หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ในการสั่งเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างคอนโดมิเนียมแบรนด์ “แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21” มูลค่ากว่า 6พันกว่าล้านบาท เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา สร้างความปั่นป่วนให้กับเจ้าของห้องชุด 668 ห้องที่โอนกรรมสิทธิ์และเข้าอยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 4 ปีมาแล้ว
ล่าสุด ทาง กทม.เผย น้อมรับคำสั่งศาลปกครอง เตรียมสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคาร โดยทำทางผ่านเข้า-ออกให้ถูกต้องต่อไป
โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เป็นผู้ไปยื่นคำร้องให้ศาลปกครองตรวจสอบ
จากการวิเคราะห์ พบว่าแอชตันอโศก ตั้งอยู่ใกล้ๆกับห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล21 ซึ่งมีมุมซึ่งนักวิชาการ เคยบอกกับเราอย่างที่ 1 ที่ดินตรงนี้คือมูลนิธิสยามสมาคม ไม่รู้จะขายหรือไม่
จากการตรวจสอบพบว่า ที่อีกจุดเป็นของสมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย ถ้าแอชตันอโศกจะทำถนน สมาคมนามธารีฯเป็นอีก 1 ช่องทาง
ทีมข่าวช่อง8 ลงพื้นที่ไปยังบริเวณด้านหน้าของสมาคม มีป้ายเขียนเลยว่าห้ามจอดรถขวางทางเข้าออกของสมาคมฯโดยเด็ดขาด
สอบถามผู้รู้ บอกว่า โดย 2 จุด พบว่าเป็นสมาคม แล้วสมาคมอาจจะไม่สามารถที่จะขายที่ให้ได้
ขณะที่ ทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ ให้ความเห็นทางกฎหมาย เกี่ยวกับกรณีคอนโดแอชตั้น ว่า กรณีความกังวลใจของผู้ที่มีการซื้อหรือมีการโอนกรรมสิทธิ์จากคอนโดแล้ว บางคนได้หนังสือ อช2 เพราะเนื่องจากมีการซื้อเงิน แต่บางคนที่ยังไม่ได้เพราะมีการผ่อนจ่ายกับแบงค์อยู่นั้น กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ทำให้บริษัทอนันดาหรือแอชตันอโศก ต้องมีการประสานกับ รฟม. นำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ หรือกรณีที่2 แอชตั้นอโศก จะต้องมีการซื้อที่ ให้มีทางออกตามกฏหมาย ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดคือระยะ 12 เมตร ซึ่งต้องดำเนินการเป็นกรณีเร่งด่วน หากไม่ดำเนินการก็ต้องเสี่ยงต่อการถูกทุบทิ้งสูง และต้องดำเนินการภายใน 270 วัน
ฉะนั้นผู้ที่ยังไม่ได้หนังสือการโอนกรรมสิทธิ์จากคอนโด อช.2 หรือได้กรรมสิทธิ์ห้องชุดแล้ว สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวคือการฟ้อง เจ้าของโครงการ ในฐานะที่ผิดสัญญาการซื้อขาย ซึ่งจะเข้าเงื่อนไขในคดีผู้บริโภค โดยผู้ที่ซื้อมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ใดก็ให้ฟ้องในพื้นที่นั้น ส่วนบุคคลใดซื้อเพื่อทางธุรกิจก็เป็นการฟ้องในทางแพ่งแทน อย่างไรก็ตาม สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ จึงเป็นอุทาหรณ์สำหรับการซื้อ คอนโดมิเนียม ให้มีการดูทุกอย่างให้รัดกุม แต่ในเรื่องข้อเท็จจริงก็ต้องมีการสืบอย่างละเอียด ว่ามีการปกปิดรายละเอียดหรือไม่ แต่หากพบข้อมูลว่ามีการปกปิด หรือปิดบังข้อมูล ก็จะเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนได้อีกฐานหนึ่ง
โดยแชตของลูกบ้าน ลูกบ้านต่างจี้ให้ทางเจ้าของโครงการหาแนวทางแก้ไขและออกมารับผิดชอบ มีการระบุข้อความ “ในหนังสือบอกว่าเป็นความผิดของหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 8 หน่วยงาน แต่อ่านดูไม่เห็นเจอว่าอนันดาจะรับผิดชอบกับลูกน้องยังไง”
ซึ่งลูกบ้านบางคนไม่พอใจอย่างมากก็มีการต่อว่า “ยังคงยืนยันว่าตัวเองทำถูกต้องทุกอย่างเหมือนเดิม”
ถามลูกบ้านก็พยายามจี้ให้ทางเจ้าของโครงการรับผิดชอบ แต่ไม่มีการตอบข้อความกลับจากเจ้าของโครงการ
แชตหน้า 3 มีลูกบ้านคนหนึ่งสอบถามว่า “ ทางธนาคารจะพักชำระหนี้ให้เราก่อนได้ไหม”
ขณะที่ผู้บริหารบริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มีการอัดคลิปชี้แจงไว้เมื่อปี2564 โดยระบุว่า มั่นใจว่าจะชนะคดี ทางผู้บริหารจะอยู่เคียงข้างและต่อสู้ โดยจะมีการยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด เชื่อในกระบวนการยุติธรรมที่จะคุ้มครองผู้บริโภค เราทำการโดยสุจริต ทำถูกต้องตามกฎหมาย และจะเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับลูกบ้าน ซึ่งคลิปดังกล่าวเป็นการยืนยันก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งในวันนี้ที่ให้เพิกถอน
ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ในฐานะคนที่ออกมาร้องศาลปกครองเกี่ยวกับประเด็นทางเข้าออกของคอนโดแอชตัน เผยว่า กรณีการเสนอทางออกให้มีการซื้อที่ของสยามสมาคม หรือแม้แต่สมาคมซิก (สมาคมนามธารี สังคัต แห่งประเทศไทย) นั้น เรื่องดังกล่าวสามารถที่จะดำเนินการซื้อขายได้ แม้ว่าจะเป็นสถานที่ของสมาคม และที่มาแม้ว่าจะเป็นการยกที่ให้สาธารณะประโยชน์ แต่สามารถจบได้ที่คณะกรรมการร่วม และที่ประชุมของกรรมการสมาคม สามารถชื้อขายได้ หากเป็นไปตามข้อตกลงในราคาชื้อขาย หากบริษัทอนันดา สามารถที่จะยอมรับในเงื่อนไขดังกล่าวได้ก็สามารถซื้อและดำเนินการให้คอนโดไปต่อได้ทันที , แต่ทั้งนี้ตนเองก็ทราบว่าทางออกของสมาคมซิก ได้รับอนุญาตจากศาลให้มีทางเข้าออกเพียงแค่ 3-4เมตร ซึ่งก็ต้องมองต่อไปว่าจะมีทางอื่นเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้หรือไม่ หรือทางเดียวก็ต้องไปติดต่อกับทางสยามสมาคมเท่านั้นเพราะถือว่าใกล้และกว้างที่สุด
กรณีแปลงที่ดินดังกล่าวหรือผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในคอนโด อาจจะเป็นการถือโฉนดลอย หลังจากที่มีคำสั่งเพิกถอน นั้น เรื่องดังกล่าวมันก็ต้องเกิดขึ้นเมื่อเกิดการเพิกถอน แต่ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์หรือลูกบ้านก็ต้องมีการดำเนินการฟ้องกับบริษัทแม่คืออนันดาโดยตรง สามารถเรียกร้องได้ทั้งดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าตกแต่งห้อง หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ตนเองในฐานะที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ตั้งแต่แรก และทราบรายละเอียดว่า อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟ้อง แล้วปรากฏว่าการใช้พื้นที่ รฟม. แล้วเสี่ยงต่อการถูกเพิกถอน ทำให้ตนเองยังคงขับเคลื่อนที่จะดำเนินการรวบรวมหลักฐานเอาผิดเพิ่ม 5-6 แห่ง ที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ในการเช่าหรือใช้สถานที่ รฟม.
และเมื่อทีมข่าวเดินทางไปยังบริเวณด้านหน้าของคอนโดแอชตัน ซึ่งโดยปกติคอนโดส่วนใหญ่หากมีการขายยังไม่ครบยูนิต จะต้องมีการติดตั้งป้ายหรือประกาศขาย และให้ข้อมูลเกี่ยวกับเบอร์โทรศัพท์เซลล์ แต่ช่วงที่ทีมข่าวเดินทางไปนั้นมีเพียงป้ายโฆษณาอื่น แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขาย แต่อย่างใด
แต่เมื่อมีการเปิดเข้าไปดูในอินเตอร์เน็ต ยังพบว่ามีลิ้งค์ของการเปิดขายของ โครงการในเครืออนันตา ซึ่งข้อมูลของ แอชตันอโศก ยังปรากฏอยู่ในเว็บ ซึ่งไม่ได้มีการปิดหรือยกเลิกการขาย สามารถทดสอบในเรื่องของการกรอกข้อมูลเพื่อส่งให้กับเซลล์หรือระบบหลังบ้านได้ตามปกติ
ทีมข่าวจึงได้ทดสอบกรอกชื่อนามสกุล พร้อมทั้งอีเมลล์ และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับ พร้อมกับมีการยืนยันข้อมูลเพื่อส่งให้กับหลังบ้านของเว็บไซต์ หลังจากที่มีการกรอกข้อมูลเสร็จสิ้น กดส่งข้อมูล จะปรากฏหน้าต่าง ขอบคุณขึ้นมา พร้อมกับมีข้อความระบุว่า “ขอบคุณการลงทะเบียนของท่าน ฝ่ายขายจะติดต่อกลับโดยเร็วที่สุด” จากนั้นก็จะมีระบบอีเมลล์ยืนยันเข้ามาภายใน1-2วินาที โดยเป็นข้อความขอบคุณสำหรับการลงทะเบียน
และนอกจากนี้ทีมข่าวยังได้ทดสอบโทรไปตามเบอร์โทรของเซลล์ผู้รับผิดชอบโครงการ ปรากฏว่า มีการปิดเครื่อง โดยเป็นสัญญาณตอบกลับอัตโนมัติ “เลขหมายปลายทางที่ท่านเรียกในขณะนี้ไม่สามารถติดต่อได้ในขนาดนี้”