วิป 3 ฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ปมโหวตนายกฯ รอบ 2 เสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำได้หรือไม่ รอลุ้นในที่ประชุมพรุ่งนี้เลย ชี้แก้ ม.272 รอได้นายกฯ ก่อน

วันที่ 18 ก.ค. 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นัดหารือวิปวุฒิสภาและพรรคการเมือง 18 พรรคเพื่อวางแนวทางการโหวตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ หลังยังมีข้อถกเถียงว่า สามารถที่จะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อีกหรือไม่ เนื่องจากมีข้อบังคับ ข้อที่ 41 กำหนดว่า ญัตติที่ตกไปแล้วไม่สามารถเสนอซ้ำได้ เว้นแต่ประธานสภาฯอนุญาตหากเห็นว่า เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงวันนี้จะการกำหนดกรอบระยะเวลาการอภิปรายของแต่ละฝ่ายก่อนการลงมติ และหารือถึงข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่เกี่ยวข้อง

หลังใช้เวลาหารือนานกว่า 1 ชั่วโมง นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ จะเริ่มขึ้นในเวลา 09.30 น. เพื่อให้กระบวนการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยเร็ว เพราะประเทศชาติรอนายกฯ คนใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในบ้านเมืองอยู่ แต่ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะเสนอชื่อพิธาซ้ำ รอบ 2 ได้หรือไม่ เพราะต่างฝ่ายต่างแสดงจุดยืนและอ้างข้อบังคับของตัวเอง จึงต้องฟังเสียงสมาชิกรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ก่อน อย่างไรก็ตามผู้ที่เข้าร่วมการประชุมวิปวันนี้ (18 ก.ค.) จะต้องไปทำความเข้าใจกับสมาชิกของตนเอง เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในการประชุม

ส่วนวันพรุ่งนี้จะต้องลงมติเรื่องกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี รอบ 2 จะสามารถเสนอรายชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าเป็นญัตติหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ประธานจะชี้ขาดได้ก็ต่อเมื่อได้ฟังการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะวินิจฉัยหรือจะให้สมาชิกลงมติก็ต้องดูสถานการณ์ในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ว่า จะใช้ข้อบังคับข้อที่ 41 หรือไม่ หรือจะใช้ข้อบังคับหมวด 9 ดังนั้น ก็คงต้องฟังการอธิปรายก่อน และเข้าใจว่าคงไม่ใช้เวลายืดเยื้อในการอภิปราย ซึ่งวางกรอบเวลาเอาไว้คร่าวๆ ไม่เกิน 2 ชั่วโมง

เมื่อถามถึงการงดเว้นข้อบังคับจะเป็นหนึ่งในแนวทางสำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จะงดเว้นข้อบังคับได้ก็ต้องมีการเสนอเข้ามาในที่ประชุมก่อน และที่ประชุมต้องมีมติเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งจึงจะงดเว้นได้ แต่ในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายวันนี้ (18 ก.ค.) ไม่มีใครพูดถึง เรื่องนี้เพราะถ้ามีการยกเว้นข้อบังคับก็ไม่รู้จะไปใช้ข้อบังคับตรงไหน เพราะการเดินหน้าเลือกนายกรัฐมนตรีมีไม่กี่ประเด็นเท่านั้น และประเด็นสำคัญ คือ ต้องมีการเลือกนายกฯ ให้ได้ จึงคิดว่าคงไม่มีใครเสนอให้ยกเว้นข้อบังคับ

เมื่อถามว่า หากสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นญัตติจะสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ คนอื่นต่อได้เลยหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า "ข้อบังคับไม่ได้ห้ามเอาไว้"

ส่วนการบรรจุวาระการแก้ไข รัฐธรรมนูญมาตรา 272 จะดำเนินการหลังเลือกนายกรัฐมนตรีลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเลยหรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องของเจ้าหน้าที่สภา ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในระเบียบวาระ คงต้องรอให้วาระการเลือกนายกฯ เสร็จสิ้นก่อน