมีการรับตีความจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฉะนั้นการทำหน้าที่ก่อนถูกพักคือการเสนอชื่อนายเศรษฐา ก็ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ของนายพิธา ก่อนถูกสั่งพักปฏิบัติหน้าที แต่สุดท้ายแล้วแม้ว่าจะเสนอชื่อของนายเศรษฐาจากเพื่อไทย ก็มีชะตากรรมเดียวกันคือโหวตไม่ผ่านเหมือนเช่นนายพิธา”