"กรมอุตุนิยมวิทยา" เผยเส้นทางของพายุโซนร้อน "ขนุน" หลังทวีกำลังเพิ่มมากขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก (ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์) คาดว่าจะแรงขึ้นได้อีก
วันที่ 30 ก.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก "กรมอุตุนิยมวิทยา" โพสต์ข้อความระบุว่า อัปเดตเส้นทางพายุโซนร้อนกำลังแรง "ขนุน (KHANUN) " เวลา 04.00น. (30/7/66) : พายุนี้ยังมีศูนย์กลางอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก (ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์) คาดว่าจะแรงขึ้นได้อีก กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ ไม่ได้มีทิศทางเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จึงไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยแต่ประการใด
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง “ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ฉบับที่ 2 มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2566”
โดยระบุว่า ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย