จากกรณี 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ภายหลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษา สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง โครงการคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก เนื่องจากโครงการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผิดข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ทำให้ผู้ซื้อคอนโดฯ แอชตัน อโศก กว่า 700 ราย ได้รับผลกระทบ
ด้านผู้ดำเนินโครงการ บริษัทอนันดา เอ็ม เอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ได้โพสต์เอกสารชี้แจง ผ่านทางเพจของบริษัท โดยระบุว่า ผลของคำพิพากษาที่เกิดขึ้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายอย่างไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ต่อเจ้าของร่วมอาคารชุดและบริษัท เพราะหากหน่วยงานราชการซึ่งมีอำนาจหน้าที่ไม่เห็นชอบและอนุมัติโครงการแล้ว โครงการนี้จะไม่สามารถก่อสร้างได้ตั้งแต่แรกซึ่งก็จะไม่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
โดยบริษัทฯ จะเร่งรีบดำเนินการในการเรียกร้องค่าเสียหายกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของอาคารชุดและบริษัทฯ โดยเร็ว รวมทั้งจะดำเนินการประสานงานกับคณะกรรมการนิติบุคคลแอชตัน อโศก และเจ้าของร่วม เพื่อขอเข้าพบว่าผู้ว่าฯ กทม.และผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อทวงถามความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นภายใน 14 วันนับจากวันนี้
บริษัทฯ ใคร่ขอยืนยันว่าการทำโครงการ แอชตัน อโศก ได้มีการตรวจสอบประเด็นทางกฎหมาย รวมทั้งข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตต่างๆ รวมถึงสภาพที่ดินของโครงการอย่างรอบคอบรัดกุม ผ่านการพิจารณาอนุมัติภายใต้การควบคุมจากหน่วยงานของรัฐไม่ต่ำกว่า 8 หน่วยงาน จึงเป็นที่ประจักษ์และยืนยันได้ว่าบริษัทได้ดำเนินการไปด้วยความสุจริตและชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้งแล้ว จึงขอเรียกร้องความเป็นธรรมจากภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ไขป้องกันมิให้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังเช่นคดีนี้ได้เกิดขึ้นอีก และเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็ว
ผู้ที่ได้รับผลกระทบ คอนโดแอชตันถูกเพิกถอนใบอนุญาต
- ครอบครัวกว่า 580 ครอบครัว
- เจ้าของร่วมที่ถือหนังสือ อช.2
- เจ้าของร่วมคือคนไทย 438 ราย ต่างชาติ 142 ราย
- มูลค่าของโครงการที่โอนไปเล้ว 5,653 ล้านบาท
- มีคนอาศัยอยู่ในตึกนี้กว่า 488 ครอบครัว มานานกว่า 4 ปี
- ตึกอีก 13 โครงการมีลักษณะคล้ายกัน
ปัญหาคอนโดแอชตัน อโศก โครงการหมื่นล้านในที่ดินตาบอด
ทางเข้า-ออกคอนโดมี 2 ทาง
- ซอยเล็กๆ ที่ทะลุด้านหลังไป ซอยสุขุมวิท 19 มีความกว้างแค่ 2-3 เมตร ถ้าจะสร้างตึกยริเวณนี้ ตามกฎหมายทำได้เพียง 2-3 ชั้น
- ทางเข้า-ออกด้านหน้าที่มุ่งสู่ถนนอโศกมนตรี เกี่ยวพันกับทางเข้า-ออกรถไฟฟ้า MRT สุขุมวิท ไม่นับว่าเป็นทางออกของตัวเอง
ต่อมาทีมข่าวได้เดินทางไปบริเวณซอยสุขุมวิท 19 แยก 3 ซึ่งก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้แนะทางรอดเดียวของตึกนี้ คือการที่ทางอนันดสอาจจะยอมเข้าไปซื้อตึกแถวด้านซอย 19 ซึ่งไม่ติดรถไฟใต้ดิน เป็นทางเข้าออกใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีถนนซอยเล็ก ๆ กว้างประมาณ 4 เมตร อยู่แล้ว 2 ซอย ก็จะต้องกว้านซึ้อตึกแถวที่ติดกับถนนซอยนี้ลึกไปจนถึงโครงการ เพื่อเอามาทุบทำเป็นทางเข้าออกให้ได้กว้าง 12 เมตร ตามกฏหมาย แต่ข้อเสียคือเจ้าของตึกทุกหลังจะต้องขายตึกให้อนันดา และจะเป็นฟันหลอไม่ได้
โดยเราไปพบกับคุณเอ ซึ่งเป็นชาวอินเดีย ที่มาซื้อตึกแถว 2 คูหา ในซอยสุขุมวิท 19 คุณเอพาทีมข่าว ไปดูจุดบริเวณตึกแถวที่ทางเจ้าของโครงการต้องกว้านซื้อ เพื่อไปทำทางเข้าออกของคอนโดมิเนียม ยืนยันว่าซื้อตึกแถวเพียงแค่สองคูหาแล้วมาทำเป็นทางเข้าออกกว้าง 12 เมตรไม่ได้
ต้องซื้อตึกแถวที่ติดถนนสุขุมวิท 19 ซึ่งเป็นทางเข้าออกของคอนโดมิเนียมทั้งหมด 6 คูหา และต้องซื้อบ้านพักตึกแถวส่วนตัว ที่อยู่ในซอยสุขุมวิท 19 แยก 3 อีกทั้งหมด 11 คูหา เพื่อเอามาทุบทำเป็นทางเข้าออกให้ได้กว้าง 18 เมตร รวมพื้นที่ทั้งหมด 1 ไร่
เพราะตึกแถวที่ติดถนนสุขุมวิท 19 แบ่งเป็นคุณอ้วน คนไทยเป็นเจ้าของ 2 คูหา และคุณแซม ลูกครึ่งไทย-อินเดีย เป็นเจ้าของ 4 คูหา ซึ่งทั้งสองไม่ขายคูหาเดียว ถ้าจะซื้อต้องเหมาหมด หากรวมมูลค่าพื้นที่ ที่ทางคอนโดมิเนียมจะต้องซื้อทั้งหมด 1 ไร่ รวมมูลละค่าประมาณ 800 -1500 ล้านบาท เพราะที่ดินสุขุมวิทมีราคาสูงมาก และในช่วงนี้ที่เป็นข่าวอาจมีเจ้าของบางคูหาที่ขึ้นราคา
วันนี้ทีมข่าวช่อง 8 ได้พูดคุยกับนายไวท์ อายุ 35 ปี ลูกบ้านคอนโดมิเนียม เปิดใจกับช่อง 8 ว่า ลูกบ้านในคอนโดมิเนียมตอนนี้ต่างเดือดในกลุ่มไลน์ของคอนโดมิเนียม เพราะส่วนใหญ่ต่างรู้สึกช็อกที่เกิดเหตุการณ์นี้ โดยขอร้องให้เจ้าของโครงการออกมารับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เจ้าของโครงการยังนิ่งเฉยและไม่ตอบอะไรเลยกับลูกบ้าน ส่งผลให้ทั้งตนและลูกบ้านส่วนใหญ่ก็ต่างนอนไม่หลับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นี้
ส่วนตัวเพิ่งซื้อโครงการนี้ในปี 2566 ตอนที่ซื้อทราบว่าทางเจ้าของโครงการใช้ทางผ่านเข้า-ออก คอนโดมิเนียม เป็นพื้นที่ของ รฟม. แต่ได้รับใบอนุญาตแล้ว ตนซื้อห้องพื้นที่ 35 ตารางเมตร ในราคา 7 ล้านบาท โดยดาวน์ 3.5 ล้านบาท และผ่อนกับธนาคารอีก 3.5 ล้านบาท ในเดือนหนึ่งผ่อนเดือนละ 20,000 บาท ประมาณ 10 กว่าปี
ส่วนเหตุผลที่เลือกซื้อคอนโดมิเนียมแห่งนี้เพราะอยู่ในย่านใจกลางเมืองกรุงเทพรวมทั้งมีรถไฟฟ้า bts และ mrt อยู่ใกล้สะดวกเดินทางมาก เพราะส่วนตัวไม่มีรถยนต์ และไม่อยากซื้อรถอยากเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสาธารณะ จึงใช้เงินเก็บส่วนตัวทั้งหมดซื้อห้องในคอนโดเพื่อเป็นบ้านของตน
ตนก็เพิ่งทราบพร้อมกับทีมข่าวช่อง 8 ว่าศาลปกครอง สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง โครงการคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก แล้วสั่งให้ทุบตึก ตนมองว่าคำสั่งศาลที่สั่งเพราะทางเจ้าของโครงการซื้อที่ดินของ รฟม.ที่มาจากการเวนคืนมิได้ แต่ตนก็อยากจะบอกว่าศาลมีคำสั่งแต่ไม่เห็นใจลูกบ้านที่ซื้อห้องในคอนโดกว่า 700 ห้อง ก็เท่ากับคำสั่งนี้ศาลสั่งให้ทุกห้องพักที่เป็นบ้านของลูกบ้านทั้งหมด 700 หลังคาเรือน ตนและลูกบ้านคอนโดถึงกับทรุดหลังทราบเรื่อง
และต้องช็อคมากเพราะศาลสั่งทุบบ้านของตนเองและเจ้าของโครงการตอนนี้ก็ยังไม่รับผิดชอบหรือให้คำตอบอะไรเลยกับลูกบ้านว่าควรทำอย่างไรต่อ ยืนยันห้องที่ตนซื้อมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนซึ่งเป็นเงินสุจริตเป็นบ้านของตน และตนไม่ได้มีบ้านหลังอื่นแล้ว ก็คงยังไม่ย้ายออก ทั้งหน่วยงานรัฐและเจ้าของโครงการหาทางออกที่ดีที่สุดให้แก่ลูกบ้านทั้ง 700 ห้อง แต่ถ้าหากต้องยุบคอนโดจริง แล้วทางภาครัฐไปเคลียร์กับทางธนาคารของลูกบ้านให้หรือไม่ว่าไม่ต้องจ่ายหนี้ส่วนที่เหลือจากการผ่อน และเจ้าของโครงการจะคืนเงินให้ในส่วนที่ดาวน์หรือไม่ อยากให้ความเป็นธรรมกับลูกบ้านทั้ง 700 ห้อง