จากกรณีหญิงคนหนึ่ง ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำเรื่องร้องเรียนมีแม่ชีใช้เข็มจิ้มรักษาแผลงูกัด หลังพ่อถูกงูกัดที่นิ้วโป้งเท้า จึงรีบพาคุณพ่อไปหาหมอที่ รพ. จากนั้นหมอให้กลับบ้าน และกลับมาตรวจเลือดทุก 3 ชั่วโมง ตอนนั้นยังไม่ฉีดเซรุ่ม
พอพ่อกลับมาบ้าน คนแถวบ้านได้แนะนำให้ไปหมอพื้นบ้าน แถวทับสะแก ซึ่งอยู่ในวัดแห่งหนึ่ง เพราะหมอพื้นบ้าน มีชื่อเสียงด้านการรักษา
พอพ่อไปถึงก็พบว่า หมอคนนี้ไม่ได้รักษาแล้ว แต่เป็นแม่ชีรักษาแทน โดยใช้วิธีนำเข็มมาจิ้มรอบ ๆ บริเวณที่งูกัด ซึ่งต้องใช้เข็มจิ้มทุกวันจนกว่าจะหาย และบอกให้พักที่วัด แต่พ่อไม่อยากนอนที่วัด จึงขอไปกลับ
พ่อของตนไปหาแม่ชีได้ประมาณ 18 วัน ซึ่งใช้เข็มจิ้มทุกวัน แผลขยายไปเรื่อย ๆ แม่ชียังบอกด้วยว่า ห้ามกินยาแผนปัจจุบัน และต้องถือสัจจะ มาหาทุกวัน ไม่คิดค่ารักษา แต่จะมีการขายน้ำมันขวดละ 100 บาท เพื่อใช้ในการทาแผล
ต่อมา พี่สาวตนเห็นสภาพพ่อแล้วทนไม่ได้ เพราะพ่อกินไม่ได้ ปวดแผลตลอดเวลา ซึ่งตอนนั้นพ่อก็ยังไม่ยอมไปหาหมอที่ รพ. แต่ยอมไปคลินิกแทน โดยพ่อขอแค่ฉีดยาแก้ปวดเท่านั้น และให้พี่สาวไปซื้อยามาทำแผลให้ แต่พี่สาวสงสารพ่อมาก ถึงกับร้องไห้และอ้อนวอนขอให้พ่อไป รพ.
สุดท้าย เมื่อมาพบหมอ หมอแจ้งว่าเนื้อที่เท้าตายแล้ว จึงต้องผ่าตัดเอาเนื้อตายออก และต้องมาล้างแผลทุก 3 วัน
ตอนนี้พ่อยอมรับว่า เข็ดและกลัวมาก เพราะปกติไม่เคยต้องเข้าห้องผ่าตัดเลย ตนจึงอยากร้องเรียนเพื่อตรวจสอบการรักษาของแม่ชีรายนี้ เพื่อไม่ให้ทำกับคนอื่นอีก เพราะเห็นมีคนไปรักษาจำนวนมาก โดยแม่ชีจะพิธีรักษาแค่ช่วงเวลา ตี 4 ถึง 6 โมงเช้าเท่านั้น
วันนี้ (25 สิงหาคม 2566) นายแพทย์วรา เศลวัฒนะกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงกรณีมีผู้ร้องเรียนไปยังสื่อให้ตรวจสอบแม่ชีที่วัดแห่งหนึ่ง ในอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รักษาแผลงูกัดด้วยการใช้เข็มจิ้มรอบแผลทุกวัน และไม่ให้ใช้ยาแผนปัจจุบัน จนผู้ป่วยมีแผลขยายวงกว้าง ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลและแพทย์ต้องตัดเนื้อตายทิ้ง ว่า หลังทราบเรื่องได้ส่งเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข และกลุ่มงานการแพทย์แผนไทย ร่วมกับ สาธารณสุขอำเภอทับสะแก ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลทันที พบว่าวัดที่มีการรักษางูกัดคือ วัดแห่งหนึ่ง ตำบลอ่างทอง อำเภอทับสะแก
ซึ่งพระครูผาสุกวิหารการ เจ้าอาวาสวัด รับว่ามีการรักษาผู้ถูกงูกัดจริง โดยเข็มที่นำมาใช้ในการรักษาเป็นเข็มใหม่แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และจะเก็บเข็มที่ใช้แล้วแยกไว้ส่งสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ให้ช่วยทำลายเดือนละครั้ง ส่วนแม่ชีที่ทำการรักษาได้รับการถ่ายทอดวิธีการมาจากเจ้าอาวาส
ต่อมาทีมข่าวช่อง 8 ได้ติดต่อพูดคุยกับพระครูผาสุกวิหารการ เจ้าอาวาสวัด ท่านเล่าให้ทีมข่าวฟังว่า คนที่มารักษางูกัดที่นี่จริง แต่อาจจะไปเอาหนามบ่งแผลเพิ่ม ทำให้อาการหนักขึ้น ตอนนี้ทางวัดรับทราบเรื่องแล้วไม่ได้นิ่งนอนใจ
ส่วนตัวพระอาจารย์อยากบอกว่าวิธีการรักษาเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่พระอาจารย์เรียนรู้มาจากบรรพบุรุษปู่ย่าตายายโดยนำสมุนไพรโบราณที่หามาจากป่ามาปรุงยาแก้พิษงู ซึ่งเป็นตำรับลับๆ แล้วนำมา ถ้าให้กับคนที่โดนงูกัดจากนั้นจะดูตำแหน่งที่ถูกงูฉกแล้วค่อยค่อยใช้เข็มสะกิดให้พิษงูออก ยืนยันว่าเป็น การรักษาแบบหมอชาวบ้านซึ่งเข็มก็ใช้เข็มที่สะอาด
สิ่งที่อยากจะชี้แจงคือแม่ชีแมว เป็นลูกศิษย์เรียนวิชามา 7 ปี ไม่ได้รักษาเพียงลำพังทางท่านเจ้าอาวาสเองก็นั่งคอยกำกับอยู่ตลอด
ท่านเจ้าอาวาสเองอยากบอกว่าท่านรักษาคนหายมาหลักหมื่นคนแล้ว รักษาแบบไม่ได้เก็บเงิน ล่าสุดทางสาธารณสุขมาหาท่านบอกให้ขอหยุดวิธีรักษา พระอาจารย์ก็พูดขึ้นมาว่าใจท่านถ้าเห็นญาติโยมคนตายอยู่ต่อหน้าจะไม่รักษาได้อย่างไร พระเองมีเมตตาธรรมในใจ
ล่าสุดผู้สื่อข่าว ได้พูดคุยกับแม่ชีแมว นามสมมติ ซึ่งเป็นแม่ชีที่ทำการรักษาให้กับผู้ที่ออกมาร้องเรียนซึ่งเจ้าตัวได้บอกว่าวิธีการรักษาแผลงูกัดนั้นตนได้เรียนมาจากหลวงพ่อที่วัด โดยก่อนหน้านี้ก็ช่วยเป็นลูกมือให้หลวงพ่อจนตอนนี้สามารถรักษาด้วยตนเองได้แล้ว และที่ผ่านมาก็รักษาหายทั้งหมด
สำหรับผู้ป่วยรายนี้มาหาตนเองช่วงตอนเย็น โดยตนได้ถามว่าไปหาหมอหรือยัง ซึ่งผู้ป่วยก็บอกว่าไปหามาแล้วเพราะว่าบ้านอยู่ใกล้ รพ.แต่ว่าหมอไม่ได้ทำอะไรให้ทนปวดไม่ไหวจึงได้มาหาแม่ชี หลวงพ่อจึงได้บอกให้รักษาให้ โดยตอนที่มาสภาพเท้าของผู้ป่วยคือมีอาการบวม นิ้วโป้งเท้ามีลักษณะดำเนื้อตายแล้ว เดินเหยียบไม่ได้เต็มเท้าซึ่งก็ได้ทำการรักษาตามวิธีโบราณ
แต่เมื่อผ่านไป 2 วันผู้ป่วยรายนี้ก็กลับมาหาอีกครั้งโดยที่สภาพเท้าบวมและสภาพไม่ได้เป็นแบบตอนที่เขาไป คือสภาพหนักกว่าเดิม ซึ่งตนคิดว่าน่าจะไปกินอาหารที่ผิดสำแดง หรือไปทำอะไรที่ผิดมาเพราะด้วยประสบการณ์ที่ตนเองรักษามาถ้าทำตามที่ตนบอกทุกอย่างแผลจะต้องหาย โดยเคยมีผู้ป่วยรายหนึ่งมารักษาแล้วมีแผลเน่าเหมือนกัน ซึ่งรายนั้นไปทำอะไรผิดสำแดงมาจึงต้องนำดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมาแผลจึงหาย จึงเชื่อว่ารายนี้ก็น่าจะไปทำอะไรผิดมาแผลถึงเน่า ซึ่งอาจจะไปหาหมอและกินยาหมออีกทำให้เกิดอาการผิดสำแดง เพราะตอนนั้นตนถามย้ำไปแล้วว่าจะไปหาหมออีกไหม ซึ่งผู้ป่วยบอกว่าไม่ไปแล้ว ตนจึงให้กินยาสมุนไพรของตนอย่างเดียว
ส่วนอุปกรณ์ในการรักษานั้นยืนยันว่าใช้เข็มใหม่ทุกครั้ง สำลีก็ใช้ของใหม่ไม่ได้ใช้ปนกัน คนป่วย 1 คนก็ใช้ 1 เข็ม
