เลขาธิการคุรุสภา ชี้แจงประเด็นดราม่าสมัครสอบใบประกอบวิชาชีพครู เต็มในเวลาเพียง 2 ชม. ยันไม่มีใครเสียโอกาส ตั้งแต่ปี 2567 เปิดสอบทุกเดือน

วันที่ 4 กันยายน 2566 ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา ชี้แจงประเด็นการรับสมัครทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู รายวิชาครู ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) โดยกล่าวว่า การประกาศรับสมัครสอบครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของการเปิดสอบในปี 2566 จำนวน 20,000 ที่นั่ง ซึ่งเป็นการสอบครั้งแรกด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของคุรุสภาในปี 2566 เพราะการสอบแบบประเภทกระดาษครั้งสุดท้ายจัดในปี 2565 โดยได้พัฒนาระบบสอบตามมาตรฐานสำนักงาน ก.พ. ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้ทดสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ Computer Base ตามระบบของสำนักงาน ก.พ. ใช้ศูนย์สอบของสำนักงาน ก.พ. ทั้ง 5 ภูมิภาค โดยการสอบครั้งที่ 1/66 มีการจัดสอบจำนวน 4 รอบ

รอบที่ 1 วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566
รอบที่ 2 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566
รอบที่ 3 วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566
รอบที่ 4 วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566

เหตุผลที่ต้องประกาศรับสมัครสอบเป็นรอบ เพราะการเลือกวัน เวลา สถานที่สอบ ความพร้อมของสนามสอบ ต้องผ่านชุดอนุกรรมการทดสอบและผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการคุรุสภา ชุดรูปแบบข้อสอบในการสอบแต่ละครั้งแตกต่างกัน เป็นการทดสอบสมรรถนะจริง เพราะฉะนั้นคนที่ลงทะเบียนไม่ทัน ไม่ต้องกังวลใจว่า คุรุสภาจะเปิดสอบครั้งเดียว ตั้งแต่ปี 2567 การสอบจะเปิดขึ้นทุกเดือน สำหรับนักศึกษาที่เข้าเรียนในปี พ.ศ. 2562 – 2565 (รหัส 62 – 65) จะได้รับการยกเว้นการสอบวิชาเอก สำหรับคนที่สอบผ่าน จะได้ขึ้นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น ส่วนคนที่ตกค้างยังไม่ผ่าน สามารถสอบได้ในครั้งนี้

การเปิดรับสมัครสอบในครั้งนี้ มีผู้สมัครสอบใน 2 ชั่วโมง 20,000 ที่นั่ง ซึ่งระบบรองรับรับผู้สมัครผ่านทางออนไลน์ได้ 50,000 คนต่อวินาที แต่คนสมัครสอบเกินเป้า อาจเกิดการสื่อสารให้เข้าใจผิดว่า การเปิดสอบครั้งนี้แค่ครั้งเดียว หลังจากประกาศผลรอบที่ 1 แล้ว จะเปิดรับสมัครสอบครั้งต่อไปในเดือนมกราคม 2567 อาจมีแผนการขยายสนามสอบ แต่ต้องตรวจสอบคุณภาพสนามสอบก่อน และมีการเปิดสอบอีก 10 รอบ รอบละ 5,000 คน หลังจากนั้นจะมีการเปิดรับสมัครสอบทุกเดือนทั้งปี รวมการเปิดสอบครั้งที่ 1/66 จำนวน 4 รอบ จนถึงเดือนมีนาคมรวมเป็น 14 รอบ จะเก็บได้ประมาณ 70,000 คน คาดว่าตลอดทั้งปีจะเก็บหมด 100,000 คน อย่างแน่นอน

“ส่วนคำถามที่ว่าทำไมสอบที่สถาบันตัวเองไม่ได้ เพราะระบบการสอบต้องใช้ศูนย์สอบที่มีคุณภาพทุกภูมิภาค มีระบบป้องกันการทุจริตทั้งตัวข้อสอบและคนคุมสอบ ใช้มาตรฐานเดียวกับสำนักงาน ก.พ. ทุกอย่าง แต่ละมหาวิทยาลัยมีความพร้อมของคอมพิวเตอร์ไม่เหมือนกัน จึงต้องเลือกมหาวิทยาลัยที่มีคุณสมบัติเป็นศูนย์สอบของสำนักงาน ก.พ. และมีคณะกรรมการซึ่งคอยดูแลตรวจสอบสนามสอบในเชิงลึกทุกภูมิภาค อยากให้นักศึกษาที่กำลังกังวลใจอยู่ตอนนี้ว่าจะไม่ได้สอบ ขอให้นักศึกษาสบายใจได้” ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม กล่าว