"ก้าวไกล" โหวตแพ้ หลังชงขอเลื่อนวาระประชุมจัดประชามติแก้ รธน. ขึ้นมาก่อน แซะ "เพื่อไทย" ถ้าร่วมมือด้วยคงราบรื่น ทำให้ "ครูมานิตย์" โต้ อีก 2 สัปดาห์ นายกฯ คุยเพื่อไทยแน่ เรื่องแก้ รธน. ส่วนพรรคผู้เจริญแล้วจะทำอะไรก็ทำเถอะ
วันที่ 30 ส.ค. 2566 ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานที่ประชุม พบว่านายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอต่อที่ประชุมให้เปลี่ยนระเบียบวาระ โดยให้เอาเรื่องการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งถูกบรรจุในเรื่องที่ค้างพิจารณาลำดับที่ 33 ขึ้นมาพิจารณาก่อน
นายพริษฐ์ อภิปรายว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สภาฯ ต้องทำให้เกิดความชัดเจน หลังจากที่สังคมถกเถียงในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะใช้เวลาดำเนินการจากวันนี้ จนถึงมีรัฐธรรมนูญใหม่ คือ 2 ปี ซึ่งการเสนอคำถามประชามติเดียวกันที่หลายพรรคการเมืองเคยลงมติเห็นชอบแล้วในสภาฯ ชุดที่ผ่านมา เมื่อ 3 พ.ย. 65 ดังนั้นการเสนอของตนเพื่อยืนยันหลักการของสภาฯ ที่เคยลงมติมาแล้วในรอบที่ผ่านมา
“มีความจำเป็นต้องทำให้เกิดความชัดเจน โดยใช้เวทีของสภาฯ เพราะ ครม.ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำได้โดยเร็วหรือไม่ แม้จะระบุว่าจะทำเรื่องในนัดแรกที่มีการประชุม หรือหาก ครม.ทำได้โดยเร็วต่อการจัดทำประชามติหรือไม่ อย่างไร บทบาทในสภาฯ ที่มีทุกพรรคต้องถกเถียงให้ตรงกัน ในคำถามประชามติที่ควรออกแบบให้ดี” นายพริษฐ์ กล่าว
เห็นเสนอมีผู้เห็นคัดค้าน อย่างนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทา พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายคัดค้าน เนื่องจากว่า เรื่องที่บรรจุในวาระพิจารณาลำดับก่อนหน้านั้น มีความสำคัญและเร่งด่วนต่อการแก้ปัญหาให้เกษตรกร เช่น ผู้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งตนเสนอและบรรจุไว้ในลำดับที่ 3 อย่างไรก็ดีการเลื่อนระเบียบวาระตนไม่ขัดข้อง หากทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกัน ดังนั้นตนไม่เห็นด้วยและต้องการให้คงระเบียบวาระไว้เช่นเดิม
อย่างไรก็ดีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายเพื่อหาทางออก ว่า ในวันที่ 31 ส.ค. ทราบว่าจะมีการเสนอข้อหารือเพื่อปรึกษาปัญหาของประชาชนในประเด็นเรื่องสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ดังนั้น อาจใช้โอกาสเพื่อหารือถึงประเด็นกุ้งร่วมด้วยได้ แต่หากนายอรรถกร รับปากว่าในวันพรุ่งนี้ จะพิจารณาญัตติเรื่องคำถามประชามติ พรรคก้าวไกลพร้อมถอนญัตติของนายพริษฐ์เพื่อเปลี่ยนระเบียบวาระ
ขณะที่นายอรรถกร ตอบโต้ว่า ตนไม่สามารถให้คำสัญญาได้ เพราะตัดสินใจเองไม่ได้ หากจะเปลี่ยนวาระ ต้องหารือกันจะสำเร็จหรือไม่ตนไม่รับรองและขณะนี้มี สส. หลายคนที่ยื่นญัตติไว้ ดังนั้น อย่าแซงดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ยังมี สส.คนอื่น ๆ อาทิ นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์, นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สส.นครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย เห็นด้วยกับแนวทางของนายอรรถกร พร้อมขอให้คำนึงถึงปัญหาความเร่งด่วนของประชาชน ทั้งปัญหาราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ และปัญหาปากท้องของประชาชน เพราะวาระการพิจารณาขอมติสภาผู้แทนราษฎรให้คณะรัฐมนตรีจัดการออกเสียงประชามติแก้รัฐธรรมนูญนั้น ก็ได้บรรจุไว้ในวาระการประชุมอยู่แล้ว และอ้างว่า พรรคก้าวไกล ยังไม่ได้มีการประสานกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ให้เลื่อนระเบียบวาระการประชุม จึงขอให้ที่ประชุมฯ พิจารณาไปตามระเบียบวาระ ทำให้ต้องมีการลงมติว่าจะ เลื่อนระเบียบวารการประชุมหรือไม่
โดยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ตนเองในฐานะวิปพรรคก้าวไกล ได้ประสานพูดคุยแล้ว ทั้งกับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงยังทราบว่า มีญัตติการแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรอการพิจารณาอยู่ ดังนั้น การกล่าวหาว่า พรรคก้าวไกล ไม่ได้ประสานกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ทำให้พรรคฯ เสียหาย และเชื่อมั่นว่า หากพรรคก้าวไกล รวมกับพรรคเพื่อไทย ดำเนินการเหมือนกับที่เคยดำเนินการมาเมื่อสภาผู้แทนราษฎรชุดก่อน ที่มีมติร่วมกันขอให้คณะรัฐมนตรี จัดการออกเสียงประชามติแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างราบรื่น
จนทำให้นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ตอบโต้เพื่อยืนยันว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งต่อที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย ภายใน 2 สัปดาห์นี้ จะมีการพูดคุยถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนกำลังถกเถียงอยู่ แต่ขณะนี้ การถกเถียงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในสภาสำคัญกว่า จึงไม่อยากให้สภาหารือซ้ำซาก หรือพาดพิงพรรคเพื่อไทย และขอให้พรรคท่านที่เป็นผู้เจริญแล้ว จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ขอนิมนต์
ด้าน นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ชี้แจงกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกล พาดพิงได้มีการหารือเพื่อขอเลื่อนระเบียบวาระการประชุมว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ยินยอมและไม่ขัดข้อง หากจะมีการเลื่อนวาระการหารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมาพิจารณาก่อน แต่หากจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนก็ตั้งข้อสังเกตว่า ใครเดือดร้อน และไม่เห็นด้วย
สุดท้ายแล้ว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก 262 เสียง ต่อ 143 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนระเบียบวาระการประชุม