"ข่าวช่อง 8" ขอสรุปให้เข้าใจง่ายๆ กรณีที่ "กระทรวงมหาดไทย" ปรับหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 จากจ่ายแบบถ้วนหน้า เป็นแบบมีเงื่อนไข จะส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างไรบ้าง ?
กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาทันที จากกรณีที่ “กระทรวงมหาดไทย” ปรับหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2566 ซึ่งการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับผู้สูงอายุในวันนี้และในอนาคตอย่างไร “ข่าวช่อง 8” ขอสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ดังต่อไปนี้
.
1. หลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ก่อนหน้านี้ จะใช้ระบบ “จ่ายแบบถ้วนหน้า” ตามขั้นบันได นั่นก็หมายความว่า ผู้ที่มีอายุ 60 ขึ้นไปทุกคนจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยไล่เรียงตามลำดับ
.
อายุ 60 – 69 ปี ได้ 600 บาทต่อเดือน
อายุ 70-79 ปี ได้ 700 บาทต่อเดือน
อายุ 80-89 ได้ 800 บาทต่อเดือน
อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้ 1,000 บาทต่อเดือน
.
2. สาระสำคัญของ “หลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566” หรือฉบับบล่าสุดนี้ ได้มีการเพิ่มเติมในหมวด 1 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ข้อ 6 (4) ซึ่งระบุว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด”
.
ดังนั้นเมื่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับล่าสุดนี้มีผลบังคับใช้ จากเดิมที่ผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับสวัสดิการดังกล่าว จะเหลือเพียงผู้สูงอายุที่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้นเท่านั้น
.
3. แม้การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะมีบทเฉพาะกาลระบุว่า ผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียน และรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป แต่ก็มีคำถามตามมาว่า ผู้สูงอายุเหล่านี้ยังจะได้รับเงินเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุหรือไม่
.
4. ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบจาการปรับหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฯ อย่างเต็มๆ ก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต โดย “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส. พรรคก้าวไกล ผู้เปิดประเด็นดังกล่าว ได้ระบุว่า “หลักเกณฑ์นี้จะส่งผลกระทบกับสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะทยอยอายุครบ 60 ปีในอนาคต
.
“นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่แต่เดิมพอจะมีรายได้จุนเจือตนเองบ้าง ซึ่งตามหลักเกณฑ์ใหม่จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ หากในเวลาต่อมา รายได้ที่เคยดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ เกิดหดหายไป ผู้สูงอายุคนนั้นจะไปติดต่อขอรับเบี้ยยังชีพได้ที่ไหนอย่างไร
.
“ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้านคน ทราบข่าวมาว่า จะมีการใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจน ในการพิจารณาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น โดยผู้สูงอายุอีก 6 ล้านคน จะถูกรัฐลอยแพ
.
“ที่สำคัญ คือ เราก็รู้อยู่แล้วว่าฐานข้อมูลของบัตรคนจนนั้น มีความมั่วอยู่พอสมควร มีคนจนถึง 46 % ที่ไม่ได้รับบัตร ในขณะที่ 78 % ของคนที่ถือบัตร เป็นคนที่ไม่ยากจนแต่อยากจน ข้อมูลตกหล่นมากมายแบบนี้ แล้วจะเอามาใช้เป็นเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างไร”
.
5. และ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ยังได้ตั้งข้อสงเกตว่า การปรับหลักเกณฑ์ฯ จะเข้าข่ายขัด “พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ” หรือไม่
“เพราะใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ มาตรา 11 (11) กำหนดว่า การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุจะต้องจ่ายเป็นรายเดือน โดยต้องจ่ายให้ทั่วถึง และเป็นธรรม แต่การบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน อาจเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ”
.
6. นอกจากนี้ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ก็ได้ออกมาประกาศคัดค้านการปรับหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นการทำลายหลักการ “รัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า”
“อีกทั้งลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทย ถ้าอยากได้เงินเพียงเดือนละ 600-1,000 บาทก็ต้องไปยืนยันตัวตนว่าเป็นคนจน ทั้งที่เป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับการดูแลจากรัฐ”
.
7. “ทนายเกิดผล แก้วเกิด” ก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ออกมาฟาดการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยระบุว่า “การตัดงบเบี้ยคนชรา และเพิ่มหลักเกณฑ์มากขึ้น เพราะงบประมาณมีไม่พอ น่าจะแก้ปัญหาไม่ถูกจุดนะครับ
.
“คุณต้องไปตัดงบ ในส่วนที่ไม่จำเป็น หรือเกินความจำเป็น เช่น การซื้อเรือดำน้ำ งบเงินตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ เช่น เงินเดือน สว. เป็นต้น ถึงจะถูก ไม่ใช่มาตัดงบเบี้ยยังชีพคนแก่”
.
8. ล่าสุด “รัชดา ธนาดิเรก” รองโฆษกรัฐบาล ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า “การปรับหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาลมีปัญหาเรื่องการจัดหารายได้ แต่สืบเนื่องจากประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ห้าหมื่นล้านต่อปี เพิ่มเป็นแปดหมื่นล้าน และแตะเก้าหมื่นล้านแล้ว ในปีงบประมาณ 2567
.
“ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยแก่ผู้สูงอายุ เฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูง หรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพื่อพุ่งเป้าช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า ก็จะการสร้างความยั่งยืนทางการคลังได้ในระยะยาว”
.
อ้างอิง
1. ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566
2. FB : Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
3. FB : คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan
4. FB : ทนายเกิดผล แก้วเกิด
5. การให้สัมภาษณ์ของ รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี