วันที่ 3 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เลื่อนการพิจารณาสั่งคำร้องและให้สำนักงานศาล รธน. ศึกษาข้อมูลเพิ่ม กรณี มติสภา ข้อบังคับการประชุม 41 ขัดหรือแย้งต่อ รธน. ปม เสนอชื่อ "พิธา" โหวตนายกฯ ซ้ำ ได้หรือไม่ ให้ผู้ร้องระบุสถานะบุคคลคณะผู้ร้องเรียนที่ 3 ยื่นต่อศาล รธน.ใน 15 ส.ค. นัดพิจารณาคําร้อง 16 ส.ค. เวลา 09.30 น.

 

วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สําคัญและเป็นที่สนใจ ดังนี้

ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ (เรื่องพิจารณาที่ ต. ๒๔/๒๕๖๖)

 

ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ส่งคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ ว่า กรณีรัฐสภา (ผู้ถูกร้อง) มีมติตีความว่าการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็น นายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนําเสนอญัตติซ้ำอีกตาม ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๔๑ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๒ เป็นการละเมิด สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนทั้งสาม (รองศาสตราจารย์ พรชัย เทพปัญญา ที่ ๑ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง ชเลธร ที่ ๒ และนางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ และคณะ ที่ ๓) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ วรรคสอง มาตรา ๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๕ วรรคสาม และมาตรา ๒๗

 

โดยผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องเรียนที่ ๑ และที่ ๒ เป็นประชาชน ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเลือกพรรคก้าวไกล ซึ่งมี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นบุคคลเพียงรายชื่อเดียวที่พรรคก้าวไกล เสนอชื่อเป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็น นายกรัฐมนตรี และผู้ร้องเรียนที่ ๓ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล การที่รัฐสภามีมติดังกล่าว ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนทั้งสาม และขอให้กําหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญโดยให้มีคําสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย

ผลการพิจารณา

 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคําร้องให้พิจารณาวินิจฉัย (เพิ่มเติม) ของผู้ร้องฉบับลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖ แล้วมีคําสั่งรับรวมไว้ในสํานวน

 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคําร้อง คําร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า คําร้องนี้มีประเด็นสําคัญที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและมีประเด็นเชิงหลักการการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติม จึงให้เลื่อนการพิจารณาสั่ง คําร้องและให้สํานักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

 

สําหรับคําขอให้กําหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย ให้รอสั่งในคราวเดียวกันกับการพิจารณาสั่งคําร้อง

 

ทั้งนี้ ให้ผู้ร้องระบุสถานะบุคคลของคณะผู้ร้องเรียนที่ ๓ ทุกรายว่า เป็นประชาชนหรือสมาชิก รัฐสภา โดยให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันอังคารที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ ให้นัดพิจารณาคําร้องนี้ในวันพุธที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา

 

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในการวินิจฉัยมติรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยยอมรับว่า การประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ ต้องเลื่อนออกไปก่อ เนื่องจาก จะต้องรอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และมีพรรคการเมืองส่งข้อมูลเข้าไปเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องรอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย หรือมีคำสั่งอย่างไรในวันที่ 16 สิงหาคมนี้

 

จากนั้นจะพิจารณานัดประชุมอีกครั้ง แต่การประชุมรัฐสภา ในวันพรุ่งนี้ (4 ส.ค.) จะยังคงดำเนินตามปกติ เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจวุฒิสภา หรือ สว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอวาระแรกตามปกติ

 

ส่วนกรณีที่ขณะนี้ มีการเปลี่ยนขั้วเป็นพรรคเพื่อไทยนำการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ประธานรัฐสภา ก็ย้ำว่า จะต้องรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี

 

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้า​พรรค​เพื่อไทย กล่าวเหตุผลเลื่อนแถลงจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ว่า ชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซ้ำได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อการโหวตเลื่อนไป ทุกอย่างก็ไม่ควรจะทำอะไรให้มาก ควรจะรอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน แต่เราก็มีเวลาทำงานเพิ่ม แต่คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์หลังจากวันที่ 16 สิงหาคม น่าจะโหวตนายกรัฐมนตรีได้

 

ส่วนที่หลายฝ่ายหวั่นใจว่า เสียงจะไม่พอ นายภูมิธรรมขอยืนยันว่า เสียงที่เรามีเพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อเลื่อนการประชุมออกไป ก็มีเวลาทำงานมากขึ้น เพราะการแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่ายยิ่งได้มากก็ยิ่งดี เราก็พร้อมที่จะแถลงข่าวร่วมการจัดตั้งรัฐบาลทันที หลังประธานนัดประชุม

 

เมื่อถามว่า เสียงที่รวบรวมไว้พอจะเปิดเผยได้หรือไม่ ว่า มีพรรคใดบ้าง นายภูมิธรรม กล่าวว่ารออีกสักหน่อย แต่ก็ยอมรับว่ามีเสียงจาก 8 พรรคร่วมเดิมพอสมควร และมีเสียงจากขั้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิมฝั่ง 188 เสียงอีกจำนวนหนึ่ง และต้องมีเสียงสว.อีก เนื่องจากเราอยู่ภายใต้วิกฤตการณ์ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่กำหนดเงื่อนไขว่าต้องได้เสียเกิน 375 เสียง  เสียง สำหรับ สส. เราอยากให้มีเสียงมากที่สุดเพราะจะทำให้เกิดรัฐบาลที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพ

 

เมื่อถามว่า ตอนนี้มีรายงานข่าวว่าไม่มีทั้ง 2 ลุงเข้าร่วมรัฐบาล นายภูมิธรรม กล่าวว่า รอการตัดสินใจที่ชัดเจน ว่าอะไรเป็นอะไร วันนี้เราพยายามแสวงหาความร่วมมือ แต่เราก็รู้ว่ามีข้อจำกัดและยังมีข้อที่เป็นปัญหาของประชาชนอยู่เราต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆเหล่านี้ด้วย ขอให้รอการแถลงรายละเอียด แต่การแสวงหาความร่วมมือ มันแสดงให้เห็นถึงฉันทามติในการจัดตั้งรัฐบาล

 

นายภูมิธรรม ยังชี้แจงถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลมีการระบุว่า ตนไม่ง้อเสียงโหวตจากพรรคก้าวไกล ยืนยัน ไม่เป็นความจริง ตนได้ชี้แจงไปแล้วว่าการแยกตัวครั้งนี้ เมื่อเรายุติ MOU ถือว่า ทุกฝ่ายเป็นอิสระต่อกัน ส่วนพรรคก้าวไกลจะโหวตหรือไม่โหวตถือเป็นเอกสิทธิ์ สิ่งสำคัญคือเราอยากสร้างมิติทางการเมืองใหม่ เรากับพรรคก้าวไกลสามารถที่จะทำงานการเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้ เรายินดีสนับสนุน ไม่จำเป็นที่ต้องแยกฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล แต่ปัญหาที่เราไม่เอาแน่นอน คือ มาตรา 112 แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่นที่ดีเราจะโหวตให้ ดังนั้น การตัดสินครั้งนี้ ถ้าจะโหวตให้เรา เราก็ขอบคุณดีใจ แต่ถ้าไม่โหวตเราก็ไม่ถือโทษโกรธใคร ถือเป็นเอกสิทธิ์ ที่พูดทั้งหมดเป็นแบบนี้ เครื่องในที่ประชุมก็มีนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทั้งหมดยืนยันในสิ่งที่ตนพูดได้ อันนี้เป็นข้อเท็จจริง

 

ส่วนที่นายชัยธวัช ออกมาระบุว่าพรรคเพื่อไทยไม่เคยบอกให้พรรคก้าวไกล ถอยมาตรา 112 นายภูมิธรรม ยืนยัน ไม่เป็นความจริง มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ที่ผ่านมาเราพยายามสื่อสารมาตลอดทั้ง MOU ว่าเราไม่เซ็น หากมีการแก้ไขมาตรา 112 เราได้แสดงท่าทีของเรากับพรรคก้าวไกลอย่างชัดเจนมาโดยตลอด ว่า 112 เราไม่เห็นด้วย อีกทั้งเมื่อพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับไม้ต่อจากพรรคก้าวไกล ก็ได้พูดคุยกับหลายพรรคการเมือง ซึ่งทุกคนก็ย้ำว่าหากมี 112 ไม่ร่วม ซึ่งพอไปแจ้งกับพรรคก้าวไกลแล้ว พรรคก้าวไกล กลับยืนยันว่า การแก้ไข 112 ไม่ใช่ประเด็น เพราะหากไม่มี 112 ก็มีประเด็นอื่นอีก จึงเป็นจุดที่ต้องแยกทาง

 

เราบอกแล้วว่าถ้าโหวตให้เราก็ขอบคุณ​และยินดี แต่ถ้าไม่หมดให้ ก็ไม่เป็นไร ถือเป็นเอกสิทธิ์ เพราะตอนนี้เราดำเนินการหาเสียง อย่าถือว่าเราไปกดดัน หากไม่โหวตให้เราเลยก็ได้ เป็นสิ่งที่เราต้องไปแสวงหาความร่วมมือ เป็นการพูดในเงื่อนไขที่สุภาพ และไม่กดดันกัน ถือเป็นสิทธิ์ที่จะเพิ่มหรือลดคะแนนให้กับเรา ก็พูดกันอย่างตรงไปตรงมาชัดเจนที่สุด ไม่มีอะไรเคลือบแฝง

 

เมื่อถามว่า หากพรรคก้าวไกล ไม่โหวตสนับสนุนให้ เราต้องหาคะแนนเสียงจากพรรคร่วมและสว.เป็นหลักใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ทุกพรรคที่เข้ามาในสภาตอนนี้ เป็นตัวแทนจากประชาชนที่มีความคิดหลากหลาย เพราะฉะนั้นถ้าเราเดินหน้าไปได้ ประเทศต้องมีความปรองดอง เพราะฉะนั้นการฟังความคิดของทุกพรรคการเมืองของทุกกลุ่ม ก็เป็นเรื่องที่ดี และถ้าเป็นรัฐบาลที่ขึ้นมาจากความยอมรับความคิดที่หลากหลาย ก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ไม่ได้บอกว่าจะเอาทุกพรรค ก็อยู่ที่ว่าพรรคไหนจะร่วมกันอย่างไร หรือสังคมได้ความความเข้าใจและเห็นว่าการร่วมมือกันไปสู่ทิศทางใดก็จะเป็นคำตอบ

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย  กล่าวถึงกรณีสูตรการจัดตั้งรัฐบาลที่มีกระแสข่าวว่าจะไม่มีพรรคของ 2 ลุง บอกว่า ขอให้ฟังจากหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่เป็นคนบริหารจัดการ และตัวเองก็ไม่ทราบกระแสข่าวการเลื่อนกลับบ้านของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 

นายสุริยะ  ยังรับว่าการเลื่อนโหวต นายกรัฐมนตรีของรัฐสภากระทบต่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งต้องเลื่อนออกไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ในประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องไป

 

ส่วนความคืบหน้าของการเจรจากับ สว. ขณะนี้มีผู้พร้อมจะโหวตให้กับนายเศรษฐา ทวีสิน มากน้อยแค่ไหน นายสุริยะ ระบุว่า ตนก็รู้จัก สว. บางท่าน ได้แจ้งให้หัวหน้าและเลขาธิการพรรคไปพูดคุย ส่วนตอนนี้ได้เสียงสนับสนุนเท่าไหร่แล้วและยังมั่นใจใช่หรือไม่ ว่านายเศรษฐาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย นายสุริยะ บอกว่า ตนคิดว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคที่จะมา ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เป็นเรื่องที่ประเทศชาติจะขาดรัฐบาลนั้นไม่ได้ จะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว โดยเฉพาะเราจะเห็นสภาอุตสาหกรรมและหอการค้าเรียกร้องให้มีการรีบจัดตั้งรัฐบาลมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ตนคิดว่าข้อมูลในส่วนนี้ ส.ว. ก็จะรับทราบ และหวังว่า สว. จะโหวตให้ ส่วนประเด็นเรื่องการเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ เป็นเหตุผลให้นายทักษิณยังไม่สามารถกลับมาประเทศไทยได้ใช่หรือไม่นั้น นายสุริยะ ระบุว่า เรื่องนี้ตนยังไม่ทราบเรื่องนี้

 

ประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากนายเศรษฐาได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะทำให้นายทักษิณไม่ได้กลับบ้าน นายสุริยะ ปฏิเสธตอบคำถามและบอกว่าเรื่องนี้ตัวเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน

มั่นใจเสียงหนุนเศรษฐานั่งนายกฯ พอ เจอเหตุ 3 เลื่อน "ภูมิธรรม-สุริยะ" ปิดปากดึง 2 ลุงช่วย