"สมชาย" จี้ "เพื่อไทย" บอกให้ชัดส่งใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ ยัน "รทสช-พปชร." ร่วมรัฐบาลไม่เกี่ยวเสียง สว.ทุกคนมีเอกสิทธิ์คิดเองได้ ปัดกระแสไม่โหวต "เศรษฐา" เพราะรอชื่อ "บิ๊กป้อม-อนุทิน"
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย ที่สภาผู้แทนราษฎร ว่า ในการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ วุฒิสภาได้เวลาอภิปราย 2 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับตอนโหวตให้ความเห็นชอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ซึ่ง สว.ก็จะใช้เวลานี้ ในการอภิปรายทุกเรื่องของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ในที่ประชุมวันนี้ ตนได้ถามพรรคเพื่อไทยว่า สรุปแล้วจะเสนอชื่อใคร แต่พรรคเพื่อไทยยังพูดไม่ชัดเจน บอกเพียงว่าจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 สิงหาคม เบื้องต้นตอนนี้ยังเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน ตนเลยบอกว่า "ตนได้ยินเป็นชื่ออื่น" จึงมองว่าพรรคเพื่อไทยควรทำเรื่องนี้ให้ละเอียดและชัดเจน
ส่วนความเห็นของ สว.ในการให้ความเห็นชอบนายเศรษฐานั้น นายสมชาย ยอมรับว่า สว.เสียงแตกเป็นเรื่องปกติ ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคนอยู่แล้ว
สำหรับกรณีที่พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐประกาศร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยนั้น ไม่ส่งผลให้ สว.เลิกแตกแถวได้ เพราะ สว.มีอิสระอยู่แล้วทุกคน ทุกคนจะต้องพิจารณาตามคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ถูกเสนอชื่อ
พร้อมปฏิเสธแนวคิดที่ สว.ไม่ให้ความเห็นชอบนายเศรษฐา เพื่อได้เสนอชื่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ หรือนายอนุทิน ชาญวีรกุลหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป นายสมชาย ยืนยัน ไม่มีใครคิดไปไกลขนาดนั้น แม้นายเศรษฐา ไม่ได้รับความเห็นชอบ พรรคเพื่อไทยก็ยังมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่น พร้อมยืนยัน สว.ทำหน้าที่ของตนเองตามปกติและอยากให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์และตอบข้อซักถามของสมาชิก หากไม่มาก็ควรมีการแถลงอย่างเป็นทางการ แต่ถ้ามาก็ถือว่าเป็นโอกาสอันดีของนายเศรษฐาเอง แต่ในที่ประชุมวันนี้ประธานได้แจ้งว่าไม่มีในข้อบังคับ ว่าจะต้องให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมรัฐสภา แต่หากมีสมาชิกซักถามผู้ที่ถูกซักถามก็สามารถ ลุกขึ้นอภิปรายได้ จึงถึงเป็นข้อดีถ้าเจ้าตัว แต่หากไม่มา กมธ.ของสว. ก็สามารถซักถามไปยังผู้ที่ถูกเสนอชื่อได้ทุกคนเช่นเดียวกัน ซึ่งในสภาข้อบังคับอาจจะไม่ได้กำหนดไว้ ซึ่งเบื้องต้นนายเศรษฐาไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม
ส่วนความเหมาะสมของนายเศรษฐานั้น ตนขอไม่วิพากษ์เป็นรายบุคคล เนื่องจากไม่เป็นธรรมกับตัวนายเศรษฐา
"วันนี้ ต้องเอาให้ชัดเจนเพราะการตั้งรัฐบาล อ้างว่าเป็นการสลายขั้ว สว.ไม่ได้ขัดข้องอะไร ยิ่งตอนนี้พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดในการผลักดันเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สว.บางส่วนสงสัยว่าทำไมต้องล้มรัฐธรรมนูญทำไมถึงไม่ใช้วิธีการแก้ไขฉบับเดิมที่มีอยู่ เพราะการยกร่างฉบับใหม่ ต้องมีการทำประชามติถึง 3 ครั้ง ใช้เงินเกือบ 4,000 ล้านบาท และต้องเข้าใจว่าสว.ก็มาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากเห็นว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาตรงไหนก็เสนอแก้ไขจะดีกว่า แต่เรื่องนี้จะส่งผลให้สว.ไม่ให้ความเห็นชอบนายเศรษฐาหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ แต่ส่วนตัวกังวลเรื่องนี้ " นายสมชาย ระบุ
ส่วนการโหวตนายเศรษฐา นายสมชาย กล่าวว่า ตนไม่ได้บอกว่าจะโหวตหรือไม่โหวตให้ ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบตามปกติ ความประพฤติพฤติกรรม จริยธรรม เหมือนกับองค์กรอิสระ ถ้าไม่มีปัญหาเราก็โหวตให้ และองค์ประกอบของนโยบายร่วมของทุกพรรค นำพาประเทศไปได้เราก็เห็นด้วย นำพาประเทศไม่ได้เราก็ไม่เห็นด้วย
เมื่อถามว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่า หากครั้งนี้ สว.ไม่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี สว.จะกลายเป็นอุปสรรค ต่อการเดินหน้าประเทศหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า เป็นวาทกรรมที่กล่าวหาอยู่แล้ว สส.ยังเคยจัดตั้งรัฐบาล 377 เสียง สมัยนายทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี พอจัดไม่ได้ก็มาอยู่ที่สว.ตนคิดว่าไม่มีปัญหาเพราะสว.ก็ชัดเจนตรงไปตรงมา และไม่ได้กังวลถ้าใครเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีเราก็โหวตให้ทุกคนต้องลุกขึ้นขานชื่อให้ประชาชนรับทราบอยู่แล้ว ไม่มีวัตถุประสงค์จะไปขัดขวางใคร
พร้อมกันนี้ นายสมชาย ยังเปิดเผยว่า นาย รังสิมันต์ โรมได้ขอหารือในที่ประชุมวิป3ฝ่าย เพื่อขอให้พิจารณาญัตติ ทบทวนมติเมื่อวันที่19 กรกฎาคม ซึ่งประธานรัฐสภายินดีที่จะเปิดโอกาสให้นายรังสิมันต์ เสนอญัตติดังกล่าวได้ แต่ส่วนตัวหากมีการเสนอจริงก็ขอคัดค้านเพราะมองว่าญัตติดังกล่าวประธานได้ใช้อำนาจในการชี้ขาดไปแล้ว อีกทั้งเมื่อมีมติไปแล้วก็ไม่ควรนำกลับมาทบทวนใหม่ มิฉะนั้นก็จะทำอย่างนี้ไปได้เรื่อยๆ