"นายกฯ" กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อน "ตาลิม" เตรียมความพร้อมรับมือร่องมรสุมกำลังแรง-ฝนตกหนัก พร้อมเตรียมการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างฯ ขนาดใหญ่ เพื่อเก็บกักไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง

วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุโซน “ตาลิม” (TALIM) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ซึ่งขณะนี้ พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ตาลิม” (TALIM) แล้ว และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้า ๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำและขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 18-21 ก.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลให้ในระยะนี้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และมีน้ำป่าไหลหลาก ดังนี้ ภาคเหนือ บริเวณ จังหวัดเชียงใหม่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ภาคกลาง บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดสระบุรี ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด

นางสาวรัชดา กล่าวว่า จากการที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า พายุโซนร้อน “ตาลิม” และร่องมรสุมกำลังแรง คาดการณ์จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศได้กว่า 1,426 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในช่วงระหว่างวันที่ 17 - 22 ก.ค. 66 โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างฯ ขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำน้อย โดยอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าสูงสุด ได้แก่ เขื่อนสิรินธร 259 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ 217 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 195 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว 125 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนภูมิพล 117 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนวชิราลงกรณในภาคตะวันตก ที่สามารถใช้สนับสนุนน้ำต้นทุนให้แก่พื้นภาคกลางเพื่อใช้สำหรับผลักดันน้ำเค็มและผลิตน้ำประปาได้ ถือเป็นผลดีในการช่วยเหลือพื้นที่ตอนกลางของประเทศที่คาดว่าจะมีฝนตกน้อยจากสภาวะเอลนีโญในปีนี้และเสี่ยงเกิดภัยแล้งมากที่สุด

“พลเอก ประยุทธ์จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เสี่ยง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือร่องมรสุมกำลังแรงที่เกิดขึ้นและฝนตกหนัก ทั้งการเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก รวมถึงเตรียมความพร้อมบุคลากร และเครื่องจักรเครื่องมือกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง และบูรณาการความพร้อมในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเฝ้าติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด เพื่อปรับแผนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่เป็นไปได้อย่างทันท่วงที” นางสาวรัชดา กล่าว