"เสรี" ยังไม่ตัดสินใจโหวต "เศรษฐา" แนะมาชี้แจงข้อครหาต่อรัฐสภา ยอมรับ สว.กังวลนโยบายเลือกตั้ง สสร.รื้อ รธน. - ไม่ยืนยัน 22 ส.ค.ได้นายกฯ คนใหม่
วันที่ 21 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคำร้องที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัตินายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ที่ถูกนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ กล่าวหาหลบเลี่ยงภาษีการซื้อขายที่ดินว่า ขณะนี้ กรรมาธิการฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบคำร้อง โดยได้นำหลักฐาน และเอกสารที่นายชูวิทย์ เปิดเผยต่อสาธารณชน และจากเจ้าหน้าที่กรมที่ดินมาประกอบการพิจารณาอยู่ และเชื่อว่า การเสียภาษีการซื้อขายที่ดินนั้น เจ้าหน้าที่สรรพากร จะมีการตรวจสอบบ้างแล้ว จึงขออย่าวิตกกังวล และขอให้รอการพิจารณาของกรรมาธิการฯ
นายเสรี ยังยอมรับด้วยว่า จากข้อร้องเรียนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับนายเศรษฐานั้น มีผลต่อการตัดสินใจของ สว.แน่นอน ประกอบกับพฤติกรรมที่ผ่านมา คุณสมบัติ และจริยธรรม รวมถึงเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านมาด้วย โดยยังไม่ขอสรุปว่า ท้ายที่สุดในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ นายเศรษฐา จะได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะ สว.ยังมีความเห็นที่หลากหลาย การตัดสินใจต่าง ๆ จะเกิดขึ้นในที่ประชุมรัฐสภา
ส่วนจะมีเงื่อนไขใดเพิ่มเติมที่ทำให้ สว. ไม่ลงมติให้กับนายเศรษฐาหรือไม่นั้น นายเสรี ระบุว่า สว.ส่วนหนึ่ง ยังกังวลต่อนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคเพื่อไทย ที่จะให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เพราะหากมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เกิดขึ้น ก็พอที่จะคาดการณ์ได้ว่า กลุ่มใดจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งหากมาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า จะเป็นการแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ และอาจจะกระทบต่อสถาบัน องค์กร ความมั่นคงของประเทศได้ ซึ่งการตัดสินใจของ สว.จะต้องห้ามแตะต้องการแก้ไขหมวด 1 รูปแบบรัฐและหมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงยังมีประเด็นเรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และจริยธรรมของนายเศรษฐาด้วย
นายเสรี ยังเปิดเผยด้วยว่า ส่วนตัวยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะลงมติไปในทิศทางใด เพราะจะต้องรอดูเหตุผล และข้อมูลต่าง ๆ พร้อมเห็นว่า นายเศรษฐา ควรจะมาแสดงวิสัยทัศน์ และตอบข้อซักถามต่างๆที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง เพราะแม้ข้อบังคับการประชุมจะไม่ได้ระบุ แต่ประธานรัฐสภาก็สามารถอนุญาตให้นายเศรษฐาเข้ามาชี้แจงได้ แต่ในเมื่อ พรรคเพื่อไทย จะไม่ให้นายเศรษฐามาชี้แจง และนายเศรษฐา ก็ไม่ประสงค์ที่จะมาชี้แจง ก็ถือเป็นสิทธิ์ของนายเศรษฐา