"ข่าวช่อง 8" สัมภาษณ์ "รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย" วิเคราะห์ ครม.เศรษฐา 1 การเมืองไทยในโลกใบเก่า ในวันที่พรรคเพื่อไทย สูญเสียฐานเสียงนอกสภา
“รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” อ.ประจำคณะรัฐศาสตร์ มสธ. ให้สัมภาษณ์กับ “ข่าวช่อง 8” ชี้ ครม. เศรษฐา 1 การเมืองไทยในโลกใบเก่า โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ภาพรวมของ ครม. เศรษฐา 1 สะท้อนให้เห็นถึงอะไร
“รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” วิเคราะห์ภาพรวมของรัฐบาล กระทรวงต่างๆ ถูกกำหนดโดยโควตา ไม่ใช่ความเหมาะสม
“โผที่ออกมาผมคิดว่าสะท้อนให้เห็นถึงการเมืองในโลกใบเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีโควตารัฐมนตรี ที่ไม่ได้ต่างอะไรจากเดิม แล้วก็ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการวางคนที่ไม่ถูกกับงาน ซึ่งตรงนี้เป็นหลักการทำงานทั่วไป ที่การทำงานมันต้องมีการวางคนให้มันถูกต้องกับงาน
“แต่ว่าหลายกระทรวงหน้าตาของรัฐมนตรีที่มันออกมา ดูแล้วมันก็เกิดคำถามอยู่ไม่น้อย จริงอยู่ที่ผู้ที่เป็นรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาด้านนั้น เรียนมาด้านนั้น แต่อย่างน้อยที่สุดต้องมีประสบการณ์ เคยคลุกคลีกกับงาน ที่ต้องมาอยู่ดูแลอยู่พอสมควร ซึ่งเป็นสิ่งนี้เราไม่เห็นในบางกระทรวง เพราะสุดท้ายแล้วมันต้องอยู่กับโควตารัฐมนตรี
“และรวมไปถึงนโยบายหลายๆ อย่างของพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคแกนหลัก คือ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่ได้พูดเอาไว้ แต่ท้ายที่สุด ตัวเองก็ไม่ได้ดูกระทรวงนั้น ก็จะเกิดคำถามว่า กระทรวงต่างๆ เหล่านี้จะนำมาซึ่งความสำเร็จในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ หรือไม่ นี่ก็คือประเด็นใหญ่ที่มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับหน้าตารัฐบาลชุดนี้”
2. กระทรวงกลาโหม สุทิน นั่งว่าการฯ เพราะได้ไฟเขียวจากกองทัพ
จากกรณีที่ “สุทิน คลังแสง” นั่งเก้าอี้กระทรวงกลาโหม “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” ชี้ เป็นเพราะได้รับไฟเขียวจากกองทัพ
“ผมคิดว่าเรื่องของ ‘กระทรวงกลาโหม’ ก็มีการพูดคุยกันในระดับหนึ่งแล้วว่า กระบวนการที่จะเป็นรัฐมนตรีกลาโหมที่มาจากพลเรือนนั้นจะได้รับการยอมรับได้หรือไม่ เพราะถ้ากองทัพไม่ได้พูดคุย หรือไม่ยอมรับ กระบวนการตรงนี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้อยู่แล้ว
“เมื่อรัฐบาลชุดนี้เกิดขึ้น ก็แสดงว่า ทุกอย่างก็คงไปได้ในระดับหนึ่ง เพราะที่มีรัฐมนตรีที่มาจากฝ่ายพลเรือนก็คงมีการตั้งคำถามว่า จะมีการแทรกแซงกองทัพหรือไม่ ถ้าไม่มีการแทรกแซง ผมว่า กองทัพเขาก็ยอมรับ
“แล้วครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีรัฐมนตรีที่มาจากพลเรือน ก่อนหน้านี้เราก็เคยมีรัฐมนตรีกลาโหม มาจากพลเรือน ไม่น้อยกว่า 4-5 คนแล้ว แล้วที่สำคัญในปัจจุบันกระบวนการที่รัฐมนตรีกลาโหม จะไปแทรกแซงกองทัพ ก็คงไม่ง่ายเหมือนเก่า เพราะหลังจากรัฐประหารปี 2557 ได้มีการวางโครงสร้างกลไกต่างๆ ป้องกันการแทรกแซงกองทัพแบบหนาแน่น โดยเฉพาะ ‘สภากลาโหม’
“ดังนั้นไม่มีอะไรที่น่ากังวล ถ้ากองทัพจะให้พลเรือนเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ก็คงจะมีการพูดคุยกันระดับหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องดูตอนที่ประกาศเป็นทางการครับ ถ้าไม่มีชื่อของพลเรือน แสดงว่า กองทัพก็ไม่ให้การยอมรับ แต่ถ้าเป็นชื่อพลเรือน ทุกอย่างก็เป็นไปโดยเรียบร้อยแล้วครับ
“อย่างที่ผมบอกมันมีกลไกที่ทหารวางไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะมี ‘สภากลาโหม’ รัฐมนตรีก็เป็นท่านหนึ่งในสภากลาโหม ซึ่งโหวตยังไงก็แพ้อยู่แล้ว”
3. “อนุทิน” นั่ง “กระทรวงมหาดไทย” สะท้อนการเสียดุลอำนาจของพรรคเพื่อไทย ?
ส่วนกรณีที่ “พรรคภูมิใจไทย” ได้เก้าอี้ใหญ่อย่าง “กระทรวงมหาดไทย” ก็เป็นเรื่องของการต่อรองแลกกระทรวงกัน ในสถานการณ์ที่ “พรรคเพื่อไทย” ไม่ได้อยู่ในสถานะ “พรรคแกนนำ” อย่างแท้จริง
“กระทรวงมหาดไทยก็มีกระบวนการต่อรองกัน แลกกระทรวง แลกโควตารัฐมนตรีกัน โดยเฉพาะการแลกกระทรวงคมนาคมของ ‘พรรคเพื่อไทย’ เพราะฉะนั้น ‘ภูมิใจไทย’ ในฐานะที่เป็นพรรคอันดับ 2 เขาก็คิดว่าเขาต้องได้อะไรบ้างเหมือนกัน
“ดังนั้นก็ต้องมีการแลกกระทรวงใหญ่ นั่นก็คือมหาดไทย เมื่อเป็นแบบนี้ ก็ไม่ได้แปลกใจอะไร มันเป็นการเมืองในโลกใบเก่า เป็นเรื่องโควต้ารัฐมนตรี และเป็นเรื่องต่อรองกันว่า ใครจะดูแลกระทรวงไหน
“แล้วอย่าลืมว่า ‘ภูมิใจไทย’ คือพรรคอันดับ 2 ในรัฐบาลชุดนี้ (เป็นอันดับ 3 ในสภา ถ้านับ ‘ก้าวไกล’) ดังนั้นจะไปได้หรือไม่อย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับพรรคอันดับ 2 ด้วย ‘ภูมิใจไทย’ จึงเป็นพรรคที่มีความสำคัญในเรื่องความอยู่รอดของรัฐบาล ก็เลยได้กระทรวงใหญ่ไป
“ซึ่ง ‘พรรคเพื่อไทย’ เป็นแกนนำที่ไม่ได้นำอยู่แล้วครับ เพราะฉะนั้นไม่มีอำนาจต่อรองอะไรมากมาย จึงจำเป็นต้องยกกระทรวงใหญ่ๆ ให้กับทางภูมิใจไทย”
4. กลุ่มอำนาจเดิมคุม “กระทรวงพลังงาน” แล้วปัญหาจะได้รับการแก้ไขหรือ ?
“รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” ชี้ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” มีเพียง 36 เสียง แต่ได้กระทรวงใหญ่อย่าง “พลังงาน” จะทำให้ “พรรคเพื่อไทย” ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญที่ใช้หาเสียง ได้ยาก
“ตรงนี้ก็เป็นข้อตกลงในการมาร่วมรัฐบาล ผมเชื่อว่า ข้อตกลงตรงนี้มันเกิดตั้งแต่ก่อนจัดตั้งรัฐบาลว่ากระทรวงพลังงาน ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ต้องได้ เพราะไม่เพียงแต่เสียงของ ‘สส. รวมไทยสร้างชาติ’ แต่รวมถึงเสียง สว. ในสาย ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ด้วย
“เพราะไม่เช่นนั้น พรรคขนาดกลางค่อนข้างเล็ก ก็คงไม่ได้เก้าอี้นี้ ดังนั้นโอกาสของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ก็ลดลงในการดูแลกระทรวงที่มีความสำคัญต่อนโยบาย”
5. “ธรรมนัส” ได้กระทรวงเกษตรฯ รางวัลจาก “พรรคเพื่อไทย” ?
ส่วนกรณี “ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า” คว้าก้าอี้ “กระทรวงเกษตรฯ” “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” วิเคราะห์ว่า มีความเชื่อมโยงกับวันโหวตเลือกนายกฯ ที่น่าจะทำให้ “บิ๊กป้อม” รู้สึกเจ็บปวดหัวใจ
“ตรงนี้ผมคิดว่าก็มาจากการต่อรองเหมือนกัน และก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ ‘พลังประชารัฐ’ เข้าร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ ‘คุณธรรมนัส’ มีความสำคัญอย่างมากในการจัดตั้งกับรัฐบาลชุดนี้ และในการเลือกนายกฯ
เพราะถึงขั้นที่ยอมหักกับ ‘พล.อ.ประวิตร’ ก็ต้องได้อะไรที่มันคุ้มค่า ‘คุณธรรมนัส’ จึงได้ตำแหน่งสำคัญ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมันจะเกี่ยวข้องกับฐานเสียงของ ‘คุณธรรมนัส’ และ ‘พลังประชารัฐ’ เองด้วย
6. ครม. ชุดนี้จะอยู่ครบเทอมหรือไม่ ?
สุดท้ายนี้ “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า แม้รัฐบาลจะมีเสถียรภาพ แต่ต้องจับตาการเมืองนอกสภา อันเนื่องมาจากเกิดคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรม ที่มีต่อ “พรรคเพื่อไทย”
“รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ มันมีสองส่วนคือ การเมืองในสภากับนอกสภา การเมืองในสภา เราจะเห็นตัวเลขที่มีเสถียรภาพค่อนข้างสูงของรัฐบาลชุดนี้ คือ 314 เสียง แล้วยังมีเสียง สส.อะไหล่ อีก 16 เสียง
เพราะฉะนั้นถ้าเกิดการถอนตัว มันก็จะมาเชื่อมต่อกันได้อยู่แล้ว แต่ปัญหามันอยู่ที่การเมืองนอกสภา เมื่อคนตั้งคำถามกับความชอบธรรมต่างๆ ‘พรรคเพื่อไทย’ ก็อยู่ในภาวะล้มละลายทางความเชื่อถือ
มันเหมือนกับ ‘พรรคเพื่อไทย’ พยายามสร้างพีระมิดที่ไม่มีฐาน โอกาสที่ ‘พรรคจะมีฐานสนับสนุนจากนอกสภาที่แข็งแกร่ง มันจึงเป็นเรื่องที่ยาก
ดังนั้นเบื้องต้นอายุรัฐบาลชุดนี้ผมให้อยู่ที่ 2 ปีก่อน หลังจาก 2 ปีก็ต้องมาประเมินกันว่า จะเดินต่อไปได้อย่างไร”