งงทั้งสภา! "วันนอร์" สั่งปิดประชุม หลัง "ก้าวไกล" ชงทบทวนมติห้ามเสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำ ย้ำ ทบทวนไม่ได้ ต้องรอศาล รธน. ก่อนโต้เถียงไปมาร่วมชั่วโมง กระทั่งงัดไม้แข็งปิดประชุมจบปัญหา
วันที่ 4 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้ใช้อำนาจสั่งเลื่อนการประชุม และปิดการประชุมทันทีหลัง ในเวลา 11.27 หลังจากที่ประชุมรัฐสภาเกิดข้อถกเถียง ญัตติของนายรังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล "ที่เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาให้มีการทบทวนมติรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม กรณีรัฐสภามีมติ ใช้ข้อบังคับ รัฐสภาข้อ 151 ตีความข้อบังคับที่ 41 ไม่ให้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลซ้ำในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2" โดยมีชื่อผู้รับรองครบถ้วน
แต่นายนายวันมูหะมัดนอร์ พยายามคัดค้านว่าไม่สามารถเสนอได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หากเดินหน้าต่อไปจะติดขัดกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร จึงขอให้รอคำวินิจฉัยของศาลก่อนและขอให้เลื่อนมาพิจารณาวาระ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ปิดสวิตช์ สว.ขึ้นมา ตามที่บรรจุไว้แล้ว
ขณะที่นายรังสิมันต์ และ ส.ส. พรรคก้าวไกล พยายามทักท้วงยืนยันว่า สภามีอำนาจในการลงมติ อีกทั้งสมาชิกพรรคก็รับรอง แต่นายวันมูหะมัดนอร์ ยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี หากดำเนินต่อไปจะเกิดความเสียหาย เพื่อให้เกิดความไม่ขัดแย้งและสง่างามกับคนที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จึงอยากให้สมาชิกรอศาลก่อน เพื่อไม่ให้มีปัญหาในทางปฏิบัติและไม่ให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง
ด้านนายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าญัตติของพรรคก้าวไกลเสนอถูกต้อง ขอให้ประธานสภาดำเนินการตามข้อบังคับการประชุม ส่วนที่ประชุมจะเห็นชอบญัตติดังกล่าวหรือไม่ให้เป็นอำนาจของที่ประชุม
ขณะที่ฝากฝั่งวุฒิสภา ประสานเสียงไม่เห็นด้วยกับญัตติของนายรังสิมันต์ โรมและสนับสนุนความเห็นของประธานวันนอร์ อย่างนายสมชาย แสวงการ สว. เสนอให้รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน จากนั้นก็เสนอญัตติซ้อนไม่เห็นด้วยกับญัตติที่เสนอนายรังสิมันต์ เช่นเดียวกับนายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า หากมีการนำมติวันที่ 19 กรกฎาคม มาทบทวน ก็จะเป็นการลบล้างสิ่งที่เคยลงมติไปแล้ว เพราะไม่มีข้อบังคับให้กระทำได้ ไม่มีเหตุให้ทบทวน
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภาชี้แจงว่า มติรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ไม่ให้มีการเสนอชื่อนายพิธาซ้ำ เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ไม่ใช่เพียงการดำเนินการตามข้อบังคับ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ วรรคสอง ระบุขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไว้ชัดเจนว่า จะสามารถเสนอชื่อซ้ำได้ ก็ต่อเมื่อมีการใช้เสียงของรัฐสภา 2 ใน 3 ยกเว้นข้อบังคับเพื่อให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ จึงจะสามารถเสนอชื่อบุคคลที่ ญัตติตกไปแล้ว กลับมาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเงื่อนไขนี้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับที่ 41 ที่ระบุว่าประธานรัฐสภาสามารถ วินิจฉัย ให้เสนอซ้ำได้เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นกรณีนี้ จะเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเข้าเงื่อนไขในการเสนอชื่อนายกฯคนนอก
ด้านนายรังสิมันต์ ยังยืนยันจะให้สภาเดินหน้าทบทวนญัตติลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จนในท้ายที่สุดนายวันนอร์ ได้ฟังการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา แล้วกล่าวว่าขอเลื่อนการประชุมรัฐสภาในวันนี้ออกไปก่อนและปิดการประชุมทันทีในเวลา 11.27 น.