ภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทย แถลงผลการหารือร่วมกับพรรคก้าวไกลถึงแนวทางการในการจัดตั้งรัฐบาลกับ 8 พรรคร่วม โดยระบุใจความโดยรวมว่า "พรรคเพื่อไทยขอถอนตัวจากการร่วมมือ และเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ โดยเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยพรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ทวีสิน ยืนยันจะไม่สนับสนุนการแก้ไข ม.112 และการตั้งรัฐบาลใหม่ จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม โดยพรรคก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้าน และพรรคเพื่อไทย จะพยายามรวบรวมเสียงในการตั้งรัฐบาลอย่างเหมาะสม"
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เปิดเผยว่า หากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 4 สิงหาคม ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หากพรรคเพื่อไทยจะไม่เอาพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐมารวมด้วย เพราะหากไม่มี 2 พรรคนี้ สมาชิกวุฒิสภาก็จะไม่โหวตนายกรัฐมนตรีให้อย่างแน่นอน เพราะทั้งสองพรรคเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภามาด้วยกันทั้งหมด แต่หากพรรคเพื่อไทยยังยืนยันที่จะตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ร่วมกับกลุ่มอำนาจเดิม จะทำให้ประชาชน ไม่ยอมและออกมาขับไล่กันเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน และอาจจะรวมกันทั้งสีแดงสีส้มและสีเหลือง เพราะแค่วันนี้เมื่อพรรคเพื่อไทยออกมาประกาศว่าจะแยกทางกับพรรคก้าวไกล ก็จะเห็นมีม็อบประชาชนออกมาแสดงความไม่พอใจแล้ว ซึ่งหากพรุ่งนี้เพื่อไทยแถลงชัดเจนว่าจะจับร่วมรัฐบาลกับใครจะทำให้ประชาชนลงถนนอย่างมากมายอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา เพราะประชาชนรับไม่ได้กับการตระบัดสัตย์ของพรรคเพื่อไทย แม้จะอ้างว่าที่แยกจากพรรคก้าวไกล เพราะสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอื่นที่ไปเจรจามาจะไม่โหวตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทยให้หากมีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่ด้วย
โดยการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยหากไม่มีพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐรวมอยู่ด้วยเชื่อว่าจะไม่สามารถมี นายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้อย่างแน่นอน แม้แต่ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยจะระบุว่าไม่มีสองพรรคนี้ เพราะอ้างว่าได้คะแนนจากสมาชิกวุฒิสภาและร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคอื่นแล้วจะได้คะแนนเพียงพอ ซึ่งตนเองคาดว่าไม่มีคะแนนสนับสนุนได้เพียงพอหากไม่มีสองพรรคการเมืองดังกล่าว แต่หากพรรคเพื่อไทย ยอมที่จะร่วมรัฐบาลกับพรรครวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐ ก็จะไม่สามารถที่จะบริหารบ้านเมืองได้จะมีประชาชนออกมาต่อต้านกันเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดความสูญเสีย และก็จะให้เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจอย่างเช่นที่ผ่านมา
โดยขณะนี้การเมืองมาถึงสุดซอยแล้ว ทางออกที่ดีที่สุดคือให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาปรึกษาหารือหาทางออกร่วมกัน โดยการให้พลเอกประยุทธ์ ประกาศยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ ซึ่งต้องทำสัตยาบันกับสมาชิกวุฒิสภาว่าหากพรรคใดมีคะแนนสูง และรวบรวมตั้งรัฐบาลได้สมาชิกวุฒิสภาต้องยอมโหมดให้เป็นนายกรัฐมนตรี หรืออีกทางหนึ่งคือพรรคเพื่อไทยยังคงจับมืออยู่กับพรรคก้าวไกลเหมือนเดิม แล้วก็อยู่กันไปแบบนี้ เพราะถึงอย่างไรก็ตามแต่ ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่สามารถที่จะตั้งรัฐบาลได้เพราะมีคะแนนเสียงที่น้อยกว่า อยู่กดดันไปอย่างใจเย็นสุดท้ายประชาชนก็จะออกมากดดันให้ แต่ขณะนี้พรรคเพื่อไทยกับที่จะเลือกวิธี จัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ก็เท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายของพรรคเพื่อไทยเอง เพราะการประกาศแยกตัวของพรรคเพื่อไทยในวันนี้ ไม่ใช่ความต้องการของประชาชนแต่เป็นความอยากของพระเพื่อไทยเอง
ขณะเดียวกันทีมข่าวได้สอบถามไปยัง อ.วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ได้ให้ความเห็นหลังจากวันนี้พรรคเพื่อไทย ได้ประกาศถอนตัวจาก MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล โดยเจ้าตัวบอกว่า
ตัวเองรู้สึกผิดหวังกับทั้ง 2 พรรควันนี้ เพราะตนเองนั้นเคยเขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัวแล้วว่า “พรรคเพื่อไทย อย่าเป็นลุงสั่งได้ ส่วนพรรคก้าวไกล อย่าเล่นบทเหยื่อ” เพราะจริงๆแล้ว ตนเองมองว่าทั้งสองพรรคไม่จำเป็นต้องมาแถลงข่าวยกเลิก MOU แยกจากกันเลย เพราะในท้ายที่สุดแล้วหากทั้งสองพรรคไม่สามารถจับมือกันตั้งรัฐบาลได้ พวกคุณก็สามารถนำนโยบายที่บันทึกกันไว้ใน MOU จับมือกันทำต่อรัฐสภาด้วยกันได้ ฝั่งหนึ่งจะเป็นรัฐบาล ฝั่งหนึ่งจะเป็นฝ่ายค้าน ก็ยังสามารถช่วยเหลือกันได้ จะโหวตแก้รัฐธรรมนูญก็ช่วยกันโหวตได้ เพราะฉะนั้นอย่าทำให้แรงร่วมในทางประชาธิปไตยเสียไป
แต่สิ่งที่วันนี้ทั้งสองพรรคทำอยู่ คือ ต้องการความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง ตนเองมองว่าทีมพรรคเพื่อไทยทำแบบนี้ก็เพื่อต้องการที่จะส่งสัญญาณไปยังพรรคการเมืองอื่นๆว่าตอนนี้พรรคเพื่อไทยไม่เอาพรรคก้าวไกลแล้ว ตอนนี้เพื่อไทยได้ทิ้งก้าวไกลแล้ว ซึ่งก็ทำให้ประชาชนเจ็บปวด
ส่วนพรรคก้าวไกลก็เล่นบทเป็นเหยื่อ ทั้งที่ความจริงพรรคก้าวไกลไม่ใช่เหยื่อ ซึ่งแทนที่พรรคก้าวไกล จะบอกต่อไปว่า ถึงแม้เราจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่เราจะส่งจะส่งต่อนโยบายต่างๆ ใน MOU ให้พรรคเพื่อไทยไปทำต่อ ก้าวไกลจะสู้ต่อไป และจะตรวจสอบการทำงานควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะดีกว่าไหม ถ้าทั้งสองพรรค หากจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็จับมือกันทำนโยบายกันสิ
แต่ทั้งสองพรรคไม่คิดแบบนั้น คิดเพียงแต่ว่า จะทำยังไงให้พรรคได้คะแนนมากกว่า ทำยังไงให้ได้เปรียบทางการเมืองในระยะสั้นมากที่สุด ทำให้ตนเองรู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจของทั้งสองพรรค
พรรคเพื่อไทยอย่าเป็นพรรคลุงสั่งได้ พรรคเพื่อไทยต้องมีความชัดเจน ถึงแม้เพื่อไทยจะไม่เอา ม.112 แต่พรรคเพื่อไทยก็ควรประกาศให้ชัดว่า จะนำนโยบายอื่นๆ เช่น นโยบายแก้ปัญหาปากท้องประชาชน แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปฏิรูป แก้รัฐธรรมนูญ ที่บันทึกอยู่ใน MOU นำไปใช้ เพื่อไทยทำไมต้องมาพูดว่า MOU หมดสภาพแล้ว ซึ่งตนเองรู้สึกผิดหวัง เพราะถึงแม้นโยบายเหล่านี้จะหมดสภาพในแง่การร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่ในแง่เนื้อหา สาระที่ประชาชนต้องการ ประชาชนอีกกลุ่มที่เลือกพรรคก้าวไกลอันดับ 1 ก็ยังต้องการนโยบายเหล่านี้อยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เพื่อไทยและก้าวไกล ควรร่วมมือกันทั้งคู่
และตนเองเชื่อว่า ที่พรรคก้าวไกล ยอมเป็นเหยื่อ ก็เพราะพรรคก้าวไกลรู้ว่า การที่พรรคก้าวไกลได้เป็นพรรคฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลได้เปรียบที่สุด เพราะวันนี้หากก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ตนเองเชื่อว่า ก้าวไกลไม่รอดแน่ เพราะเจอทั้งศาล ทั้งองค์กรอิสระ ที่ตีความผิดเพี้ยน แถมยังมี สว. อีก สู้รอให้ สว. หมดวาระ หมดอำนาจไปไม่ดีกว่า ซึ่งก้าวไกลก็จะได้คะแนนจากประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างท่วมท้น
แต่สิ่งที่แย่คือหลังจากนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้นทำให้ประชาชนทะเลาะกันมากขึ้น เพราะพรรคเพื่อไทยก็จะถูกบีบให้โหวต ไปเอานายกคนนอกที่ไม่ใช่ประชาชนเลือกตั้งมาเป็นนายกฯ เอาคนที่ไม่เคยหาเสียง ไม่เคยขึ้นเวที ลอยมาจากสวรรค์ที่ไหนก็ไม่รู้ มาเป็นนายกฯแทน
ซึ่งใครจะไปคิดว่าภายในอนาคตคุณเศรษฐาอาจจะได้เป็นนายกฯก็จริง แต่อาจจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง และมีการนำนายกเบอร์สองหรือรองนายกฯ ซึ่งมาจากฝั่งอำนาจเก่าขึ้นมาเป็นนายกแทนก็มีความเป็นไปได้หมด
ซึ่งส่วนตัวตนเองไม่ปฏิเสธว่า นายกฯคนต่อไปอาจจะเป็นคุณเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งตนเองก็มองว่าคุณเศรษฐาก็เป็นคนที่ดูดี เขาเป็นมหาเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จ และมีความตั้งใจอยากเห็นประเทศไทยก้าวหน้า ซึ่งก็ไม่ต่างกับคุณพิธามากเท่าไหร่ ซึ่งตนเองก็สนับสนุนถ้าให้คุณเศรษฐาเป็นนายก แต่เส้นทางในการก้าวขึ้นเป็นนายกฯ ตนเองมองว่าไม่ง่าย
ส่วนวันที่ 4 สิงหาคมนี้ จะเกิดอะไรขึ้น อ.วีรพัฒน์ มองว่า กรณีแย่ที่สุด คือ ได้นายกฯคนนอกมาเป็นนายก ปานกลาง คือ เพื่อไทยอาจจะเป็นรัฐบาล แต่จะไปได้ไกลแค่ไหนก็ไม่รู้ แล้วแต่การเจรจาต่อรอง หรือ ทางที่ดีสุด คือ เพื่อไทย กับก้าวไกล ยังจับมือกันแน่น ถึงแม้จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันไม่ได้ แต่ก็ขอให้ทั้งสองเชื่อมั่นกันและกัน และนำนโยบายไปผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยไม่นำพรรคที่ประชาชนรังเกียจเข้ามาร่วมรัฐบาล
และหากวันที่ 4 สิงหาคม มีม็อบเกิดขึ้นจริง ตนเองก็ขอฝากเตือนทั้ง ม็อบเสื้อส้ม และเสื้อแดง ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายตีกัน จะเข้าทางฝ่ายอำนาจเก่าทันที เพราะเขาจะยุให้ก้าวไกล ตีกับ เพื่อไทย เอง ซึ่งฝ่ายอำนาจเก่า เขาก็รู้อยู่แล้วว่า วิธีการเดิมๆ เช่นการยึดอำนาจ อาจจะใช้ไม่ได้ผลแล้ว ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแผน คือ ใช้เพื่อไทยเป็นกระบอกเสียงแทน ผ่านการบีบคั้นทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ซึ่งตนเองก็ไม่รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับ คุณทักษิณ ในวันที่ 10 สิงหาคมหลังจากนี้