พิธาอัดคลิปยังมีหวัง ถ้า 8 พรรรค จับมือตั้งรัฐบาล
วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงจุดยืนต่อสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ผ่านคลิปสั้นที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กเพจ ‘Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ว่า วันนี้ชัดเจนแล้วว่าองคาพยพฝั่งอนุรักษนิยมทั้งหมดไม่ยอมให้เราเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยเอาเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาเป็นเงื่อนไขข้ออ้าง แต่การที่ผมไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ ไม่ได้หมายความว่าความหวังของพวกเราในการเปลี่ยนแปลงประเทศจะสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้
สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การที่ผมได้เป็นนายกฯ แต่คือการจัดตั้งรัฐบาลตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนขั้วพลิกข้าง หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของขั้วรัฐบาลเดิม พิธาเป็นหรือไม่เป็นนายกฯ ไม่สำคัญ พรรคก้าวไกลเป็นหรือไม่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่สำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเสียงของประชาชน 27 ล้านเสียงที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งต้องมีความหมาย
พรรคก้าวไกลพร้อมสนับสนุนพรรคอันดับสองคือพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนให้ได้ ตราบใดที่เรายังจับมือกันแน่น การสืบทอดอำนาจของกลุ่มขั้วอำนาจเดิมจะไม่มีวันสำเร็จ ขอให้ประชาชนอย่าหมดหวัง ประเทศไทยวันนี้เดินมาไกลและจะไม่มีวันถอยกลับ เราจะไม่ปล่อยให้พวกเขาหมุนเวลาพาประเทศกลับสู่อดีตอีกต่อไป
นายกฯไม่สนแล้วแต่จะแก้ ม.112 หรือไม่ก็ช่าง
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมสภากลาโหมในวันนี้ ว่า เบื้องต้นยังไม่ได้จัดทำโผทหาร เมื่อถามว่าจะส่งเมื่อไหร่ เพราะยังเป็นรัฐบาลรักษาการ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่รู้ ยังต้องดูทิศทางทางการเมืองเขาสิ เขายังตั้งรัฐบาลกันอยู่ไม่ใช่หรือ
เมื่อถามว่าดูเหมือนพรรคขั้วรัฐบาลเดิม จะยื่นมือช่วยพรรคเพื่อไทย เพราะเห็นออกมา พร้อมใจแสดงจุดยืนไม่ร่วมกับพรรค ที่ แก้ ม.112 พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า "ก็แล้วแต่"
อย่างไรตาม จากการสังเกตระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ เข้าไปภายในรถยนต์เพื่อเดินทางกลับออกจากกระทรวงกลาโหม ภายในรถมีการเปิดรายการข่าวช่วงของพรรคเพื่อไทย กำลังแถลงรับไม่ต่อในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย
วันนอร์ เมินทัวร์ลง ยันวินิจฉัยเป็นกลาง
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมรัฐสภา ในวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังมีบางประเด็นที่ไม่เข้าใจถึงการทำหน้าที่ของประธานการประชุม ว่า การประชุมวันนั้น เป็นการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 แต่ก่อนการประชุมมีข้อคิดเห็นที่ยังไม่ตรงกัน คือ มีบางฝ่ายเสนอว่า ไม่ควรเสนอชื่อซ้ำ เพราะจะไปขัดข้อบังคับข้อที่ 41 แต่มีอีกฝ่ายเห็นว่า การเสนอเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติปกติทั่วไป เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม หมวด 9 ที่ได้ออกพิเศษ เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี จึงเกิดการถกเถียงว่าไม่ควรใช้ข้อบังคับข้อที่ 41 และในการประชุมวิป 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงต้องไปขอความคิดเห็นต่อที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 19 กรกฎาคม แต่การถกเถียงก็ยังไม่ได้ข้อสรุป และจากการที่ได้ฟังการอภิปราย ตลอด 6 ชั่วโมง ไม่มีใครอภิปราย ว่า มีเหตุการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงตัดสินใจวินิจฉัยให้ลงมติ จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองเกิดขึ้น
นายวันมูหะมัดนอร์ ยังกล่าวชี้แจงถึงข้อวิจารณ์ที่ว่า เป็นประธานรัฐสภาสามารถชี้ขาดได้ โดยไม่ต้องรอมติที่ประชุม ว่า ชี้ขาดได้ แต่ก็มีคนฟ้องได้ ไม่ใช่ไม่กล้าที่จะชี้ขาด แต่วินิจฉัยแล้วว่า ไม่มีข้อมูลที่จะชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ก็เป็นเรื่องของข้อขัดแย้ง จึงใช้ข้อบังคับ ข้อที่ 151 การให้สภาตีความนั้นดีกว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจ พร้อมย้ำว่า ไม่ว่ายกไหนก็จะไม่มีวันที่จะท้อใจ เมื่อรับหน้าที่แล้ว ก็จะปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด
นายวันมูหะมัดนอร์ ยืนยันว่า ตนเองยึดหลักที่เคยพูดไปแล้ว คือ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ส่วนในการโหวตครั้งที่ 3 จะเสนอชื่อเดิมได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ตอบไม่ถูก ต้องแล้วแต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีที่หากพรรคก้าวไกลไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ นายวันมูหะมัดนอร์ ย้ำหลายครั้งว่า เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ และหากศาลวินิจฉัยออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องดำเนินไปตามนั้น เพราะมีผลผูกพันไปทุกองค์กร
ส่วนเรื่องของทัวร์จะลง ทั้งในโซเชียล และสมาชิกรัฐสภานั้น มองว่า ใครจะทัวร์ลง ใครจะคิดเห็นอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ ที่สามารถคิดแตกต่างได้ ส่วนตัวไม่มีปัญหา และยอมรับได้ พร้อมย้ำว่า ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ทำด้วยความเป็นกลางแล้ว เป็นเรื่องธรรมดา หากต้องตัดสินอะไร ย่อมมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย