สรุปดราม่า 1 จังหวัด 1 เมนูอาหารถิ่น สะท้อนวิธีคิดของรัฐ เข้าใจท้องถิ่นจริงหรือ ?
"1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" เพื่อค้นหา "รสชาติที่หายไป" เป็นหนึ่งในเหตุผลที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมออกมาประกาศรายชื่อ 77 เมนูอาหารประจำจังหวัด เพื่อรวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่หารับประทานได้ยาก มาสร้างสรรค์ เป็นอาหารประจำจังหวัด แต่กลับมีกระแสวิจารณ์จากโลกออนไลน์ว่า ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้กินมาก่อน เช่น ข้าวยำโจร จ.ยะลา , เมี่ยงคำโคราช จ.นครราชสีมา , ตำจิ๊นแห้ง จ. เชียงใหม่ หรือแม้แต่ "ปิ้งไก่ข้าวเบือ" จ.เพชรบูรณ์ ก็มีชาวเพชรบูรณ์บางคนตั้งข้อสงสัยว่าเป็นอาหารถิ่นตรงไหน และไม่น่าใช่ "รสชาติที่หายไป" เพราะทุกวันนี้มีขายเพียบ
เพจข่าวช่อง 8 ขอสรุปประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้นดังนี้
1 กันยายน 2566
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประกาศผลการคัดเลือก "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น"อาหารพื้นบ้าน อาหารโบราณ ประจำปี 2566 โดยมีเมนูที่น่าสนใจดังนี้
เชียงใหม่ = ตำจิ๊นแห้ง
ลำปาง = ยำปลาแห้ง
สุโขทัย = ข้าวเปิ๊บสุโขทัย
เพชรบูรณ์ = ปิ้งไก่ข้าวเบือ
นครราชสีมา = เมี่ยงคำโคราช
บุรีรัมย์ = ขนมตดหมา
กระบี่ = ปลาจุกเครื่อง
ยะลา = ข้าวยำโจร
ปรากฎว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาอย่างหนัก เนื่องจากเมนูที่ได้รับการประกาศออกมา ไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนในจังหวัด หนึ่งในนั้นคือ เพจเฟซบุ๊ก “สมาคมคนเหนือ” ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า "ขอถามว่าไผมันเป๋นคนเลือก อาหารประจ๋ำจังหวัดเจียงใหม่ = ต๋ำจิ๊นแห้ง ธัมโมสังโฆ บ่าเกยกิ๋นซักเตื้อ" หรือแม้แต่สมาชิกกลุ่ม ลำปางซิตี้ ที่มีสมาชิกมากถึง 3 แสนคน ก็มีผู้ออกมาโพสต์ถามว่า ลำปางไม่มีเมนูชูโรงที่ดีกว่า "ยำปลาแห้ง" แล้วเหรอ ขณะที่ชาวสุโขทัยบางคน ก็ท้วงติงว่า ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย น่าจะเป็นอาหารประจำจังหวัดมากกว่า ข้าวเปิ๊บ บ้านนาต้นจั่น เช่นเดียวกับชาวจังหวัดนครราชสีมา บางส่วนขอประท้วงผ่านเฟซบุ๊กว่า น่าจะเป็น"ผัดหมี่โคราช" มากกว่า "เมี่ยงคำโคราช" นะคะ
2 กันยายน 2566
นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม แจงดราม่า "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" ระบุ การประกาศรายชื่อเมนูอาหาร ทั้ง 77 รายการนี้ ย่อมเข้าใจได้ว่า อาหารบางชนิด ประชาชนในท้องถิ่นเองอาจจะไม่รู้จัก หรือไม่เคยพบเห็นหรือสัมผัสมาก่อน นั่นคือ สิ่งที่ตอบวัตถุประสงค์ของโครงการ คือการค้นหาเมนู "รสชาติ…ที่หายไป"
3 กันยายน 2566
-กลุ่มที่ไม่ว่าพิมพ์อะไรเราก็ให้กำลังใจในทุกเรื่องแบบงงๆอิหยังวะ มีสมาชิกกว่า 4 แสนคน โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งตั้งคำถามว่า "เสียใจอาหารพื้นถิ่นเพชรบูรณ์ ปิ้งไก่รับได้ แต่ข้าวเบือรับไม่ได้ มันคือเครื่องปรุง ปกติคนที่นี่กินหน่อไม้แทบทุกวัน ไม่กินข้าวเบือ ปิ้งไก่ก็ไม่ได้กินทุกวัน ใครไปสำรวจ"
-เพจดังใน จ.กระบี่ "ปูดำนิวส์" โพสต์คลิป จากผู้ชำนาญด้านอาหารพื้นถิ่น ระบุ "ปลาจุกเครื่อง" ไม่ใช่อาหารประจำถิ่นของจังหวัดกระบี่ ชี้ พบได้ทั่วไปตามพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน
- นางอภิญญา สุวรรณ วัฒนธรรมจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ข้าวยำโจร หรือข้าวยำสมุนไพร เป็นอาหารถิ่นประจำจังหวัดยะลา บางพื้นที่เรียกว่าข้าวยำยา ยืนยัน ข้าวยำโจร ไม่ใช่โจรผู้ร้ายแต่อย่างใด โจรจะเป็นในลักษณะ ที่กินง่าย รวดเร็ว คลุกส่วนผสมเข้าด้วยกัน เปรียบเทียบคนสมัยก่อน เวลาจะไปทำนา ทำสวน ทำไร่ ถางป่า ก็จะเร่งรีบทานอาหาร เพื่อทำงานต่อ
ข้าวยำโจร
- วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ชี้แจงว่า เมี่ยงคำโคราช เป็นหนึ่งเมนูอาหารประจำถิ่นที่มีหลักฐานชัดเจน เวลารับประทานจะราดด้วยน้ำกะทิ ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของชาวโคราชแบบโบราณ เมนูดังกล่าวที่มีจำหน่ายอยู่ที่ร้านบ้านขนมไทย ซึ่งอยู่ระหว่างผลักดันให้เป็นเมนูต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
- วัฒนธรรมจังหวัดยโสธร ยืนยัน เมนู "อั่วกบ" (กบยัดไส้) เป็นเมนูอาหารถิ่นของจังหวัดยโสธร ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แม้หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้จัก หรือยังไม่เคยรับประทาน แต่ก็จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้รับทราบอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
อั่วกบ
4 กันยายน 2566
- นายสมฤทธิ์ ลือชัย นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอุษาคเนย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุ นี่คือความไม่เข้าใจเรื่องวัฒนธรรม ของคนในกระทรวงวัฒนธรรม "อาหารเป็นเรื่องวัฒนธรรมของท้องถิ่นก็จริง แต่รสชาติเป็นเรื่องเฉพาะตัว แถมรสชาติที่หายไป ก็แสดงว่ามันสูญสิ้น หรือกลืนกลายไปเป็นรสอื่น นี่คือวัฒนธรรมที่มีพลวัตร หรือ dynamic
มันไม่มีหรอกรสชาติแบบดั้งเดิมที่ทรงคุณค่า แล้วไปสืบค้นเพื่ออนุรักษ์ไว้ เป็นไปได้หรือ? แต่ที่เสนอมามันไม่ใช่รสชาติ มันคืออาหารแบบเมนูแปลก หรือหายาก "ยำไกน้ำของ ตำจิ้นแห้ง ฮังเลลำไยฯ มันตามหารสชาติที่หายไปตรงไหน"
-ด้าน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยังคงยืนยันเดินหน้าจัดกิจกรรมประกาศยกย่องเมนูอาหารถิ่น ทั้ง 77 รายการอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารถิ่นทุกจังหวัดมาให้ความรู้และสาธิตกระบวนการทำอาหารทุกเมนูในวันที่ 21 กันยายนที่จะถึงนี้
สำหรับเมนูอาหารที่ได้รับการคัดเลือกเป็น "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" ได้แก่
1. ข้าวตอกตั้ง - กรุงเทพมหานคร
2. แกงมัสมั่นกล้วยไข่ - กำแพงเพชร
3. ยำไกน้ำของ (สาหร่ายแม่น้ำโขง) -เชียงราย
4. ตำจิ๊นแห้ง -เชียงใหม่
5. เมี่ยงจอมพล - ตาก
6. ทอดมันปลากราย - นครสวรรค์
7. แกงแคไก่พื้นเมือง - น่าน
8. หลนปลาส้มพะเยา - พะเยา
9. ยำส้มโอกระทงทองสูตรเมืองชาละวัน - พิจิตร
10. น้ำพริกเม็ดบัวปลาย่าง - พิษณุโลก
11. ปิ้งไก่ข้าวเบือ - เพชรบูรณ์
12. น้ำพริกน้ำย้อย - แพร่
13. ข้าวส้ม โถ่โก้ - แม่ฮ่องสอน
14. ยำปลาแห้ง - ลำปาง
15. แกงฮังเลลำไย อำเภอเมืองลำพูน - ลำพูน
16. ข้าวเปิ๊บสุโขทัย - สุโขทัย
17. อั่วบักเผ็ด - อุตรดิตถ์
18. ข้าวแดะงา - กาฬสินธุ์
19. ปลาแดกบองสมุนไพร - ขอนแก่น
20. คั่วเนื้อคั่วปลา - ชัยภูมิ
21. เมี่ยงตาสวด - นครพนม
22. เมี่ยงคำ (โคราช) - นครราชสีมา
23. หมกหม้อปลาน้ำโขง - บึงกาฬ
24. ขนมตดหมา - บุรีรัมย์
25. แจ่วฮ้อนท่าขอนยาง - มหาสารคาม
26. ตำเมี่ยงตะไคร้ ลำข่าสดใส่มดแดง - มุกดาหาร
27. อั่วกบ (กบยัดไส้) - ยโสธร
28. ข้าวปุ้นน้ำยาปลาหลด - ร้อยเอ็ด
29. ส้าปลาน้ำโขง - เลย
30. ละแวกะตาม - ศรีสะเกษ
31. แกงหวาย - สกลนคร
32. เบาะโดง (น้ำพริกมะพร้าวโบราณ) - สุรินทร์
33. หลามปลาน้ำโขง - หนองคาย
34. เมี่ยงคำลำภู - หนองบัวลำภู
35. อู๋พุงปลา - อำนาจเจริญ
36. ข้าวต้มมัดบัวแดง อำเภอเมืองอุดรธานี - อุดรธานี
37. ลาบหมาน้อย - อุบลราชธานี
38. แกงส้มญวน - กาญจนบุรี
39. ต้มปลาร้าหัวตาล - ชัยนาท
40. ยำส้มโอ - นครปฐม
41. ข้าวตอกน้ำกะทิทุเรียนนนท์ - นนทบุรี
42. เมี่ยงคำบัวหลวง - ปทุมธานี
43. แกงคั่วส้มหน่อธูปฤาษีกับปลาช่อนย่าง - ประจวบคีรีขันธ์
44. แกงเหงาหงอด - พระนครศรีอยุธยา
45. แกงหัวตาล - เพชรบุรี
46. แกงกะลากรุบ -ราชบุรี
47. ยำปลาส้มฟัก - ลพบุรี
48. แกงรัญจวน - สมุทรสงคราม
49. ต้มยำปลาทูโบราณ - สมุทรสาคร
50. แกงบวน - สิงห์บุรี
51. ปลาหมำสมุนไพรทอดกรอบ - สุพรรณบุรี
52. ปลาแนม - อ่างทอง
53. ต้มส้มปลาแรด - อุทัยธานี
54. ลุกกะทิ หรือน้ำพริกกะทิชองพร้อมผักเคียง - จันทบุรี
55. หมูหงส์ - ฉะเชิงเทรา
56. ปลาคก - ชลบุรี
57. แกงเลียงกะแท่งหอยนางรม - ตราด
58. น้ำพริกป่ามะดัน - นครนายก
59. แกงกะทินางหวาน - ปราจีนบุรี
60. แกงส้มผักกระชับ - ระยอง
61. ขนมย่างจากใจ - สมุทรปราการ
62. น้ำพริกกะสัง - สระแก้ว
63. ลาบหัวปลี - สระบุรี
64. ปลาจุกเครื่อง - กระบี่
65. แกงส้มหยวกกล้วยกับหมูสามชั้น - ชุมพร
66. โกยุก - ตรัง
67. ขนมปะดา - นครศรีธรรมราช
68. อาเกาะ - นราธิวาส
69. ข้าวยำ - ปัตตานี
70. อาจาดหู - พังงา
71. แกงขมิ้น : พัทลุง
72. น้ำซุปเมืองหลาง 9 อย่าง - ภูเก็ต
73. ข้าวยำโจร (ข้าวยำคลุกสมุนไพร) - ยะลา
74. ก็กซิมบี้ - ระนอง
75. ข้าวสตู - สงขลา
76. ข้าวเหนียวเหลืองแกงแพะ - สตูล
77. แกงขมิ้นไตปลาโบราณ - สุราษฎร์ธานี