"วันนอร์" เผย"มติวิป 3 ฝ่าย" เคาะกรอบเวลาโหวตนายกฯ 22 ส.ค. นี้ ให้ สส.-สว. อภิปรายรวม 5 ชั่วโมง ก่อนเริ่มลงมติ 15.00 น. ชี้ ผู้ถูกเสนอชื่อไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ อ้าง รธน.ไม่ได้กำหนดไว้ ส่วนญัตติด่วนทบทวนเสนอชื่อ"พิธา" ซ้ำไม่ได้ เตรียมปัดตกในที่ประชุม หลังมติวิปเห็นว่าไม่ควรทบทวน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภากล่าวภายหลังประชุม 3 ฝ่ายว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 22 สิงหาคม เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีจะเริ่มขึ้นในเวลา 10.00 น. และจะใช้เวลาในการอภิปรายไม่เกิน 5 ชั่วโมง แบ่งเป็น สว. 2 ชั่วโมง สส.ไม่เกิน 3 ชั่วโมง คาดว่า จะลงมติได้ในเวลา 15.00 น. ซึ่งจะเสร็จสิ้นในเวลา 17.30 น.โดยประมาณ
ส่วนผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับแจ้งจากฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าให้ต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ อีกทั้งข้อบังคับก็ไม่ได้กำหนดไว้ รวมทั้งที่ประชุมของคณะกรรมาธิการที่ร่างข้อบังคับดังกล่าว ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ว่า ไม่ต้องให้มาแสดงวิสัยทัศน์ นอกจากนี้ ในการประชุมรัฐสภาเมื่อปี 2563 ก็มีมติว่า ไม่จำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์ ดังนั้น ประธานรัฐสภาในขณะนั้น จึงยืนยัน ว่าต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ คือ เมื่อมีชื่อของบุคคลภายนอก ก็ไม่จำเป็นต้องให้มาแสดงวิสัยทัศน์
สำหรับวาระการประชุมในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ นายวันนอร์ กล่าวว่า มีเรื่องที่เลื่อนจากการประชุมครั้งที่แล้ว คือ ญัตติด่วนของนายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล ที่เสนอขอให้มีการทบทวนมติเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซ้ำไม่ได้ โดยจะให้นายรังสิมันต์ ได้เสนอเจตนารมณ์ของการเสนอญัตติ แต่ก็เห็นด้วยว่าในข้อบังคับ ข้อ 151 ไม่สามารถนำมาทบทวนได้ ซึ่งหากนำมาทบทวนจะเกิดปัญหา ว่า มติของรัฐสภา สามารถทบทวนได้เรื่อยๆ จะทำให้เกิดปัญหาต่อความน่าเชื่อถือต่อมติรัฐสภา ดังนั้น ที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เห็นว่า เมื่อได้มีการเสนอเรื่องนี้ ขอให้ใช้อำนาจของประธานรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 และ ข้อบังคับที่ 5 และ 151 ไม่รับเป็นญัตติด่วน แต่นำมาเสนอได้ เพราะจะมีผลกระทบต่อญัตติที่ลงไปแล้วและญัตติอื่นๆถ้ามีการทบทวนก็จะมีปัญหาขึ้นมาใหม่ อีกทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บอกให้สภาต้องทบทวนในสิ่งที่พิจารณาไปแล้ว ดังนั้น ก็จะดำเนินการตามนี้