ขณะที่พระครูผาสุกวิหารการ เจ้าอาวาสวัด ก็บอกเช่นเดียวกันว่าผู้ป่วยรายนี้น่าจะไปกินของแสลงหรือทำอะไรที่ผิดครูมา แต่คนป่วยไม่ยอมรับว่าไปทำอะไรผิดมา หรืออาจเป็นไปได้ว่าคนป่วยไปใช้หนามอะไรสักอย่างไปทิ่มแผลเพราะคิดว่าแผลจะดีขึ้นตามความเชื่อ ทั้งที่หลวงพ่อสั่งแล้วว่าไม่ให้ไปยุ่งกับแผล เพราะตนได้รักษามากว่า 50 ปีไม่เคยมีปัญหาเหมือนรายนี้ ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดลงมาตรวจสอบก็ได้บอกว่าให้หยุดการรักษาไปก่อนจนกว่าจะมีใบอนุญาตให้รักษา ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน
นอกจากนี้ทีมข่าวยังได้คุยกับทนายความของหลวงพ่อ ซึ่งระบุว่าตนเองก็เคยมารักษาแผลงูจงอางกัดกับหลวงพ่อเมื่อประมาณ 7-8 เดือนก่อน ซึ่งตอนนั้นหลวงพ่อห้ามไม่ให้กินข้าวเหนียวจนกว่าแผลจะหาย ซึ่งตนเองก็ไม่กินจากนั้นไม่นานแผลก็หาย โดยในการรักษานั้นจะไม่มีการเก็บค่ารักษาแม้แต่บาทเดียว วิธีการรักษาเป็นภูมิปัญญามายาวนาน วัดแห่งนี้ช่วยคนถูกงูกัดมาไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ซึ่งเมื่อเกิดเรื่องขึ้นทางตนก็จะบอกกับหลวงพ่อว่าให้ยุติการรักษานับตั้งแต่วันนี้จนกว่าจะมีคนของกระทรวงสาธารณสุขมาจัดการให้เรียบร้อย หลังจากนี้ใครจะตายก็แล้วแต่เพราะรักษาไปแล้วมีปัญหาก็จะมาเอาผิดกับวัด
ต่อมาทีมข่าวได้พูดคุยกับ ลูกศิษย์ที่เคยเป็นอดีตคนไข้ โดนงูกัดแล้วมารักษาจนหาย เลยขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านเจ้าอาวาส ได้โชว์รูปงูให้กับทีมข่าวได้ดูว่าโดนงูจงอางฉก เลยมารักษากับท่านเจ้าอาวาส ซึ่งรักษาหาย ไม่คิดเงินด้วย ส่วนตัวเท่าที่สัมผัสแล้วพบว่าพระอาจารย์รักษาคนหายมาเยอะมากเป็นพันเป็นหมื่นคน ส่วนแม่ชีเป็นลูกศิษย์ เวลารักษาท่านจะคอยกำกับตลอด แต่ถ้าบางคนอาการหนักเกือบจะตายก็จะเป็นพระอาจารย์ที่รักษาเอง
ปกติคนที่รักษาตามภูมิปัญญาชาวบ้านจะมีข้อห้าม คือ ห้ามกินของแสลงพวกเหล้า ไข่ต้ม ในช่วงเวลาหนึ่งถึงสองสัปดาห์ระหว่างการรักษาแต่หลังจากหายแล้วก็สามารถกลับมากินได้ตามปกติ
ส่วนตัวมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นก็สร้างความเสียหายให้กับทางวัดเพราะทางสาธารณสุขเองลงพื้นที่ มาตรวจสอบและสั่งให้ทางวัดหยุดการรักษาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำความเข้าใจกับเจ้าอาวาส และแจ้งข้อกฎหมายให้ทราบว่า การรักษาผู้ป่วยต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งต้องทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพและต้องได้รับอนุญาต จึงจะทำการรักษาได้ ส่วนกรณีเป็นการรักษาโดยใช้ภูมิปัญญาโบราณที่ถ่ายทอดกันมา จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้านก่อน และทำการรักษาภายใต้เงื่อนไขของการเป็นหมอพื้นบ้านตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการแพทย์แผนไทย และเนื่องจากแม่ชีรายดังกล่าวยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้าน จึงให้หยุดทำการรักษาผู้ป่วยทันทีจนกว่าจะดำเนินการเรื่องขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้านตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน