วันนอร์ แจงปิดประชุมรัฐสภาฯวานนี้เป็นทางออกที่ดีที่สุด ยันไม่ได้เอื้อฝ่ายใด โวอยู่สภาฯมา 40 ปี ไม่เคยนำมติเก่ามาทบทวน
5 ส.ค. 66 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ที่อินโดนีเซีย ถึงประเด็นรีบปิดประชุมรัฐสภาเมื่อวานนี้(4 ส.ค.) พร้อมสั่งเลื่อนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 ในการตัดอำนาจ สว. ที่พรรคก้าวไกล เสนอ ว่า จากที่มีบุคคล บางฝ่ายกล่าวหาและให้สัมภาษณ์ว่าประธานรัฐสภารีบปิดประชุมเพื่อไม่ให้มีการอภิปราย การเสนอแก้ไขมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์สว.นั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเพราะการเปิดประชุมรัฐสภาเมื่อวานนี้มีวาระอยู่ 2 เรื่อง คือการเลือกนายกรัฐมนตรีตามข้อบังคับที่ 41 ในเสนอญัตติซ้ำ ที่ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะจะมีการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวในวันที่16 สิงหาคมนี้
พร้อมยืนยันว่า ตนตั้งใจให้มีการอภิปรายอย่างเต็มที่ และพยายามถามหลายครั้ง ว่าหากเลื่อนวาระ 2 มาพิจารณาก่อนวาระที่ 1 รัฐสภามีความพร้อมที่จะพิจารณาหรือไม่ แต่ปรากฎว่าระหว่างเลื่อนการพิจารณามาตรา 272 ขึ้นมานายรังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติด่วน ขอให้ทบทวนมติ ที่รัฐสภาได้มีการพิจารณาไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ในการเสนอชื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มีการพิจารณาซึ่งเป็นไปตามมาตรา 151 แล้ว และมีมติไม่ให้มีการเสนอญัตติซ้ำ รวมไปถึงในมาตรา 151 วรรคแรก ก็ระบุไว้ว่าถ้าการลงมติถือว่าเด็ดขาด ฉะนั้นจะทบทวนมติที่เด็ดขาดไปแล้ว ตนและสมาชิกอีกหลายคนก็เข้าใจว่าจะกระทำไม่ได้ เพราะอยู่ในสมัยประชุมสภาเดียวกัน และเหตุการณ์ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง การจะขอให้ทบทวนเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งอยู่ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา ซึ่งตนมองว่า ทั้งหมดมีความเชื่อมโยงในประเด็นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาหากเรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล สภาฯจะยังไม่พิจารณาในเรื่องนั้นเพราะเป็นการใช้อำนาจของศาล และมาตรา 211 เขียนไว้ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยและคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันกับรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรอิสระทุกองค์กร เพราะฉะนั้นการที่เราจะตัดหน้าพิจารณาในวันที่ 4 สิงหาคม ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวันพิจารณาไว้แล้ว จะเป็นการกระทำที่มีชอบ เพราะอาจย้อนแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาในเรื่องเดียวกัน และหากวานนี้มีการลงมติในประเด็นดังกล่าวสวนทางกับศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ลองคิดดูว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นกับใคร
