"วันนอร์" ของขึ้น! หลัง "ธีรัจชัย" กล่าวหารู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมาก ล้มโหวต "พิธา" ซ้ำ 2 หลังบานปลาย "โรม" จึงยอมถอยถอนญัตติทบทวนมติรัฐสภาออก
การประชุมรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมในวันนี้ (22 ส.ค.66) มีวาระสำคัญในการพิจารณาบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 แต่ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ประธานรัฐสภา ได้ชี้แจงสาเหตุการสั่งเลื่อนการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาทบทวนมติรัฐสภา ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ห้ามเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ซ้ำได้ในสมัยประชุมนี้ว่า เนื่องจากระหว่างนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยมติของรัฐสภาไปแล้ว จึงกังวลว่า หากรัฐสภาเปิดให้มีการพิจารณา ก็อาจจะส่งผลกระทบ และละเมิดต่อกระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงสั่งเลื่อนการประชุมดังกล่าวออกไป และหากในวันนี้ (22 ส.ค.) นายรังสิมันต์ ยังคงติดใจก็สามารถเสนอใหม่ได้
โดยนายรังสิมันต์ ได้ขอเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อขอให้ที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณาทบทวนมติรัฐสภา ในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีนักวิชาการด้านกฎหมาย ออกมาแสดงความคิดเห็นว่ามติของรัฐสภาดังกล่าวไม่ถูกต้อง ที่ทำให้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดว่า จะไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำไม่ได้ และไม่ควรให้การตีความในลักษณะดังกล่าว กลายเป็นบรรทัดฐานในอนาคต พร้อมย้ำว่า การเสนอให้รัฐสภาทบทวนมติรัฐสภานั้น ไม่ใช่ความพยายามของตนเองที่จะทำให้ชื่อของนายพิธา กลับมาเสนอซ้ำในรัฐสภาได้ เพราะพรรคก้าวไกล ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะเสนอบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเดิมนั้น ได้แยกย้ายกันไปหมดแล้ว
จากนั้นประธานรัฐสภา ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 วินิจฉัยไม่รับญัตติด่วนด้วยวาจาที่นายรังสิมันต์ เสนอมาในวันนี้ (22 ส.ค.) เพราะเห็นว่า การใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ประกอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้น เป็นไปโดยชอบแล้ว พร้อมชี้แจงว่า ฝ่ายกฎหมาย เห็นว่า ไม่ควรให้มีการทบทวนมติดังกล่าว เนื่องจาก จะทำให้การตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งรวมถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย และพร้อมเคารพความเห็นชอบนายรังสิมันต์ และความคิดเห็นของสังคมด้วย
ทำให้ สส.ของพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีคำวินิจฉัยใด ๆ และมีเพียงคำสั่งไม่รับคำร้องเท่านั้น โดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นประท้วงถึงการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา ที่ไม่เป็นกลาง และไม่กล้าใช้อำนาจประธานรัฐสภาชี้ขาด และรู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมากของวุฒิสภา และพรรคขั้วรัฐบาลเก่า
จนทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ เรียกร้องให้นายธีรัจชัย ถอนคำพูดที่กล่าวหาตนเอง รู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมาก พร้อมยืนยันว่า ตนเองก็ไม่ทราบว่า เสียงข้างมากในการลงมติดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางใด และไม่มีใครประท้วงในที่ประชุมว่า ประธานรัฐสภา จะให้เสียงข้างมากลงมติ ก่อนที่นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์ ให้นายธีรชัยถอนคำพูด มิเช่นนั้น สังคมก็จะเข้าใจตนเองผิดพลาด และขอให้มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง และซื่อสัตย์ซึ่งกันและกัน ก่อนที่นายธีรัจชัย จะยอมถอนคำพูด
"ไม่อนุญาต เพราะคุณกล่าวหาผมรุนแรง ประธานจะรู้เห็นเสียงข้างมากได้อย่างไร ผมยังนึกเลยว่าเสียงข้างมากจะไม่เห็นด้วยด้วยซ้ำไป แต่เมื่อมีการเสนอญัตติเข้ามาก็ต้องพิจารณาตามนั้น คุณธีรัจชัยต้องเข้าใจ เราต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ผมซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ถ้าไม่ถอนประเด็นนี้ ผมเสียหายและคนข้างนอกมองว่าประธานรู้เห็นเป็นใจ ถ้าไม่ถอน ผมไม่พูดนั่งลงครับ ไม่เดี๋ยวครับ นั่งลง จะนั่งลงไหม จะนั่งลงไหม คุณกล่าวหา คุณไม่ถอนไม่ได้ คำสั่งของประธานถือว่าเด็ดขาด การให้ถอนให้นั่งถือว่าเด็ดขาด ถ้าถอนผมให้นั่ง ถ้าไม่ถอนผมไม่ให้นั่ง" วันมูหะมัดนอร์ กล่าว
หลังการปะทะคารมณ์กัน ระหว่างนายวันมูหะมัดนอร์ กับนายธีรัจชัย เสร็จสิ้น นายรังสิมันต์ ได้ลุกขึ้น ขอถอนญัตติด่วนด้วยว่าจาดังกล่าว เพื่อให้รัฐสภา สามารถเดินหน้าเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป