วันนี้ (25ก.ค.66) นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณี ที่มีการดำเนินคดีกับพรรคก้าวไกล ในเรื่องการล้มล้างการปกครอง คดีการครอบครองหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล รวมถึงคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า มติ ของที่ประชุมรัฐสภาในการเสนอชื่อบทนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติขัดรัฐธรรมนูญ นั้นคดีไหนจะนำมาพิจารณาก่อน ว่า ในเรื่องกระบวนการผู้ตรวจการแผ่นดินพึ่งส่งเอกสารทาง อิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาเจ้าหน้าที่รับแล้วก็อยู่ในกระบวนการ เจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาภายใน 2 วัน และเสนอตุลาการคณะเล็กพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับ ซึ่งคณะตุลาการคณะเล็กพิจารณาไปเลยก็ได้ หรือจะเสนอเข้าสู่คณะใหญ่ก็ได้ภายใน 7 วัน ซึ่งเราต้องทำตามขั้นตอน
"ศาลรัฐธรรมนูญ จะพูดอะไรกลัวกระสุนตก จะพิจารณาเดี่ยวก็หาว่าจะช่วยใครหรือไม่พิจารณาช้าก็หาว่าถือเรื่อง เพราะฉะนั้นก็เดินตามกติกาของกฎหมายที่เขียนไว้ คงไม่เร็วกว่านี้และไม่ช้ากว่านี้"
ด้านนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละคดี ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้ ขึ้นอยู่กับประเด็นและขอเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องแต่ละประเด็นไม่เหมือนกัน ถ้าคดีที่ตกจะจบเร็วแต่ถ้าเป็นเรื่องข้อเท็จจริงจะต้องมีการนำใต่สวนและมีรายละเอียดมาก ก็เลยไม่สามารถรับรู้ได้ว่าจะหยิบเรื่องไหนขึ้นมาทำก่อน ต้องขึ้นอยู่กับสำนักงานว่าเรื่องไหนพร้อมก่อนก็นำหยิบขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ แต่กระบวนการตรงจสอบก็ดำเนินการต่อเนื่องทุกกรณี
ขณะที่นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่งในการสัมมนาโครงการศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชน ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ และทุกศาล ไม่มีโอกาสพูดแก้ตัวต่อสังคมผ่านช่องทางสื่อของศาล ศาลไม่มีไอโอ ตุลาการได้สร้างประเพณีไว้ว่าอยากจะพูดอะไรต่อประชาชนก็เขียนลงในคำวินิจฉัยให้กระจ่างให้หมด แล้วไม่ต้องไปแก้ตัวใดๆกับประชาชน โดยขอให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องหรือสนใจรับเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปวิเคราะห์ และจะวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอแนะโดยถูกต้องสุจริตเป็นธรรมก็จะเป็นประโยชน์ต่อศาล
"ขอเสียงติติงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ที่มีใจเป็นธรรมในสังคมเหมือนผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้กับศาลเพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงเพราะไม่มีใครในโลกจะสมบูรณ์ หรือทำอะไรถูกหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ขอให้ทำโดยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ตรงไปตรงมาไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงไม่หลงเชื่อไปตามพยานหลักฐานเท็จ และใช้กฎหมายให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม" นายจรัญ กล่าว
นายจรัญ ระบุว่า ถ้าเราสามารถพัฒนาระบบกฎหมายงานยุติธรรมของประเทศให้มั่นคงได้ก็จะมีส่วนช่วยให้ระบบการปกครอง การเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของประชาชนมีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นสื่อจึงเป็นตัวกลางให้แก่ผู้ที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะสื่อสารอธิบายชี้แจงให้กับคนจำนวนมากได้รับรู้ได้เข้าใจ นั่นจะทำให้ความเกลียดชัง ความโกรธแค้นได้เบาบางลง สังคมก็จะพออยู่ร่วมกันได้ ถ้าประเทศใดระบบศาลไม่เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนแล้วใครเดือดร้อน คนอยากจน ต่ำต้อย และอ่อนแอ จะเดือดร้อน
นายจรัญ กล่าวว่า สิ่งที่เรามองข้ามไปคือมหาอำนาจจากโลกเสรีประชาธิปไตย ทุนนิยมสุดโต่ง กำลังครอบงำการปกครองในระบอบประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการเมือง กฎหมาย หรืองานยุติธรรม มีที่ไหนศาลกำลังพิจารณาพิพากษาคดีสำคัญอยู่ส่งตัวแทนจากต่างชาติเข้ามาโดยบอกว่าเข้ามาเพื่อรับรู้ แต่ผลกระทบมันคือการกดดันผู้พิพากษาที่ทำภารกิจนั้นอยู่ เว้นแต่ท่านจะมั่นคงตรงไปตรงมาจริงๆไม่หวั่นไหว แต่แรงกดดันเหล่านี้เป็นไปได้ และเคยเป็นมาแล้ว
อย่างไรก็ตามเมื่อคดีเข้าสู่ศาลแล้วต้องหยุดกดดัน จะต้องสกัดการกดดันศาลทุกรูปแบบ เพื่อหวังว่าเราจะได้คุณภาพของคำวินิจฉัยชี้ขาด เพราะเราก็ไม่มั่นใจว่าตุลาการศาลจะหวั่นไหวหรือไม่ ถ้าท่านหวั่นไหวก็จะทำงานง่ายตัดสินตามกระแสกดดัน แต่ฝั่งตรงข้ามที่ไม่มีกระแสหนุนหลังเขาจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ หากไม่ตรงไปตรงมาคนในแวดวงตุลาการที่ดูแลองค์กรนี้อยู่ท่านไม่ปล่อยให้เนื้อแรงเจริญงอกงามในองค์กรของท่าน มะเร็งร้ายจะต้องถูกกำจัดไป
"กระแสกดดันในสังคมคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง ไม่รุนแรงเท่าคดีที่เข้ามาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเดิมพันหรือผลของการแพ้ชนะที่ศาลรัฐธรรมนูญมหาศาล กระทบคนเป็นล้าน หลาย10 ล้าน กระทบสถาบันหลักของชาติ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ปกติและธรรมดาที่แรงกดดันของฝากฝ่ายต่างๆในสังคม จึงอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตน เพราะแพ้ไม่ได้ นี่แหละครับจึงเป็นสถานะที่ยากลำบากของศาล" นายจรัญ ระบุ
ส่วน อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ วิเคราะห์ถึงประเด็นการยุบสภา ตามที่มีหลายฝ่ายเสนอ อ.ศิโรตม์ มองว่า คงจะไม่มีการยุบสภา นอกจากว่าสถานการณ์จะลากไปในจุดที่ไม่มีทางออกจริงๆ แล้วมีกระแสเรียกร้องจากประชาชน แต่สำหรับตอนนี้คนที่จะยุบสภา คือรัฐบาลรักษาการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมองภาพไม่ออกว่า พลเอกประยุทธ์ จะยุบสภา เนื่องจากจะทำให้เสียเปรียบทางการเมือง จึงมองว่า เรื่องการยุบสภาไม่ใช่ทางเลือกหลักในตอนนี้
ส่วนกลุ่ม8พรรคร่วมรัฐบาล มีการส่งสัญญาณแพแตก เพราะวันนี้พรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำนัดประชุมเพื่อหารือแนวทางจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรี ยกเลิกการประชุมนัดสำคัญ เพราะจะเป็นการหารือ ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภา หากไม่ได้มีการประชุม ในวันที่มีการเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้ง8พรรคร่วม อาจจะมีทิศทางที่ไม่สอดคล้องกัน
การยกเลิกการประชุมของ8พรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำนั้น อาจจะเป็นเพราะว่า การหาแนวทางจัดตั้งรัฐบาล ด้วยการร้องขอกับ สว. ให้โหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถทำได้ หรือ ทางพรรคเพื่อไทย อาจจะยังไม่ได้ไปคุยกับกลุ่ม สว. จึงยกเลิกการหารือไปก่อน
ส่วนแนวทางที่มีโอกาสเป็นไปได้ตอนนี้ แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ถ้าเป็นมุมมองฝ่ายการเมือง คงเลือกให้ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน แล้วเพื่อไทยจับมือกับพรรคอื่นจัดตั้งรัฐบาล ส่วนอีกฝ่ายซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มมวลชน เชื่อว่า ให้รอเวลา 10 เดือน เพื่อให้ สว. หมดวาระไป ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า รอได้ และเป็นแนวทางที่จะไม่เกิดการสลับขั้ว จนเกิดเป็นวิกฤตทางการเมือง
แต่หากวิเคราะห์ขณะนี้มองว่า นักการเมืองหลายคนอยากที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลไปก่อนไม่รอถึง 10 เดือน เพราะมีกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทยได้ออกมาให้ความชัดเจนบอกว่ารอไม่ได้ถึง 10 เดือน เช่น พลตำรวจเอก เสรีพิสุทธิ์ พรรคพลังสังคมใหม่ ทำให้เห็นโอกาสที่พรรคเพื่อไทยอาจจะหักหลังประชาชนไปจัดตั้งรัฐบาลสลับขั้ว
ขณะที่ อ.วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ บอกว่าในตัวบทรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีข้อห้ามว่ารัฐบาลรักษาการจะยุบสภาได้หรือไม่ ถ้าไปดูที่ตัวบทฐานอำนาจบอกว่า การยุบสภาเป็นพระราชอำนาจที่พระมหากษัตริย์อาจมีดุลพินิจบ้าง แต่ในปัจจุบันหมายความว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ท่านดำเนินการตามวิถีประชาธิปไตย ถ้านายกทูลเกล้าเสนอว่าจะให้ยุบสภา ก็เป็นอำนาจของนายกฯ ในทางกฎหมายไม่ได้ห้าม แต่ต้องไปตีความต่อว่ารัฐบาลรักษาการมีขอบเขตหรือไม่
