การท่าอากาศยานไทย สรุปสาเหตุทางเลื่อนดูดขาผู้โดยสาร เกิดจากแผ่นพื้นหลุดออกจากโครงยึด ทำให้เกิดช่องว่างส่งผลให้ผู้โดยสารบาดเจ็บสาหัส
26 ก.ค. 66 เมื่อเวลา 15.00 น. ท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน หรือ AOT ได้มีการแถลงข่าวสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอุบัติเหตุบริเวณทางเลื่อนของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศอาคาร 2 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา
โดย เรืออากาศเอก ธรรมาวุธ นนทรีย์ รองผู้อำนวยการใหญ่สายงานมาตรฐานท่าอากาศยานและการบิน เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่ผู้โดยสารประสบอุบัติเหตุเท้าติดทางเลื่อนบริเวณทางเดินของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางท่าอากาศยานดอนเมืองได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยการตรวจสอบประวัติทางเลื่อนที่เกิดเหตุและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องรวมถึง เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่เห็นเหตุการณ์มาสอบปากคำ
ซึ่งในระยะเวลารวมนับตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน 22 วัน คณะกรรมการ ได้รับพยานวัตถุ 10 รายการพยานเอกสาร 23 รายการพยานบุคคล 34 ราย ซึ่งทั้ง 34 รายทั้งเชิญมาให้ถ้อยคำ 39 ครั้ง พยานผู้เห็นเหตุการณ์ที่ปรากฏใน CCTV หรือผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ถูกเชิญมาให้ถ้อยคำ
ซึ่งพยานหลักฐานที่มีนัยยะสำคัญนำไปสู่การไขข้อสงสัยและสามารถสรุปสาเหตุที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงโดยพิจารณาจากภาพเคลื่อนไหวกล้องCCTV จำนวน4 กล้อง
คณะกรรมการพิจารณาหลักฐานทั้งหมด และ สมมุติฐานการเกิดเหตุเป็น2 แนวทาง แนวทางแรก ทางเลื่อนได้ดูดขาติดลงไป สมมุติฐานนี้ได้ตรวจสอบจากซี่หวีพบว่า เกิด เป็นช่องว่าง ขนาด 4 เซนติเมตร จึงทำให้เกิดการเข้าใจว่าจะทำให้เกิดแรงดูดเกิดขึ้น ซึ่งหากมีแรงดูดเกิดขึ้นจริง ต้องเป็นทางดูดขนาดใหญ่จนสามารถดูดวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่าลงไปได้ แต่อุปกรณ์ดังกล่าวยังอยู่ในสภาพปกติ ชานพักทุกตัว ยังแข็งแรง และอวัยวะเท้าผู้โดยสารอยู่ในสภาพไม่บุบสลาย ซึ่งหากมีแรงดูดจริงต้องมีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรองเท้า และเท้าของผู้บาดเจ็บทางคณะกรรมการจะพิจารณาแล้วเห็นว่าแนวทางที่หนึ่งเป็นไปไม่ได้
ส่วนสมมุติฐานที่2 คือแผ่นทางเลื่อนมีช่องเปิด ทำให้ขาผู้โดยสารตกลงไปจากการตรวจสอบพบว่า หลังเกิดเหตุได้มีการขยับทั้งเลื่อนเพื่อตรวจสอบ ทำให้ทราบว่ามีการหลุดของแผ่นพื้นทางเลื่อน ชิ้นที่เกิดเหตุออกจากเฟรมเลื่อน และยังพบว่า น็อต ยึดทางเลื่อน หลุดออกจากแผ่นพื้น ทำให้เชื่อได้ว่าจะเป็นแผ่นทางเลื่อน ที่เกิดเหตุหลุด ก่อนที่ผู้โดยสารจะเดินเข้าทางเลื่อน
จากการคำนวณของคณะกรรมการที่ตรวจสอบ ยังพบว่า แผ่นทางเลื่อนหลุดออกก่อนที่ผู้โดยสารรายนี้จะเดินไปถึง ซึ่งระยะห่างอยู่ประมาณ 10 แผ่น หากคำนวนตามเวลาของวงจรปิด ได้ประมาณ 24 วินาที ก่อนที่ผู้โดยสารจะเดินไปทันดังนั้นจึงมีความเห็นว่ามีช่องเปิดเกิดขึ้นจริงจะมีความเป็นไปได้ตามสมมุติฐาน
สำหรับ ข้อกำหนดเรื่องการตรวจสอบทางเลื่อนภายในท่าอากาศยาน คณะตรวจสอบข้อเท็จจริงไปตรวจสอบพบว่า มีข้อบกพร่องในการตรวจสอบ เนื่องจาก ไม่ได้มีการดำเนินการตามข้อกำหนด โดยไม่ได้มีการตรวจสอบเป็นรายวันอย่างที่เคยแถลงข่าวไปก่อนหน้านี้ และผู้ที่เซ็นรับรองในการตรวจสอบก็ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการรับรองจริง
ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้น ท่าอากาศยานดอนเมือง หาข้อตกลงในการฟื้นฟูความมั่นใจในการใช้อุปกรณ์แก่ผู้โดยสาร โดยจ้างหน่วยงานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านลิฟท์และบันไดเลื่อนมาดำเนินการตรวจสอบปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยตามมาตรฐาน เช่นการติดตั้งตัวตรวจจับกรณีแผ่นทางเลื่อนชำรุด และการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจจับในกรณีที่ทางเลื่อนมีปัญหา
สำหรับการเยียวยา คณะผู้บริหารท่าอากาศยานดอนเมืองได้มีการเข้าเยี่ยมและติดตามกระบวนการรักษาของผู้บัตรเจ็บอย่างใกล้ชิด พบว่าปัจจุบันทางผู้บาดเจ็บมีภาวะทางร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้นพ้นขีดอันตรายแล้ว อยู่ในกระบวนการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติที่สุด ทางท่าอากาศยานดอนเมือง พร้อมที่จะรับผิดชอบดูแลค่ารักษาพยาบาลตลอดจนเรื่องของค่าชดเชยเยียวยาอย่างถึงที่สุด