"ชลน่าน" สงสาร "ก้าวไกล" โดนหลายเงื่อนไข ไม่ใช่แค่ 112 ยืนยันขณะนี้ยังอยู่ด้วยกัน รอนัดหารือเสนอชื่อนายกฯ ครั้งหน้า - รับ ไม่พอใจ การทำงานของ "วันนอร์" ตีความข้อบังคับที่ 41 ทำ "เพื่อไทย" ลำบากเหมือนกัน แต่ไม่รบบนสมรภูมิที่แพ้แล้ว - ยุ "ก้าวไกล" ยื่นศาล รธน.ตาม" บวรศักดิ์" ชี้ช่องไว้ เล็ง ส.ว.หมดวาระปีหน้า แก้ข้อบังคับสภา โหวตนายกฯอย่างชอบธรรม
วันที่ 20 ก.ค. 2566 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงทิศทาง ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ว่า การเดินหน้าของ 8 พรรค ก็ต้องเป็นไปตาม MOU ที่ทำร่วมกัน โดยให้สิทธิ์แกนนำคือพรรคก้าวไกล เป็นผู้เริ่มในทุกกระบวนการ ดังนั้น การพูดคุยต่อจากนี้ให้เป็นหน้าที่ของพรรคก้าวไกล เป็นผู้นัดหมายมา แต่ยืนยัน ว่าพรรคเพื่อไทยยังไม่ปล่อยมือจากพรรคก้าวไกลขณะนี้ยังอยู่ด้วยกัน
ส่วนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ในการโหวตครั้งที่ 3 จะเป็นแคนดิเดต นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเลยหรือไม่นั้น ให้ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกันที่จะเกิดขึ้นยังไม่สามารถที่จะฟันธงได้ รอเพียงพรรคก้าวไกลนัดหมายมาอาจจะเป็นวันนี้หรือวันพรุ่งนี้
ทั้งนี้ เมื่อรัฐสภามีมติว่าจะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำไม่ได้ หากวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็น ไปตามข้อบังคับที่ 41 ซึ่งก็ยังสามารถใช้ข้อบังคับที่ 41 ในตัวเองได้ เพราะยังมีวรรคท้ายอยู่ ที่ระบุว่า กรณีที่การเปลี่ยนแปลงไปยังสามารถเสนอได้ เช่น การเสนอชื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นมาใหม่ และมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกขึ้นมาด้วย
สำหรับกรณีที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้ โพสต์ Facebook ส่วนตัวแสดงความเห็นไม่พอใจต่อการวินิจฉัยข้อบังคับที่ 41 ที่ทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดูเป็นง่อย นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า ในเรื่องนี้นายบวรศักดิ์ ไม่เห็นชัดเจน เพราะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญและยังให้แนวว่าบุคคลที่เห็นว่าถูกละเมิดสิทธิ์ ก็สามารถใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 243 ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ เป็นสิทธิ์ของบุคคลไม่ใช่สิทธิ์ของ ส.ส. แต่กระบวนการร้อง ต้องร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน หากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่รับ ก็สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
เมื่อถามว่า การวินิจฉัยข้อบังคับที่ 41 มีคน ไม่พอใจในการทำหน้าที่ของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นายแพทย์ชลน่าน ไม่มีใครพอใจ ตนเองก็ไม่พอใจที่มีการวินิจฉัยออกมาแบบนี้ ตนพยายามหาทางออกให้ เมื่อผลออกมาเช่นนี้ก็ต้องยอมรับไม่มีใครพอใจ โดยหลักแล้วเราอยู่ในระบบนี้ ระบบการปกครอง ระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ระบบรัฐสภา ระบบเสียงข้างมากเราต้องยึดถือ แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะคลางแคลงใจไม่พอใจ คือ เสียงข้างมากไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม พร้อมยืนยันว่าหลังจากนี้จะมีปัญหาในการทำหน้าที่ในที่ประชุมรัฐสภาอย่างแน่นอน แค่บทเรียนครั้งนี้สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไขได้ เพราะข้อบังคับเกิด สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้กำหนดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อหมดวาระ ส.