ประเด็นทางการเมือง โดยวันนี้ พรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมแกนนำพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล รวม 11 พรรค รวมเสียง สส. 314 เสียง แถลงข่าวร่วมกันที่รัฐสภา ก่อนที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี รอบ 3 ในวันที่ 22 ส.ค.นี้
ขณะเดียวกัน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศจะเดินทางกลับประเทศไทย ในวันที่ 22 ส.ค.นี้เช่นกัน
ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก เปิดเผยกับทีมข่าวช่อง8ว่า คือคุณทักษิณ ประกาศมาหลายครั้งแล้วเรื่องจะกลับประเทศไทย ถ้านับครั้งนี้ก็คือครั้งที่21 จึงทำให้ไม่มั่นใจว่าในครั้งนี้จะกลับจริงหรือไม่ แต่ครั้งนี้ได้มีการเตรียมการ เตรียมข้าวกล่องเตรียมน้ำที่จะมาให้ผู้ที่สนับสนุนคุณทักษิณ ที่มารอรับคุณทักษิณ มันก็ดูเอิกเกริก แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทำให้มั่นใจได้ว่าในวันพรุ่งนี้จะได้เห็นคุณทักษิณมายืนที่สนามบินดอนเมืองหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้จะเห็นได้ว่าการสื่อสารกับการกระทำมันไม่สอดคล้องกัน จึงทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าคุณทักษิณจะกลับมาในวันพรุ่งนี้ได้
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เดินทางมาที่รัฐสภา โดยระบุมีการนัดหารือของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล จากนั้นจะมีการแถลงข่าว ส่วนจะเป็นการนั่งร่วมกันทุกพรรคหรือไม่ อยู่ที่พรรคแกนนำจะกำหนดรูปแบบว่าเป็นอย่างไร
ส่วนกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับไทย 22 ส.ค. ซึ่งตรงกับวันโหวตนายกรัฐมนตรี มีนัยอะไรหรือไม่
นายอนุทิน กล่าวว่า "คงประจวบเหมาะกันพอดี และขออย่าไปเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันเลย"
ส่วนความเห็นของ นายสมชาย แสวงการ สว. ให้สัมภาษณ์ ถึงการที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับประเทศไทยและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ว่า ตนเห็นด้วย ถ้าเข้าสู่ระบบราชทัณฑ์ไปรับโทษ และจะไปขอพระราชทานอภัยโทษอย่างไร ก็เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ที่สังคมก็จะรู้สึกว่าเดินหน้าไปได้
ส่วนที่นายทักษิณ กลับมาในวันโหวตนายกฯ มีนัยทางการเมืองอะไรหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่มีนัย เพราะนายทักษิณ สามารถกลับได้อยู่แล้ว เพราะเป็นคนไทย เพียงแต่ที่ผ่านมา บอกว่าจะกลับหลายครั้งก็ไม่ทำ ซึ่งมองว่าไม่มีผลอะไรกับการโหวตนายกรัฐมนตรี ในสภาก็ว่ากันไป นายทักษิณ ยอมเข้ากระบวนการก็ถือว่าทุกอย่างประนีประนอม ถือว่าสลายขั้วอย่างแท้จริง
เมื่อถามว่ามีข่าวไปปิดดีลที่สิงคโปร์ นายสมชาย กล่าวว่า ก็ได้ข่าวว่า มีคนบอกว่าคุยกันที่สิงคโปร์ก็มีจริง ก็รอฟังแถลงในบ่ายวันนี้ว่าที่คุยกันมาจะจบอย่างไร
ภายหลังจาก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศยุติบทบาทการเป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เหตุผลคือ ไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยไปรวมกับพรรค 2 ลุง โดยจะขอกลับมาขายข้าวแกงเต็มตัว
ทีมข่าวช่อง 8 ได้ไปที่ร้านอาหาร “เยี่ยมใต้” ย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี ของนายณัฐวุฒิ มีลูกค้าประชาชนเข้ามาใช้บริการอยู่ไม่ขาด
นายณัฐวุฒิ เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะขอกลับมาช่วยภรรยาดูแลร้านอาหารข้าวแกงมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้สนใจแต่งงานการเมืองจนลืมงานในครอบครัว แต่พอได้ลองกลับมาทำ ก็พบว่ามีความท้าทาย ไม่ต่างจากงานการเมืองเลย ที่ผ่านมาเคยทดลองเป็นพนักงานเสิร์ฟให้ศรีภรรยาแล้ว ก็สนุกไม่น้อย
ทีมข่าวช่อง 8 ขอให้แนะนำเมนูเด็ดของร้านเยี่ยมใต้ ที่ใครไปต้องชิม เหมือนเครื่องดื่ม “ช็อกมิ้นต์” ที่พรรคเพื่อไทย
นายณัฐวุฒิ บอกว่า "งั้นมาร้านผมก็ต้องมีข้าวยำเพราะมันคลุกรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ก็เอามารวมที่เดียวกันได้หมด จนเป็นเหมือนข้าวยำน้ำบูดู เมนูประจำร้านของผม" พร้อมกับหัวเราะเหมือนสื่อความหมายเป็นนัย
จากการตรวจสอบพบว่า นายณัฐวุฒิเริ่มเล่นการเมือง เข้าสังกัดพรรคชาติพัฒนา และรับสมัครเลือกตั้งในปี 2544
และเข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย ร่วมทีมปราศรัยล่วงหน้าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และได้รับแต่งตั้งเป็น 1 ในคณะทำงานโฆษกพรรคไทยรักไทย
โดยในปี2549 ได้รับเลือกเป็น สส.พรรคไทยรักไทย แต่เกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
ออกมาปราศรัย ที่ท้องสนามหลวง ร่วมจัดกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)
หลังรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ สิ้นสุด นปก.เปลี่ยนชื่อเป็น แนวร่วบประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
ปี 2554 ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ปี 2555 รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ 2 และ รมช.พาณิชย์ ในรัฐบาล น.ล.ยิ่งลักษณ์ 3
ปี 2554 ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยลำดับที่ 19
ปี 2562 ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ แต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค
15 มิ.ย.2565 กลับเข้าพรรคเพื่อไทย ตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย
21 ส.ค.2566 ประกาศยุติบทบาทผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ด้วยเหตุผลการร่วมรัฐบาลของเพื่อไทยกับ 2 พรรคลุง
นอกจากนี้ ยังมีนางสาวทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ประกาศลาออก พร้อมขอบคุณพรรคเพื่อไทยที่ให้โอกาสทำงานมายาวนาน
ส่วนฟากฝั่งสว. อย่างเช่น นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ โดยยืนยันว่า เสียงที่พรรคเพื่อไทยต้องการประมาณ 60 เสียง ซึ่งหากตัด 13 คนที่โหวตให้เดิม จะเหลือเพียง 45 เสียง ตอนนี้เกินไปมากแล้ว เชื่อว่าน่าจะได้ถึง 190 เสียง เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่สว. จะไม่ให้ความเห็นชอบ เนื่องจากตอนนี้พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ ก็เข้าร่วมรัฐบาลแล้ว หากไม่ให้ความเห็นชอบจะตอบสังคมว่าอย่างไร และเท่าที่พูดคุยกับ สว.ตั้งแต่เช้ามา ทุกคนอยากให้ประเทศเดินหน้า ไม่มีใครอยากขวางกั้น เป็นจระเข้ขวางคลองหรือเป็นอุปสรรคในการโหวตครั้งนี้ ดังนั้นไม่ว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอใครเป็นนายกฯ สว.จะโหวตให้
ส่วน นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. กล่าวถึงทิศทางการโหวตนายกรัฐมนตรีของสว.ในวันที่ 22 ส.ค.ว่า ยังยืนยันในหลักการจะไม่โหวตให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะยังข้องใจเรื่องคุณสมบัติความโปร่งใสที่ถูกกล่าวหาเรื่องการเลี่ยงภาษีซื้อขายที่ดินในหลายกรณีที่นายเศรษฐายังชี้แจงไม่ชัดเจน ก็ถือเป็นสีสันประชาธิปไตยที่จะให้สว.เห็นพ้องไปในทางเดียวกันทั้งหมดไม่ได้