เจ้าหน้าที่ รฟท. เร่งกู้หัวรถจักรของบริษัทปูนซีเมนต์ หลังพุ่งออกจากราง ขวางเส้นทางการสัญจร คาดระบบห้ามล้ออาจขัดข้องหรือสับรางผิด
วันที่ 20 ก.ค.66 เวลา 10.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงงานว่า ที่บริเวณจุดตัดทางรถไฟ บนถนน อบจ. สาย ฉช.ถ 1-0002 ที่ได้รับการถ่ายโอนมาจากทางหลวงชนบทที่ ฉช.3014 (สาย รพช.เดิม) หรือถนนสายซันโย ใกล้กับสถานีรถไฟเปรง พื้นที่ ม.7 ต.คลองเปรง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยทีมกู้ภัยม้าเหล็กบางซื่อ ได้เร่งเก็บกู้หัวรถจักรของขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าภาคเอกชนรายหนึ่ง หมายเลขหัวรถ 70106 คันที่ 1
หลังได้เกิดอุบัติเหตุพุ่งเลยออกไปจากรางรถไฟที่มีแนวแผงกั้นด้านปลายทาง (สต็อปเปอร์) ตั้งขวางไว้ โดยเป็นจุดเลยห่างออกมาจากตัวสถานีรถไฟเปรง มุ่งหน้ามายังสถานีหยุดรถคลองอุดมชลจรประมาณ 800 เมตร โดยที่ขบวนรถได้ขับเลยมาไกลจนพุ่งชนเข้ากับป้อมควบคุมอาณัติสัญญาณ ที่ตั้งอยู่อีกด้านของถนนจุดตัดทางข้ามทางรถยนต์จนได้รับความเสียหายทั้งหลัง เมื่อช่วงเวลาประมาณ 03.00 น. ของเมื่อคืนที่ผ่านมา
ทำให้หัวรถจักรมาจอดหยุดนิ่งสนิทติดอยู่กับซากของป้อมสัญญาณไฟ และปิดกั้นขวางเส้นทางการสัญจรบนถนนสาย รพช.เดิมพอดี ทำให้ยานพาหนะทุกชนิดโดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางไปทำงานยามเช้าไม่สามารถเดินทางผ่านได้ ซึ่งหัวรถจักรดังกล่าวมีตราของบริษัทปูนซิเมนชื่อดังติดอยู่ที่ด้านข้าง ในขณะเกิดเหตุได้ลากขบวนรถที่มีถังซีเมนต์พร้อมตู้พักพนักงานมาด้วย รวมความยาวจำนวน 20 โบกี้
โดยที่ในถังซีเมนต์ที่ลากพ่วงมานั้นเป็นถังเปล่า หลังจากที่ได้นำปูนซีเมนต์มาลงไว้ยังศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณสถานีรถไฟเปรงก่อนหน้าแล้ว จึงได้ออกขบวนรถเข้ามายังในรางรถไฟของสถานีเพื่อสับเปลี่ยนทิศทางหัวจักรลากขบวน จนมาประสบอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้น
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้าสอบถามข้อมูลถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ต่อทางเจ้าหน้าที่ภายในสถานีรถไฟเปรง แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยระบุว่าให้ไปสอบถามจากทางสารวัตรเดินรถยังที่หน้างาน ขณะชาวบ้านที่พบเห็นเชื่อว่า สาเหตุของอุบัติเหตุในครั้งนี้น่าจะเกิดจากระบบเบรกห้ามล้อของหัวรถจักรเกิดการขัดข้อง หรืออาจมีการสับรางผิดก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเดินรถสายตะวันออกนั้นยังไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนัก เนื่องจากเส้นทางรถไฟสายนี้ในช่วงตอนกรุงเพทฯ-ฉะเชิงเทรา นั้น มีรางรถไฟแบบรางคู่บวกหนึ่ง หรือมีมากถึง 3 ราง ขณะที่หัวรถจักรที่พุ่งเลยรางออกไปนั้น เป็นเพียงรางที่ 4 ซึ่งเป็นรางสำหรับจอดพักรถหรือสับเปลี่ยนหัวขบวนเท่านั้น จากเดิมที่มีจุดสต๊อปเปอร์ขวางที่ด้านปลายของรางอยู่ที่ริมถนนสาย รพช.เดิมพอดี แต่ได้ถูกหัวขบวนรถจักรดังกล่าวพุ่งชนจนได้รับความเสียหายยับเยิน พร้อมกับรางที่ฉีกแยกออกจากกันเป็นทางยาว