"รมว.ศึกษา" มอบนโยบาย เรียนดี มีความสุข เล็งแจกแท็บเล็ต ลดภาระนักเรียน-ผู้ปกครอง แนะแก้หนี้ครู ลดค่าใช้จ่ายด้วยการรวมรถกันไปสอน หากไปงานก็ไม่ต้องใส่ซอง ช่วยล้างจานแทน ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงตน
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมมอบนโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ตนมีนโยบายลดภาระนักเรียน และผู้ปกครอง โดยให้เด็กเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา เรียนฟรี มีงานทำ และยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีระบบหรือแพลตฟร์อมการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (1 นักเรียน 1 Tablet)
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า นโยบายอุปกรณ์การเรียน ต้องยอมรับว่าผู้มีโอกาสก็จะมีสื่อการเรียนการสอน แต่ผู้ด้อยโอกาส อาจจะไม่มี ดังนั้น เพื่อความเท่าเทียมเสมอภาคทางการศึกษาเราต้องจัดหาแท็บเล็ต ส่วนการดำเนินการ ต้องมาศึกษาและดูงบประมาณในการดำเนินการ โดยดูว่า สามารถชื้อได้หรือไม่ ถ้าซื้อไม่ได้อาจจะเช่า หรือ ยืม โดยทำอย่างไรให้ทั่วถึง แต่อยู่บนพื้นฐานว่าสื่อการเรียนการสอนต้องมีก่อน สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนได้ทุกที่ ทั้งนี้เราจะยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนและดำเนินการ
พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ยังกล่าวถึง เรื่องหนี้สินครูว่า ถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลจะเข้าไปแก้ไข โดยในเรื่องนี้ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการให้ความรู้ ทั้งในส่วนภายในกระทรวงศึกษาธิการและจากวิทยากรภายนอก มาแนะนำครูให้รู้จักออม รู้จักใช้เงิน และใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงตนและปลูกฝังครูบรรจุใหม่ให้เห็นในจุดนี้
ทั้งนี้ สมัยที่ยังอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีปรัชญาในการแก้ปัญหาหนี้สินตำรวจคือ "ไม่เบี้ยว ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย ไม่ตาย" พร้อมกับยกตัวอย่างว่า ตำรวจมักชอบฆ่าตัวตายเมื่อมีหนี้สิน
“ผมบอกเสมอว่าอย่าตาย ตายไปแล้วจะเป็นอย่างไร คนอื่นเขาจะอยู่อย่างไร ถ้าเขาตาย คุณจะใส่ซองเท่าไร คุณมาช่วยเพื่อนร่วมงานก่อนดีไหม ให้ตอนนี้เลย ตายไปแล้วไม่ได้หรอก ก็ช่วยกัน ก็ช่วยแก้ปัญหา มีหลายรายที่แก้ปัญหาแล้ว ก็บอกว่าอับจนด้วยปัญญาจริงๆ ก็ฆ่าตัวตาย ผมเชื่อว่าครูก็ไม่ต่างจากตำรวจที่อยากฆ่าตัวตาย แต่โชคดีที่ครูไม่มีปืนอยู่ใกล้ตัว ก็เลยไม่ฆ่าตัวตาย ไม่ฆ่าตัวตายดีแล้ว ก็ต้องช่วยกัน”
พลตำรวจเอกเพิ่มพูนกล่าวอีกว่า กระบวนการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู คือต้องศึกษาปัญหาต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่าย หากมีมากเกินไป ก็อาจลดลงด้วยการให้ครูรวมรถ นั่งรถไปด้วยกันเวลาไปสอน แล้วก็ให้ใช้หลักพอเพียง เช่น กรณีไปร่วมงานต่างๆ เดิม ครูอาจจะอยากมีหน้ามีตา ต้องใส่หลักร้อยบาท แต่กรณีของตำรวจใส่ 20 บาท ก็ไม่มีใครว่าอะไร
นอกจากนี้ หาก ‘ไม่มี’ จริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ซอง โดยอาจไปช่วยล้างจานในงานก็ได้ ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องเปลี่ยนค่านิยมการใช้ชีวิตให้อยู่กันอย่างพอเพียง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ในเชิงนโยบายจะแบ่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูออกเป็นหมวดหมู่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง สีเขียวคือครูที่มีสภาพคล่อง สีเหลืองคือครูที่มีหนี้บ้างเล็กน้อย และสีแดงคือเป็นหนี้เสีย อาจถูกฟ้องล้มละลาย ซึ่งหลังจากนี้ในส่วนของครูที่มีหนี้จำนวนมาก ต้องเข้าไปทำความเข้าใจกับเจ้าหนี้ ลดหย่อนหนี้ และอาจ ‘พักหนี้’ ให้กับครู รวมถึงเปิดโอกาสให้ครูได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่เป็นภาระกับครูน้อยที่สุด
สำหรับในเชิงนโยบายรัฐบาลจะมีการเจรจากับสถาบันการเงินต่างๆ ให้ช่วยดูแลเรื่องปัญหาหนี้สินครู และอาจมีนโยบายพักหนี้ ลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย ให้ครูชำระหนี้สินได้ง่ายขึ้นต่อไป