"ศิริกัญญา" ผิดหวังนโยบาย "เศรษฐา" ลั่นไม่ตรงปก ถ้าเป็น GPS ประเทศก็คงหลงทาง เพราะมีแต่ความว่างเปล่า เบาหวิว เหน็บคำแถลงเหมือนคำอธิษฐาน ถามถ้าอยู่ในที่ประชุมบอร์ดจะทนฟังหรือไม่ มองมี 2 เหตุผลคำแถลงกว้าง เพราะรัฐบาลกลัวผูกมัด-จับมือข้ามขั้ว บอกฟังแล้วไม่ต่างจาก "ประยุทธ์" ขณะ "วันนอร์" ปราม ขออย่าอ้างบุคคลภายนอก ด้าน "ปกรณ์วุฒิ" โต้ พูดได้ไม่เสียหาย
วันที่ 11 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวันแรก โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุม
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นกล่าวเป็นคนแรก โดยย้ำว่า การแถลงนโยบายมีความสำคัญ เพราะจะเป็นกลไกในการสร้างความรับผิดชอบและคำมั่นสัญญาที่ฝ่ายบริหารได้แถลงต่อหน้า สภาผู้แทนราษฎรที่เราจะต้องตรวจสอบตลอด 4 ปี การแถลงนโยบายที่ดีจะเป็นสิ่งที่กู้คืนความเชื่อมั่น ความศรัทธาของประชาชนต่อรัฐบาลใหม่ให้กลับคืนมาได้ เป็นโอกาสสำคัญที่ให้คำมั่นสัญญาหนักแน่นส่งให้ประชาชนว่า 4 ปีข้างหน้าจะนำพาความก้าวหน้าอะไรมาให้กับประชาชน และด้วยวิธีการใด
“คำสัญญาที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น ถึงจะเป็นการบ่งชี้ความรับผิดชอบที่มีต่อประชาชน และประชาชนจะสามารถติดตามทวงถามท่านได้ ตรวจสอบได้ว่าถ้าได้ทำตามสัญญาแล้วหรือยัง ดังนั้น มีความสำคัญมากในระบอบประชาธิปไตย เนื้อหาเป็นอย่างไร เราสามารถมาถกกันได้” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
“คำแถลงนโยบายที่ดีเป็นเหมือนกับ GPS คือ Government Policy Statement ที่ช่วยบอกเป้าหมายว่ารัฐบาลมีเป้าหมายอะไร แต่วันนี้นั่งฟังนายเศรษฐาจนจบ ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากคำแถลงนโยบายในเอกสารที่ออกมาก่อนหน้า” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
“ถ้าบอกว่านี่คือ GPS ประเทศก็คงหลงทาง เพราะมีแต่ความว่างเปล่า เบาหวิว แทบไม่ได้บอกอะไรกับเราเลย มีแต่คำอธิษฐานลอยๆ คำกว้างๆ แบบพูดอีกก็ถูกอีก ขาดความชัดเจนของเป้าที่จะไปถึง ไม่มีการใส่ตัวชี้วัดที่เป็นตัวเลข มีแต่คำขยายแบบอย่างเหมาะสม อย่างมีนัยยะสำคัญ อย่างเป็นธรรม” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ตนเปรียบเทียบการแถลงนโยบายกับประเทศอื่นในระบอบประชาธิปไตย และเปรียบเทียบ 3 รัฐบาลล่าสุด ย้ำว่าคำสัญญาที่จะระบุไว้ในคำแถลงนโยบายจะต้องมีความชัดเจนทั้งในเรื่องเป้าหมาย วิธีการรวมถึงกำหนดกรอบเวลา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ที่สำคัญที่สุดคือต้องบรรจุนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ เพราะคือคำมั่นสัญญาที่มีไว้กับประชาชนในช่วงเลือกตั้ง
“ถ้าพรรคการเมืองไหนที่คิดจะกลับคำ ตระบัดสัตย์ไม่บรรจุนโยบายที่หาเสียงไว้ในคำแถลงหรือไม่ ดำเนินนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ เมื่อได้เป็นรัฐบาลโดยปราศจากคำอธิบายที่รับฟังได้ แบบนี้ก็คงถือว่าพรรคการเมืองนั้นทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
“ตัดเกรดแล้วคำแถลงของนายกเศรษฐาดิฉันให้อยู่ในเกรดเดียวกับคุณประยุทธ์ ดิฉันคิดว่าคุณประยุทธ์ อาจจะแถลงได้ดีกว่าด้วยซ้ำไป เพราะอย่างน้อยๆ ก็ยาวกว่า ที่น่าผิดหวังไปกว่านั้น พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มาตรฐานตกไม่ได้รักษามาตรฐานที่เคยทำได้ดีในสมัยของคุณยิ่งลักษณ์ ที่คำแถลงมีเป้าหมายชัด ลงรายละเอียด มีนโยบายที่ใช้หาเสียงอยู่ บรรจุเกือบทั้งหมด” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า สิ่งที่ควรจะมีนอกจากคำกล่าวทักทายที่ประชุม คือเป้าหมายที่ชัดเจนกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนไม่ใช่บอกว่าอยากให้ประเทศเป็นแบบนั้น เป็นอย่างนี้ แต่ไม่มีตัววัดอะไรที่ประชาชนจะมาประเมินได้ว่าประเทศเรา บรรลุเป้าหมายนั้นหรือยัง
นางสาวศิริกัญญา ยกตัวอย่าง กรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน มีการพูดถึงโครงสร้างที่สมดุล ประเทศต้องเข้มแข็งมากขึ้น มีสังคมที่ปรองดอง ซึ่ง สอดคล้องกับบริบท ปี 2554 ต่อมาเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการตั้งเป้าว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21
“กรณีคุณเศรษฐา ดิฉันพยายามหาและให้ความเป็นธรรมอย่างยิ่ง ว่าตรงไหนคือเป้าหมาย ก็ไปเจอเกือบตอนจะจบแล้ว บอกว่าจะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทุกคนและส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าไว้ให้กับลูกหลานของพวกเรา อ่านแล้วว่างเปล่า เขียนแบบนี้คือสิ่งที่ดิฉันเรียกว่าพูดอีกก็ถูกอีก เหมือนพูดว่าน้ำเป็นของเหลว เท่ากับว่ารัฐบาลนี้ไม่มีเป้าหมาย….ไม่ใช่เขียนแบบเหมือนคำอธิษฐาน” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า การเลือกตั้งคือตลาดนโยบาย เมื่อเลือกตั้งก็ควรจะทำตามสัญญานั้น ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งก็คงไร้ความหมาย ไม่ต้องเลือกแล้ว เป็นสิ่งที่ประชาชนได้รับ แบบนี้เรียกว่า “ไม่ตรงปก”
นางสาวศิริกัญญา ย้ำถึงนโยบายของนางสาวยิ่งลักษณ์อีกรอบ โดยระบุว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ทำได้เกือบทั้งหมด มีเพียงรถไฟฟ้า 10 ทางและเก็บค่าบริการ 20 บาทตลอดสายที่ยังทำไม่ได้ ตนงงมาก พออ่านเล่มนี้แล้ว ตกลงมาจากพรรคเดียวกันหรือไม่ คนเขียนนโยบายคนเก่าลาออกไปแล้วหรือ เพราะไม่มีทั้งรายละเอียดและกำหนดเป้า
“ก็คือเหมือนกับของพลเอกประยุทธ์เลย เพราะในเล่มนี้ไม่มีทางรายละเอียด ไม่มีการกำหนดเป้าเหมือนกับของคุณประยุทธ์ แม้แต่กรอบระยะสั้นที่ต้องบรรจุวาระเร่งด่วนสำคัญกับพี่น้องประชาชนที่เกี่ยวกับปากท้อง ก็ไม่ได้บอกว่าจะเสร็จภายใน 90 วัน 1 ปี หรือ 2 ปี รัฐมนตรีปากท้องของพี่น้องประชาชนรอไม่ได้นะคะ…. นโยบายตอนหาเสียงพูดว่าพักหนี้เกษตรกร 3 ปี รายได้ดี 3 เท่า พอมาอยู่ในเล่มนี้บอกพักหนี้ตามความเหมาะสม รายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ตอนหาเสียงบอกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน ในเล่มนี้บอกค่าแรงขั้นต่ำเป็นธรรมและเงินเดือนที่เป็นธรรม” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายก็หายไป ลดราคาน้ำมัน ไฟฟ้า แก๊สหุงต้มทันที เหลือแค่บริหารจัดการค่าไฟแก๊สและน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมทันที ตนถือโอกาสทวงเบาๆ
นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า นายกรัฐมนตรีมาจากภาคเอกชน เราคาดหวังว่าจะได้นำเอาแนวทางการบริหารแบบบริษัทเอกชนมาปรับใช้กับการบริหารราชการแผ่นดินในบางเรื่องแต่ยังไม่เห็นว่าจะเริ่มใช้ในการแถลงนโยบาย
“อยากให้คุณเศรษฐาลองนึกว่าถ้านี่คือการที่ CEO ใหม่ กำลังแถลงกับบอร์ด นักลงทุน หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น ท่านจะฟังต่อหรือลุกเดินหนี…. ตอนที่ท่านแถลงตอนเป็น CEO ของบริษัทแสนสิริในปี 2565 มีเป้าหมายชัดเจนมีตัวเลขชี้วัดชัดเจนว่าภายใน 3 ปีจะเพิ่มยอดขายให้ได้… ดิฉันอยากฟังแบบนี้ อยากเห็นแบบนี้” นางสาวศิริกัญญากล่าว
นอกจากจะเป็นคำแถลงที่ขาดเป้าหมายและรายละเอียด หลีกเลี่ยงการใส่นโยบายที่หาเสียง ยังเป็นคำแถลงที่ปราศจากความทะเยอทะยาน ที่จะพาสังคมให้ก้าวหน้า สร้างความเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง เสมือนหลับตาข้างหนึ่ง แล้วก้าวข้ามความขัดแย้ง เสมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความขัดแย้งทางการเมืองไม่เคยพูดถึง รวมถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ไม่กล้าแตะเรื่องยากๆ แก้ปัญหาที่ต้นตอ ตนคิดว่าตอนหาเสียง นายกรัฐมนตรีกล้าหาญกว่านี้มาก หากให้วิเคราะห์ตนของวิเคราะห์เป็นสองเหตุผล
เหตุผลแรกคือความกลัวการผูกมัด กลัวว่าจะทำไม่ได้ เลยไม่กล้าผูกมัดกับประชาชน ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ควรหลอกประชาชนในช่วงเลือกตั้ง
เหตุผลที่สองที่ทำไม่ได้ คือการเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้ว สุดท้ายจึงหาข้อตกลงที่สุดไม่ได้สักอย่าง ยังต้องเกรงใจกลุ่มอำนาจกลุ่มทุน
นางสาวศิริกัญญา ถามว่า ความเหลื่อมล้ำได้หมดไปจากประเทศนี้แล้วหรือไม่ จึงไม่จำเป็นต้องมีนโยบายใดๆ แก้ไขปัญหาหรือลดความเหลื่อมล้ำอีกต่อไปแล้ว พร้อมย้ำว่ายังเชื่อว่านายกรัฐมนตรีในสมัยที่ยังไม่ได้เข้าวงการการเมืองเต็มตัว เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตนยังคงประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะนายกรัฐมนตรีเห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องสำคัญ
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าแหล่งรายได้และงบประมาณ ตั้งคำถามว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต สุดท้ายแล้วจำเป็นจะต้องมีเงินสดมากองไว้เต็มจำนวนเพื่อเป็นการแบล็คมูลค่าเงิน เพื่อการันตีว่า 1 บาทในโลกจริงจะเท่ากับ 1 บาทดิจิทัล ซึ่งขึ้นอยู่กับที่มาของงบประมาณว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งหากไม่น่าเชื่อถือจะมีผลต่อร้านค้า ที่จะกังวลว่ารัฐมีเงินมารองรับหรือไม่ สุดท้ายจะกลายเป็นเงินเฟ้อในโลกดิจิทัล ซึ่งเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในการทำนโยบายคนละครึ่งที่แม่ค้าขอชาร์จค่าอินเทอร์เน็ต
ส่วนเรื่องการแก้วินัยกรอบการเงินการคลัง นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ตนไม่ได้มีปัญหากับตรงนี้ แต่มีปัญหาตรงที่คำแถลงมีการเพิ่มพูดถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดแต่งงานแรกในฐานะประธานกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐจะเริ่มต้นด้วยการทะลายกรอบการเงินการคลังเลยหรือไม่ เราไปหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้ ถึงเวลาที่จะต้องตั้งใจฟังเสียงที่ไม่ได้อยากได้ยิน ข้อดีคือคำแถลงนี้สามารถทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่ผิดสัญญา แม้จะพลาดในครั้งนี้ยังมีโอกาสในการแถลงงบประมาณ
ภายหลังจากนางสาวศิริกัญญาอภิปรายเปิด นายวันมูหะมัดนอร์ ได้กล่าวเตือนว่า กรุณาอย่าเอ่ยชื่อบุคคลภายนอก หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรจะกล่าวเพราะเขาไม่มีโอกาสจะชี้แจงในสภา ทำให้นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานวิป สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเป็นเก่าถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในสภา และไม่มีเรื่องเสียหายต่อบุคคลภายนอกที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด มองว่าไม่เป็นประโยชน์ในการพิจารณา