"เรืองไกร" ยื่น "กมธ.สว." สอบคุณสมบัติ "เศรษ​ฐา​" หลัง "ชูวิทย์" แฉเลี่ยงภาษีที่ดิน ก่อน "เพื่อไทย" ชงชื่อโหวตนายกฯ อีก 10 วัน

วันที่ 7 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือถึงนายดิเรกฤกษ์ เจนครองธรรม รองกรรมาธิการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย อาจมีลักษณะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 160 (4) หลังนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตนักการเมือง ได้ออกมาแฉข้อมูลการซื้อที่ดินแปลงหนึ่งของบริษัท แสงสิริ มีข้อสงสัยว่าเลี่ยงภาษีหรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า ต้องการให้วุฒิสภาตรวจสอบรอบด้าน ทั้งผู้ร้อง ผู้กล่าวอ้าง คนแก้ต่าง บริษัทแสนสิริ หรือฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เพราะทั้งหมดยังไม่มีข้อยุติ จึงต้องมาให้กรรมาธิการสอบหาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานหลัก โดยการขอเอกสารจากนายชูวิทย์ ขอเอกสารจากบริษัทแสนสิริ เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินทั้งหมด ตั้งแต่สัญญาจะซื้อจะขาย รูปเล่มการลงบัญชี การจ่ายแคชเชียร์เช็ก การจ่ายค่ามัดจำสัญญา ค่าธรรมเนียม รวมไปถึงเชิญเจ้าหน้าที่กรมที่ดินที่รับจดนิติกรรมต่างๆ เจ้าหน้าที่สรรพากร เพื่อให้ข้อมูลว่าเป็นการวางแผนภาษี หรือหลบเลี่ยงภาษี หรือหนีภาษีหรือไม่ ส่วนที่นายเศรษฐา ชี้แจงว่าซื้อถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล ก็ต้องฟังความทั้งหมด จึงคิดว่า 10 วันจากนี้ก่อนโหวตนายกรอบใหม่ ยังมีเวลาให้กรรมาธิการได้ดำเนินการ

นายเรืองไกร ยังตั้งข้อสังเกตกรณีสัญญาซื้อขายที่ดิน 12 ฉบับ ว่า เป็นเรื่องที่แปลกมาก เนื่องจากผู้ขายทั้ง 12 คน ลงเหมือนกันว่าทั้งสองฝ่ายไม่ทราบขอบเขตที่ดินและเนื้อที่มีเพียงใด ซึ่งเอกชนทั้ง 12 ราย ที่รับที่ดินมาปี 2561 แล้วขายในปี 2562 โดยการได้มาไม่เกิน 5 ปีจะต้องมีการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เสียภาษีเงินได้เป็นรายบุคคล เมื่อเสียภาษีเงินได้ ค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 และภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว จะไม่เสียอากรแสตมป์ ดังนั้น มองว่าสิ่งที่กรรมาธิการควรจะได้รับจากบริษัทแสนสิริ คือรายงานการประชุมของบริษัทที่จัดทำโดยคณะกรรมการตรวจสอบประจำปี 62 ที่ระบุชัดเจน ถึงการดำเนินงานของบริษัท และโดยเฉพาะข้อ 6 การกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งบริษัทเข้าเป็นแนวร่วมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และในปี 2562 นายศรษฐา อาจไม่ได้รับรู้เรื่องการทำธุรกรรม แต่เมื่อดูจากงบการเงินปี 62 ระบุไว้อย่างชัดเจน นายศรษฐา ถือหุ้นร้อยละ 4.66 ซึ่งสอดรับกับรายงานการประชุมที่บอกว่าทำไมต้องมอบและแบ่งเป็น 12 ครั้ง ซึ่งจะต้องมีการชี้แจง

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นที่ดินรอการพัฒนา มูลค่าที่ดิน 1,600 ล้านบาท เป็นที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากปี 2561 อย่างมีนัยสำคัญ เพราะในหมายเหตุของงบการเงิน ที่ดินรอการพัฒนาน่าจะอยู่ในรายการนี้ปี 2561 มี 13,000 กว่าล้านบาท ส่วนปี 62 มี 18,000 ล้านบาท เพิ่มมา 5,000 ล้านบาท จึงเป็นเหตุผลที่ตนต้องให้กรรมาธิการเรียกเอกสารทางบัญชี ซึ่งจะได้รับคำตอบว่า ผู้รับเงินทั้ง 12 ราย รับเงินไปแล้วเป็นแคชเชียร์เช็กส่วนหนึ่ง หรือรับเงินสุทธิหรือไม่ รวมถึงภาษีค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ซึ่งต้องดูว่ามีการจ่ายภาษีอีกทอดหนึ่งหรือไม่ รวมถึงมูลค่าที่ดินรอการพัฒนา ทางบริษัท แสนสิริ บันทึกราคาที่ดินบวกค่าธรรมเนียมภาษีหรือไม่ ถ้าค่าธรรมเนียมรวมลงได้ แต่ถ้าภาษีเงินได้ธุรกิจเฉพาะออกให้ ต้องถือเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่ สรรพากรต้องตอบ

"คนที่จะเป็นนายกฯ จะต้องชี้แจงเรื่องเหล่านี้ ว่าตอนที่เป็นผู้บริหารปี 62 เรื่องที่ถูกกล่าวหาเหล่านี้ชี้แจงอย่างไร ซึ่งข้อมูลคงได้แค่เบื้องต้นในการวินิจฉัย แต่สมมติว่าคุณเศรษฐาได้เป็นนายกฯ มาตรา 160 จะถูกหยิบขึ้นมาว่ารัฐมนตรีเคยมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ ถ้านายเศรษฐาได้เป็นนายกฯ ตนจะช่วยเข้ามาตรวจสอบ และมีความจำเป็นต้องดูว่านายกฯ ก่อนที่จะเข้ามามีสถานะมีเหตุหรือไม่อย่างไร จะไม่สามารถไปยืนยันข้อเท็จจริงว่า นายเศรษฐาขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามเลยคงไม่ใช่ ไม่งั้นจะเป็นการชี้นำสมาชิกรัฐสภามากเกินไป" นายเรืองไกร กล่าว

 

ด้านนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา และรองคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ซึ่งเป็นผู้รับเรื่องแทน กล่าวว่า จะนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมาธิการให้พิจารณา โดยจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง เพื่อให้เกิดข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาการทำหน้าที่ของวุฒิสภาในการโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้งกรรมาธิการ จะเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมาธิการชุดอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป ย้ำว่า สว. มีหน้าที่โดยตรง ในการร่วมเลือกนายกฯ

เมื่อถามว่า อีก 10 กว่าวันที่จะเลือกนายกฯ กรรมาธิการจะ พิจารณาแล้วเสร็จ ทันหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า เงื่อนเวลาเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการให้ได้ข้อเท็จจริงมากที่สุดโดยเร็ว โดยจะมีการทำหนังสือคู่ขนานไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเชิญบุคคลมาชี้แจงโดยเร็ว

ส่วนการแสวงหาข้อเท็จจริงจากภาคเอกชน ขอบเขตของกรรมาธิการมีแค่ไหน นายดิเรกฤทธิ์ บอกว่า ก็ต้องขอข้อเท็จจริงจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย และเป็นประโยชน์กับเขาเอง ก็ควรจะต้องให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน แต่ไม่มีกฎหมายเชิงบังคับว่าให้ทำ แต่นี่คือผลประโยชน์ร่วมกันของผู้ถูกกล่าวหา สว.ที่จะมีข้อมูลในการพิจารณา และเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนในกระบวนการคัดเลือกนายกฯ ที่มีความสมบูรณ์

ส่วนที่เบื้องต้นบริษัทแสนสิริ ชี้แจงว่านายศรษฐา อาจไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายที่ดิน เพราะเป็นแค่ผู้ลงนาม พอจะรับฟังได้หรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ บอกว่า ข้อเท็จจริงทุกฝ่ายรับฟังได้อยู่แล้ว แต่เราอยากฟังความเห็นจากทุกฝ่ายให้ครบถ้วน ซึ่งดีกว่าการไม่รับฟัง ซึ่งการที่นายเรืองไกรนำข้อมูล ข้อเท็จจริง และเสนอแนะให้ติดตามขอข้อมูลจากหน่วยงาน ประโยชน์ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นประโยชน์ และเชื่อว่าจะเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่สุด