เปิดการประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2และข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่คณะผู้ประเมินจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการระบุโจทย์ท้าทาย และเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่

ในช่วง 4 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ 2 เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นวิกฤติสุขภาพและวิกฤติด้านเศรษฐกิจ มีผลทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 79.9 ในช่วงต้นของรัฐบาลเป็นร้อยละ 86.9 เมื่อสิ้นปี 2565 (ก่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้คำจำกัดความใหม่) และทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นจากร้อยละ 41 ในช่วงต้นของรัฐบาลเป็นร้อยละ 61.6 ของ GDP เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลมีโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการและการดำเนินนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล

ประเมินนโยบาย 2 ด้าน 10 นโยบาย ส่งต่อรัฐบาลใหม่

1.ผลงานของรัฐบาลด้านความ “มั่งคั่ง”

การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ต่อเนื่องจากรัฐบาลประยุทธ์ 1 โดยโครงการที่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญมีหลายโครงการ เช่น การพัฒนากำลังคนระดับสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์แม่นยำ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนมายังพื้นที่ EEC โดยรวม ในขณะที่หลายโครงการยังไม่มีความคืบหน้านัก เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve)

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินระหว่างสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2562 และเดิมคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567 ต่อมาเลื่อนการเปิดเป็นปี 2569 และล่าสุดเลื่อนการเปิดไปอีกถึงปี 2571 โดยยังไม่ได้เริ่มการก่อสร้างเลย ซึ่งช้ากว่ากำหนดเดิมไปอย่างน้อย 4 ปี

รัฐบาลใหม่ควรสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ EEC ไปต่อเนื่อง แต่ควรทบทวนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป , เร่งแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC อย่างจริงจัง เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนอย่างรับผิดชอบและสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ควรใช้การพัฒนาพื้นที่ EEC เป็นต้นแบบในการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบในการออกใบอนุญาตต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน และขยายผลไปสู่การปฏิรูปกฎระเบียบในการประกอบธุรกิจของประเทศในวงกว้าง

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้มีลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่อเนื่องจากรัฐบาลประยุทธ์ 1 ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออกและภูมิภาคอื่นๆ แม้ว่าสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะทำให้การดำเนินโครงการมีความล่าช้า ทั้งการอนุมัติโครงการและการก่อสร้าง แต่รัฐบาลก็สามารถผลักดันโครงการบางส่วนให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่เริ่มเปิดให้บริการทั้งสายสีแดงและสายสีเหลือง รวมถึงสายสีชมพูที่กำลังจะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้ และการอนุมัติเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทางได้แก่เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย และบ้านไผ่-นครพนม

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่สามารถผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่สำคัญอีกอย่างน้อย 4 โครงการดังต่อไปนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้

1.การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ซึ่งเกิดความล่าช้ามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างทางช่วงมาบกระเบา-จิระ ซึ่งทำให้เส้นทางรถไฟทางคู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เสร็จสิ้นไปมากแล้วไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ

2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเกิดความล่าช้าในการประมูล นอกจากนี้การดำเนินงานให้เกิดตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วมของระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑลยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าโดยสารราคาแพง และระบบขนส่งมวลชนที่ลงทุนไปไม่ได้ถูกใช้อย่างคุ้มค่า

3.โครงการระบบขนส่งมวลชนในส่วนภูมิภาค ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น รวมทั้งโครงการรถรางในจังหวัดขอนแก่นที่ภาคธุรกิจและเทศบาลหลายแห่งได้พยายามผลักดันมานาน เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในส่วนของงบลงทุน

4.โครงการระบบขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ที่ยังไม่มีการเริ่มต้นก่อสร้างเลย ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เร่งรัดการจัดซื้อหัวรถจักรและขบวนรถเพื่อให้บริการรถไฟสำหรับขนส่งผู้โดยสารและสินค้า และเร่งรัดการออกกฎหมายการขนส่งทางราง เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมให้บริการเดินรถไฟได้ , เร่งแก้ไขปัญหาการประมูลสัญญาสัมปทานสายสีส้ม และเร่งรัดให้เกิดค่าโดยสารร่วมทั้งระบบรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายน้อยลงในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ ควรเร่งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค กระจายอำนาจและสนับสนุนด้านการเงินให้ท้องถิ่นสามารถให้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ของตนได้

การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ประกาศให้ความสำคัญต่อการพัฒนา “เศรษฐกิจดิจิทัล” และ “บริการรัฐบาลดิจิทัล” ทั้งนี้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ปฏิรูปการบริหารจัดการของภาครัฐ และยกระดับทักษะของคนไทย ผลงานที่สำคัญของรัฐบาลประกอบไปด้วยการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับคือ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 และพ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ตลอดจนกฎหมายลำดับรองต่างๆ ซึ่งรวมถึง พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 และพ.ร.ฎ. จัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2566ที่ออกมาในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 2 ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมนัก

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ หนึ่ง พัฒนาบริการรัฐบาลดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ด้วยการบูรณาการบริการของหน่วยงานรัฐทั้งหลายเข้าด้วยกัน โดยยึดประชาชนผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง  สอง เร่งออก พ.ร.บ. เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อให้สามารถกำกับดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างเต็มที่โดยเร็ว  สาม เร่งพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานรัฐให้สามารถให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ประชาชน และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด

การพัฒนาภาคเกษตร
รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ปีที่ 1-3 (พ.ศ. 2562-2565) ระบุว่าการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรมเป็นหนึ่งใน 12 เรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล เช่นเดียวกับรัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมารัฐบาลประยุทธ์ 2 ให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรมากกว่าการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร

รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการยกผลิตภาพของภาคเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางเดียวในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยการนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดแรงงาน เพิ่มผลผลิตและลดการใช้น้ำและทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จจริง , เงินชดเชยจริงน่าจะต่ำกว่าวงเงินงบประมาณ เพราะราคามันสำปะหลัง ปาล์มและข้าวโพดสูงกว่าราคาประกัน นอกจากนี้ยังมีนโยบายคู่ขนานที่ให้สินเชื่อรวบรวมและเก็บสต๊อกแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ และการส่งออก 

การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การประเมินผลนโยบายด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะพิจารณาจาก 2 เป้าหมายหลักคือ การยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยวิเคราะห์จากรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล และการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในระหว่างปี 2562-2566

การยกระดับคุณภาพการศึกษาควรเริ่มจากการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางให้ทันสมัยมากขึ้น เนื่องจากหลักสูตรแกนกลางในปัจจุบันถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2551 หรือผ่านมาแล้วเกือบ 15 ปี จึงค่อนข้างล้าสมัย

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ ประการที่หนึ่ง เร่งปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้อิงกับสมรรถนะโดยเร็ว โดยอาจขยายผลการทดลองนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและถอดบทเรียนเพื่อนำไปใช้ทั่วประเทศ ประการที่สอง ปรับระบบการบริหารทรัพยากรด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน ประการที่สาม ประกาศนโยบายป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนและไม่ยอมรับความรุนแรงในสถานศึกษา ตลอดจนวางกลไกป้องกันการฝ่าฝืนเช่น จัดระบบรับเรื่องร้องเรียน  ประการที่สี่ ปรับปรุงการบริหาร กยศ. ให้มีความยั่งยืนทางการเงินมากขึ้น เช่น ใช้มาตรการสะกิดพฤติกรรม ให้ผู้กู้เงินชำระเงินคืนโดยเร็ว เป็นต้น

2. ผลงานของรัฐบาลด้านความ “ยั่งยืน”

การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
รัฐบาลประยุทธ์ 2 กำหนดให้การต่อต้านทุจริตเป็นวาระแห่งชาติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยงบประมาณด้านต่อต้านทุจริตรวม 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2563–2566 ในขณะที่อันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ของไทยกลับลดลงจากที่ 96 จาก 180 ประเทศในปี 2560 อยู่ที่อันดับ 101 ในปี 2565 จึงกล่าวได้ว่า งบประมาณที่ใช้จ่ายไปไม่สามารถลดการทุจริตอย่างได้ผล

รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีผลงานแก้คอร์รัปชันเป็นรูปธรรม 2 เรื่อง ได้แก่ การปฏิรูปจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส และการ “กิโยตินกฎระเบียบ” (Regulatory Guillotine) ซึ่งเป็นการปฏิรูปกฎระเบียบครั้งใหญ่เพื่อลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่อันเป็นต้นตอสำคัญของคอร์รัปชัน

รัฐบาลใหม่ควรขยายผลข้อตกลงคุณธรรมให้ครอบคลุมโครงการจัดซื้อจัดจ้างในวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าสูง มีความเสี่ยงทุจริตสูงหรือต้องจัดซื้อจัดจ้างอย่างเจาะจง , เร่งสะสางปัญหาที่ค้างคาจากรัฐบาลประยุทธ์2 โดยเร่งปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น ร่าง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีอาญา และออกกฎหมายลูกของ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจโปร่งใสขึ้น และควรเร่งปฏิรูปการใช้งบประมาณของกองทัพให้สามารถตรวจสอบได้

การคุ้มครองทางสังคม
ผลงานที่เด่นชัดที่สุดด้านการคุ้มครองทางสังคม (social protection) ของรัฐบาลประยุทธ์ 2 คือการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 โดยสามารถลดผลกระทบทางลบต่อประชาชนจำนวนมากได้ ดังเห็นได้จากสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.8 ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.3 ในปี 2562 ไม่มากนัก ทั้งที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้การจ้างงานและรายได้ของประชาชนลดลงอย่างมาก โดยรัฐบาลใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการส่งความช่วยเหลือและกระจายเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพกว่าในอดีต

อย่างไรก็ตามหากประเมินจากการริเริ่มนโยบายการให้ความคุ้มครองทางสังคมในระดับโครงสร้างแล้ว อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลประยุทธ 2 ไม่มีความโดดเด่นแต่อย่างใด โดยความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นเล็กน้อยน่าจะเป็นผลงานของหน่วยราชการที่ดำเนินการตามแผนที่มีอยู่แล้วมากกว่าการผลักดันจากฝ่ายการเมือง เช่นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมโดยเพิ่มเงินทดแทนกรณีขาดรายได้จากการทุพพลภาพ และการเพิ่มการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร เป็นต้น

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ ประการแรก ควรจัดสวัสดิการที่ผสมผสานอย่างเหมาะสมระหว่างสวัสดิการเฉพาะกลุ่มและสวัสดิการถ้วนหน้า , เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาความยากจนและให้สวัสดิการแบบมุ่งเป้า และ ควรหลีกเลี่ยงนโยบายที่อาจก่อให้เกิดผลเสียระยะยาวต่อระบบความคุ้มครองทางสังคม เช่น นโยบาย “ขอเลือก ขอคืน และขอกู้” ของรัฐบาลประยุทธ 2 ที่ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถนำเงินกรณีชราภาพออกมาใช้ก่อนบางส่วน ซึ่งผิดหลักการประกันสังคมและจะทำให้ประชาชนสูงอายุไม่มีเงินบำนาญเพียงพอในอนาคต

การแก้ปัญหาแรงงาน
การประเมินนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะเน้น 3 ด้านที่สำคัญคือ ค่าจ้างแรงงาน สวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน และนโยบายแรงงานข้ามชาติในกลุ่มทักษะสูงและกลุ่มทักษะปานกลาง-ต่ำ ซึ่งผลของการดำเนินนโยบายโดยรวมยังไม่ประจักษ์ชัด ทำให้ทั้งศักยภาพและคุณภาพชีวิตของแรงงานไม่แตกต่างจากก่อนที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายดังต่อไปนี้  ประการแรก รัฐบาลควรกำหนดกรอบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายที่ต้องการโดยให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและผลิตภาพแรงงาน และปรับขึ้นอย่างเป็นระยะเช่น ทุกปี หรือทุก 2 ปี เพื่อสร้างหลักประกันว่าแรงงานจะได้รับค่าจ้างในระดับที่เหมาะสม และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำในสถานประกอบการต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีการจ้างงานอย่างไม่เป็นทางการ ตลอดจนอาจพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง

ประการที่สอง รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายในเชิงรุกในการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบเพื่อให้ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมาย  ประการที่สาม รัฐบาลใหม่ควรสานต่อนโยบายการดึงดูดแรงงานต่างชาติทักษะสูงและเร่งรัดให้เกิดผลสำเร็จ ควบคู่ไปกับการกำหนดนโยบายแรงงานต่างชาติทักษะปานกลาง-ต่ำในระยะยาวให้ชัดเจน

นโยบายด้านสุขภาพ
นโยบายสุขภาพของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลก่อนๆ รวมรัฐบาลประยุทธ์ 1 และมีนโยบายบางส่วนที่เสนอและดำเนินการโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่เฉพาะ เช่น สปสช. ที่เพิ่มบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และให้ผู้ป่วยบางโรคสามารถไปรับยาที่ร้านขายยา และเพิ่มทางเลือกในการใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) ที่บ้าน นอกจากนี้รัฐบาลยังคงสนับสนุนนโยบาย medical hub ให้โรงพยาบาลเอกชนรับคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาในประเทศไทย ส่วนนโยบายใหม่ที่เป็นของรัฐบาลนี้เองคือนโยบายกัญชา ที่เริ่มจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ทั่วประเทศในปี 2562 และนำไปสู่การเปิดเสรีกัญชาเมื่อกลางปี 2565 จากภาวะสุญญากาศด้านกฎหมาย จนต้องกลับมากำหนดให้ช่อดอกกัญชาให้เป็นสมุนไพรควบคุมเมื่อปลายปี 2565

รัฐบาลใหม่ควรทบทวนนโยบายกัญชาโดยสร้างกลไกควบคุมที่รัดกุมและโปร่งใส เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อเยาวชน สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้ขับขี่ยานพาหนะ ไม่ให้ได้รับกัญชาจากอาหารโดยไม่รู้ตัว  นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ควรลดการส่งเสริมการนำเข้าผู้ป่วยจากต่างประเทศให้มารักษาพยาบาลในประเทศไทย หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาระงานของบุคลากรด้านสุขภาพในภาครัฐให้ลุล่วงไปได้ ที่สำคัญ รัฐบาลใหม่ควรยกระดับศักยภาพของระบบสุขภาพของประเทศในระยะยาว

การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
การประเมินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะพิจารณาจาก 2 เรื่องหลักคือ นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ให้คำมั่นของประเทศไทยในที่ประชุม COP26 เมื่อปี ค.ศ. 2021 โดยประกาศเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 และจะเร่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution: NDC) จากการลดการปล่อยลงร้อยละ 20-25 เป็นร้อยละ 30-40 เมื่อเทียบกับแนวโน้มการปล่อยตามปกติภายในปี ค.ศ. 2030

รัฐบาลใหม่ควรมีนโยบายดังต่อไปนี้ ประการแรก ควรเร่งนำกลไกราคาคาร์บอนมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นภาษีคาร์บอนหรือตลาดคาร์บอนภาคบังคับ ประการที่สอง ควรเร่งปลดล็อคกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการเปิดให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบ peer-to-peer ประการที่สาม ควรสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในราคาที่เหมาะสม ประการที่สี่ ควรปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เข้มข้นมากขึ้น ทั้งในส่วนของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสนับสนุนการปรับตัวของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ประการที่ห้า ควรเร่งสร้างความตระหนักรู้ต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