ว. วันที่ 11 พ.ค. 2567 ก็มีความชอบที่จะแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยยกเอาเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี นำเรื่องการเห็นชอบนายกรัฐมนตรีมากำหนดไว้ในสภาผู้แทนราษฎร อะไรที่เป็นข้อจำกัดมนข้อบังคับของการประชุมรัฐสภา ก็สามารถนำไปบัญญัติไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ชัด
ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่บอกว่า 8 พรรคร่วมติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรกนั้น คงแล้วแต่มุมมอง จะสรุปว่าผิดหรือไม่จะต้องดูข้อเท็จจริง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้ดูเป็นเรื่องๆ ไป ความเห็นต่างเป็นสีสันของระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้จากเหตุการณ์เมื่อวานเป็นเพราะ8 พรรคร่วมแพ้ จึงถูกมองว่าเราติดกระดุมผิด แต่หากเราชนะก็จะมีการมองอีกแบบ
นายแพทย์ชนน่าน ระบุว่า มีความเป็นห่วงในเรื่องการเสนอชื่อซ้ำ และยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยตกภาระลำบากหากได้รับโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งตามหลักการแกนนำจะต้องไปแสวงหาความมั่นใจว่าก่อนเสนอเสียงจะผ่าน ไม่มีใครที่อยู่ในสมรภูมิที่แพ้แล้วไปรบ เพราะเราจะเสียคนของเราไปด้วย ส่วนกรณีพรรคก้าวไกลจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ตนเห็นสมควรด้วย อะไรที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถ้าเรามีสิทธิก็ควรจะต้องดำเนินการ สำหรับกรณี สว. บางคนระบุว่า ถ้าเพื่อไทยยังจับมือกับพรรคก้าวไกลจะไม่โหวตให้นั้น เราคงไม่รอให้มีมติออกมา กรณีที่เราต้องเสนอถ้ารอมติตรงนั้นก็แพ้อย่างเดียว อย่างไรก็ตามขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่มีแนวทางในการดำเนินการหาเสียงเพิ่ม เพราะถ้าบอกว่ามีจะหาว่าเราคิดไปก่อน
"กำลังเราแค่ 100 ถ้าจะเอาชนะก็ต้องทำให้เต็ม 100 หรืออย่างน้อยต้อง 80-90 ถ้ามีกำลังแค่นี้ไปรบกับเขาก็แพ้ ส่วนสมการชนะนี้มีก้าวไกลอยู่ด้วยหรือไม่นั้น ไม่ได้กำหนดว่ามีหรือไม่มี แต่ขณะนี้เรายังอยู่ใน 8 พรรคร่วม ทั้งนี้ไม่ว่าใครเจอสถานการณ์นี้ต้องคิดหนัก ต้องสร้างความมั่นใจว่าก่อนที่จะไปรบมีโอกาสชนะอย่างไร และยังไม่คิดถึงการข้ามขั้วในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนจะขอให้พรรคก้าวไกลลดเพดาน ม.112 นั้น ตนสงสารพรรคก้าวไกล ในการให้ประเด็นเหล่านี้มาเป็นเงื่อนไข ขณะนี้ไม่ใช่ ม.112 ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยไม่มีความคิดไปก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของพรรคก้าวไกล"
นายแพทย์ชลน่าน ระบุถึง กรณีพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ไม่ร่วมโหวตเมื่อวานนี้ ตนทราบว่ามีการออกไปก่อนเลยไม่ได้โหวต แต่ไม่ได้มีผลอะไร เพราะเป็นคนละประเด็นกับการเห็นชอบนายกรัฐมนตรี รวมถึงประเด็นที่มีการวิจารณ์พรรคก้าวไกลอยากหนักถึงขั้นให้ไปเป็นพรรคฝ่ายค้านนั้น เรื่องดังกล่าวนี้กระบวนการการทำงานร่วมกันความคิดความเห็น เป็นสิทธิเสรีภาพ จะถือเป็นความเห็นรวมไม่ได้ ส่วนที่บอกว่าอยากให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ก็เป็นความเห็นท่าน ต้นไม่สามารถวิเคราะห์แทนท่านได้