ซึ่ง หากมีการรอถึงวันที่ 16 สิงหาคม และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจบแล้ว ก็สามารถนำเรื่องที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาอีกครั้งได้
"เราไม่สามารถรู้ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไร เหตุผลอะไรที่เราต้องทำ ผมไม่สามารถบอกได้ แต่ในฐานะประธานสภาฯ ซึ่ง เป็นผู้นำขององค์กรคือรัฐสภา เราไม่สามารถนำองค์กรของเราให้มีปัญหา กับองค์กรซึ่งจะตัดสินเรา เราพร้อมที่จะทำตามสมาชิก ถ้าหากข้อเสนอนั้นเป็นข้อเสนอที่ไม่ไปย้อนแย้ง เพราะมันจะทำให้ความเชื่อถือลดลง"
นายวันมูหะมัดนอร์ ยังกล่าวว่า ตนขออภัย ไม่ได้รีบปิดหนีเพื่อไม่ให้อภิปรายการแก้ไขมาตรา 272 พร้อมระบุว่าที่มีการรอเวลาเกือบชั่วโมงก็เพื่อให้สมาชิกครบและเริ่มการประชุม และเลื่อนวาระการพิจารณาแก้ไขมาตรา 272 ซึ่งสมาชิกหลายคนต้องการอภิปราย พร้อมยืนยันว่าตนอยากให้อภิปรายอย่างเต็มที่ แต่สมาชิกไม่ยอมที่จะเลื่อนเรื่องนี้มาพิจารณา และไม่ได้เอาเรื่องเร่งด่วนที่อยู่ในวาระซึ่งก็มีสิทธิ์เสนอได้ แต่การที่จะมาทบทวนมติเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมของรัฐสภา ที่มีความเด็ดขาดไปแล้วตั้งแต่การพิจารณาครั้งนั้น
"ผมไม่ได้ปฏิบัติเพื่อฝ่ายใด หรือกีดกันเพื่อฝ่ายใด ไม่เช่นนั้นจะรอถึงชั่วโมงหรือ เพราะถ้าสมาชิกรัฐสภาไม่ครบแค่ครึ่งชั่วโมงก็สามารถเลิกประชุมได้"
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเวลาในการประชุมรัฐสภายังเหลือแต่กลับเร่งเพื่อปิดประชุมสภา กลับไม่มีการลงมติเพื่อเลื่อนการพิจารณาวาระ 2 ว่า เนื่องจากสมาชิกยังมีการถกเถียง และยังคงเดินหน้าเรื่องที่ยังอยู่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
ส่วนจะต้องมีการทำความเข้าใจกับสส.พรรคก้าวไกลหรือไม่ นายวันนอร์ระบุว่าเปิดสภาเมื่อไหร่ก็สามารถนำญัตติของนายรังสิมันต์ มาพิจารณาได้ รวมถึงญัตติของวุฒิสภา
พร้อมยืนยันว่า “ตนอยู่ในสภามา 40 ปีไม่เคยมีการทบทวน มติที่รัฐสภาเคยลงมติไปแล้ว โดยไม่มีเหตุผล เพราะยิ่งทวนยิ่งไม่สง่างาม และเรื่องดังกล่าวก็เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณา หากปล่อยไปมันก็จะเกิดความเสียหาย พร้อมย้ำว่า การปิดประชุมสภาเมื่อวานนี้ถือเป็นทางออกที่ดีของที่ดีสุดของบ้านเมือง ยืนยันตนไม่ได้หนี”
ทั้งนี้หากศาลมีการพิจารณาในวันที่ 16 สิงหาคมแล้วในวันที่ 17 สิงหาคมจะสามารถเปิดการประชุมได้เลยหรือไม่ นายวรรณโนระบุว่าวันที่ 17 อาจจะยังไม่มีความชัดเจน แต่จะทำให้เร็วที่สุด ภายใน 3 วันตามที่มีการกำหนดไว้
ส่วนที่บอกว่าการทำหน้าที่ของประธานสภาได้ไม่สง่างามนั้น ตนคิดว่าถ้ามีมติออกมาสภาจะไม่สง่างาม เพราะต้องทบทวนตัวเองหลายรอบ ครั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ให้ทบทวน ตนต้องรักษาภาพลักษณ์ของสภาฯ ยืนยันว่า ไม่มีหนี ไม่มีเหตุผลใดๆ อย่ามองว่า ประธานไม่ต้องการให้พิจารณามาตรา 272 มันไม่ใช่ข้อเท็จจริง ข้อปฏิบัติทั้งหลายยืนยันได้ชัดเจนว่าประธานต้องการให้อภิปราย แต่สมาชิกไม่อยากอภิปราย