ทีมข่าวช่อง 8 ได้เดินทางไปพบ รศ. ดร.เจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย เพื่อพูดคุยถึงกรณีเลื่อนโหวตนายกฯ โดย อ.เจษฎ์ เล่าว่า เคยได้ยินเรื่องทำนองนี้มาหลายครั้ง ที่มีการขอให้เลื่อนโหวตนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากคุณจตุพรหรือพรรคก้าวไกลเองก็เคยออกมาเรียกร้องให้มีการเลื่อนโหวตนายกฯ แต่ทุกครั้งที่เสนอขอให้มีการเลื่อน จำเป็นต้องมีกลไกในการเลื่อน ซึ่งในทั่วไปก็จะเป็นกลไกกฎหมายซึ่งต้องเริ่มมาตั้งแต่ตัวใหญ่สุด คือ รัฐธรรมนูญ ต้องไปศึกษาว่ามีการกำหนดไว้อย่างไรบ้าง ไม่ใช่ว่าคิดจะเลื่อนก็เลื่อนได้เลย อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา ถ้ามีเหตุจำเป็น กรรมการการเลือกตั้ง อาจมีการพิจารณาให้เลื่อนได้ แต่ตอนนี้เป็นช่วงเวลาของการเลือกนายกรัฐมนตรี จะเลื่อนครั้งนึงก็ต้องมีเหตุจำเป็น และผ่านกระบวนการหลายอย่าง หากสมมติว่ามีการกำหนดว่าสามารถเลื่อนได้จริง ก็ต้องเลื่อนโดยผ่านเสียงข้างมากของทั้ง 2 สภา ซึ่งอาจรวมไปถึง สว.ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะเอาด้วย บรรดาพรรคอื่นที่ไม่ใช่เพื่อไทยและก้าวไกล เขาเห็นด้วยไหม ประชาชนอีกหลายล้านคนที่เลือกพรรคอื่นหรือไม่ได้ลงคะแนนเสียง เขาเอาด้วยไหม ถ้ามีวิกฤติทางการเมืองยืดเยื้อไปเรื่อยๆ หรือจะอยู่แบบ "ช้าเร็วไม่เป็นไร กินได้ก็กิน กินไม่ได้ก็ไม่เป็นไร"
ซึ่งตอนนี้เรามีรัฐบาลรักษาการ ถ้าหากว่าคุณอยากเลื่อน รัฐบาลรักษาการชุดเดิมก็ต้องทำหน้าที่ ถ้ามีอะไรที่เขาต้องใช้งบประมาณหรือกิจการระหว่างประเทศ คุณจะไปว่าเขาไม่ได้นะ เพราะคุณอยากเลื่อนเอง ส่วนเรื่องที่จะให้รัฐมนตรีรักษาการมายุบสภา ขอยืนยันว่าทำไม่ได้ เพราะหากจะยุบสภา ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงเท่านั้นที่จะสามารถทำได้ เพราะรักษาการนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีอำนาจมากพอที่จะทำได้ทั้งหมดทั้งปวง ถ้าคุณอยากเลื่อน คุณต้องปลดล็อกทุกอย่างเป็นอิสระต่อกัน หมายถึงทุกพรรคจะต้องเป็นอิสระ เพราะภาวะปกติคือทุกพรรคต้องเป็นอิสระต่อกัน จะต้องไม่มีการจับมือกันทำ MOU เพราะคนที่เลือกเพื่อไทย เขาอยากให้เพื่อไทยเป็นรัฐบาล คนที่เขาเลือกก้าวไกล เขาก็อยากให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาล ไม่ใช่เลือกเพราะอยากให้ไปจับมือกับใคร เพราะฉะนั้นควรปลดล็อกความผิดปกติตรงนี้ก่อน หลังจากนั้นก็ให้แต่ละพรรคจัดตั้งรัฐบาล ถ้าพรรคอันดับ 1 จัดไม่ได้ก็ต้องให้พรรคอันดับ 2 อันดับ 3 จัดตั้งรัฐบาลตามลำดับ
ในมุมมองส่วนตัวของ อ.เจษฎ์ มองว่าแนวทางการแก้วิกฤตทางการเมืองในครั้งนี้ คือ ต้องผลักความผิดปกติออกไปก่อน สิ่งที่ไม่ปกติก็คือการเอา สว. มาลงมติ แล้วเอาความปกติมาใช้ คือ ในระบบรัฐสภา จะให้พรรคอันดับ 1 2 3 จัดตั้งรัฐบาลตามลำดับ ทุกพรรคต้องเป็นอิสระต่อกัน อย่ามาผูกติดกันด้วยคำว่า "หักหลัง" แล้วสุดท้ายค่อยกลับมายังความผิดปกติ คือให้ สว.ลงมติรับรองการเป็นนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ อ.เจษฎ์ ขอฝากอีกว่า ไม่ว่าคุณจะรักใคร ชังใคร ชอบใคร ไม่ชอบใคร "ประเทศชาติต้องเดินหน้า" เพราะระบบรัฐสภาคือระบบรัฐสภา เพราะทุกอย่างที่คุณคิดคุณเสนอ ท้ายที่สุดทุกอย่างมีผลลัพธ์ทั้งสิ้น จะคิดอะไรต้องรอบคอบ ต้องเดินไปข้างหน้าให้ประเทศชาติโดยรวมไปด้วยกันได้ และสถาบันหลักของชาติที่ดำรงรักษาร่วมกันมา ต้องได้รับการรักษาไว้สืบต่อไป