ไม่ให้กระบวนการประชาธิปไตยบิดไปกว่านี้! ก้าวไกลเตรียมเสนออีกครั้ง ทบทวนมติสภาห้ามเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ
วันนี้ 17 ส.ค. 66 นายรังสิมันต์ โรม ได้โฟสต์ผ่านเฟซบุ๊กกรณีเตรียมเสนออีกครั้ง ทบทวนมติสภาห้ามเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ โดยระบุข้อความว่า
ตามที่เมื่อวานนี้ (16 สิงหาคม 2566) ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากรณีที่รัฐสภามีมติตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภาห้ามเสนอญัตติซ้ำในการเสนอชื่อคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในรอบที่ 2 โดยอ้างเหตุผลที่ไม่รับคำร้องว่าเพราะกรณีนี้ (เป็นกรณีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213) ผู้ร้อง (ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งรับคำร้องมาจากนักวิชาการ 2 คนอีกทีหนึ่ง) ไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง (ในกรณีนี้คือตัวคุณพิธาเอง) จึงไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องได้
ผมขอชี้แจงให้เข้าใจตรงกันก่อนว่าในกรณีเมื่อวานนี้ ศาลรัฐธรรมนูญนั้น "ไม่รับคำร้อง" ซึ่งไม่ได้หมายความว่าศาล "ตัดสิน" แล้วว่าที่รัฐสภามีมติเรื่องห้ามเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ซ้ำนั้นถูกต้องหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงกันได้
อย่างไรก็ตาม ทั้งตัวคุณพิธาและพรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะไม่ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเองอีกครั้ง เพราะเราไม่เห็นด้วยกับการสร้างบรรทัดฐานให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นเสียงสูงสุดชี้ขาดอำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นๆ ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในกรณีนี้ที่เป็นกิจการของรัฐสภาเองแท้ๆ จึงควรต้องแก้ไขกันภายในรัฐสภาเอง
โดยก่อนหน้านี้ผมและพรรคก้าวไกลได้เสนอญัตติต่อประธานรัฐสภาไปแล้วว่าขอให้รัฐสภาทบทวนการตีความข้อบังคับฯ ในเรื่องดังกล่าว เป็นญัตติที่มีผู้รับรองถูกต้องครบถ้วนแล้ว ซึ่งเมื่อถึงวาระการลงมติเลือกนายกฯ ครั้งถัดไป (ที่มีข่าวว่าจะเป็นวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นี้) เราจะเสนอประธานรัฐสภาให้ที่ประชุมมีการลงมติเรื่องนี้
ทั้งนี้ผมขอยืนยันด้วยว่าญัตติที่พวกเราเสนอไปนั้นไม่ได้เป็นการพยายามตีรวนให้เกิดความยุ่งยาก หรือพยายามเอาคุณพิธากลับมาอีกครั้งให้ได้แต่อย่างใด เพราะในตอนนี้ 8 พรรคร่วมได้แยกย้ายกันไปแล้ว การที่คุณพิธาจะกลับมามีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. เกินครึ่งสภาอีกหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่แน่นอน ส่วนการอภิปรายและลงมติตามญัตติขอทบทวนที่พวกเราได้เสนอไปนั้นก็ไม่ได้ใช้เวลามากจนกระทบการเลือกนายกฯ ให้เกิดความล่าช้าแต่อย่างใดเลย
สิ่งที่พวกเราต้องการคือเพื่อให้สภาแก้ไขความผิดพลาดที่ตัวเองเคยทำไว้ และกลับมาสู่แนวทางที่ถูกต้องอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นเพื่อประโยชน์ต่อแคนดิเดตนายกฯ จากทุกพรรคที่รวมเสียง ส.ส. เกินครึ่งสภาได้ มิเช่นนั้นแล้วเท่ากับเราปล่อยให้ ส.ว. บางคนเข้ามามีอำนาจขัดขวางแคนดิเดตนายกฯ ที่พวกเขาไม่ต้องการ บังคับให้แคนดิเดตเหล่านั้นหมดสิทธิถูกเสนอชื่อใหม่ไปเรื่อยๆ และกลายเป็นการวางหมากเปิดทางให้กับคนที่ยึดโยงกับประชาชนน้อยลงไปๆ เรื่อยๆ นั่นเอง ดังนั้นอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของสภา อะไรที่จะช่วยให้กระบวนการประชาธิปไตยไม่บิดเบี้ยวไปกว่านี้ เรามาช่วยกันแก้ไขเถิดครับ