เตือนภัย แอปฯแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มาแบบ SMSปลอม แอปฯปลอม ลิงค์ปลอม และไลน์ปลอม ห้ามกดห้ามโหลดเด็ดขาด
กลายเป็นกระแสที่ประชาชนและชาวเน็ตให้ความสนใจอย่างมากสำหรับ เงินดิจิทัล 10,000 บาท หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” ได้รับคะแนนเสียงโหวตเห็นชอบจากรัฐสภา 482 เสียง กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
ล่าสุด 24 ส.ค. 66 ทีมข่าวช่อง 8 ตรวจสอบแอปพลิเคชั่นต่างๆพบว่า มิจฉาชีพได้สร้างแอปฯปลอม SMSปลอม ลิงค์ปลอม รวมถึงไลน์ปลอมขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อหลอกให้ประชาชนที่หลงเชื่อลงทะเบียนล้วงข้อมูลส่วนตัวไปใช้ประโยชน์
ขณะที่ พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ขอเตือนประชาชนว่า ขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มีแอปพลิเคชัน รับสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท อย่าดาวน์โหลด หรือติดตั้ง อาจมีความเสี่ยง ถูกดูดเงิน ซึ่งขณะนี้ในกูเกิล เพย์สโตร์ บนมือถือระบบแอนดรอยด์ มีแอปพลิเคชันปลอม รับสิทธิ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ระบาดหนักหลายแอปพลิเคชัน
ทั้งนี้ เมื่อผู้เสียหายติดต่อไปยังไลน์ดังกล่าว มิจฉาชีพจะหลอกลวงสอบถามข้อมูลเบื้องต้นว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัลหรือไม่ จากนั้นจะให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10000 ” ผ่าน Play Store เมื่อทำการติดตั้งเสร็จสิ้น จะหลอกลวงให้ผู้เสียหายทำตามขั้นตอนต่างๆ เริ่มจากการให้ลงทะเบียนกรอกข้อมูลส่วนบุคคล ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน อาชีพ และรายได้ เพื่อตรวจสอบสิทธิ์
ในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 19 ส.ค.66 การหลอกลวงติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบฯ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 9 มีจำนวนกว่า 9,460 เรื่อง หรือคิดเป็น 2.38% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 820 ล้านบาท
แนวทางการป้องกันมิจฉาชีพหลอกโหลดแอปฯ
1.ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แนบมาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ ให้เงินรางวัล หรือโปรโมชันต่างๆ หรือข้อความที่ทำให้ตกใจกลัว เป็นต้น
2.ไม่กดลิงก์ หรือกดปุ่มผ่านเว็บไซต์เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นเว็บไซต์ปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์มือถือ
3.หากได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย และมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ขอชื่อนามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับของเจ้าหน้าที่ โดยให้แจ้งว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง
4.ตรวจก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ โดยการโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้น โดยตรง รวมถึงตรวจสอบว่ามีการประกาศแจ้งเตือนการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวหรือไม่
5.ระวังการให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์ปลอม โดย LINE Official Account จริงที่ผ่านการรับรองจะมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หากเป็นโล่สีเทาหรือไม่มีจะเป็นบัญชีทั่วไปยังไม่ได้ผ่านการรับรอง ต้องตรวจสอบยืนยันให้ดีเสียก่อน
6.การติดตั้งแอปพลิเคชันผ่าน App Store หรือ Play Store จะมีความปลอดภัยมากกว่า แต่จะต้องตรวจสอบว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวเป็นของหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ป้องกันการสร้างแอปพลิเคชันปลอมขึ้น
7.หากแอปพลิเคชันใดๆ ก็ตามมีการขออนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก หรือไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย หรือไฟล์นามสกุล .Apk หรือขอสิทธิการเข้าถึงอุปกรณ์ และควบคุมอุปกรณ์ เชื่อได้ว่าเป็นแอปพลิเคชันของมิจฉาชีพแน่นอน
8.ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสผ่าน 6 หลัก ที่ซ้ำกับรหัสแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ รวมถึงไม่โอนเงินไปยังบัญชีต่างๆ ตามคำบอกของผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ เพราะเสี่ยงถูกนำรหัสการทำธุรกรรมธนาคารไปใช้
9.หากท่านติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบทำการ Force Reset หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้นรีสตาร์ต (ส่วนใหญ่เป็นการกดปุ่ม Power พร้อมปุ่มปรับเสียงค้างไว้) ในกรณีเกิดอาการค้างไม่ตอบสนอง หรือเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์ออก หรือทำการปิด Wi-fi Router
10.อัปเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ให้เป็นปัจจุบัน
11.หมั่นติดตามข่าวสารของทางการอยู่เสมอ