เสวนา "ปฏิรูปตำรวจ" ยกปมร้อน "กำนันนก" สะท้อนรัฐซ้อนรัฐ มีอำนาจใต้ดินแทรกซึมทั้งระบบ ทำเกิดส่วย ฮั้วประมูล ทำองค์กรตำรวจล้มเหลว ด้าน "วิชา" หวั่นเป็นชนวนกลียุค
วันที่ 17 ก.ย. 66 สมาคมนักข่าวจัดเสวนา ปฏิรูปตำรวจกู้วิกฤตศรัทธาหรือดิ่งเหว โดยมีนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ต.อ.วิรตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ร่วมเสวนา โดยได้มีการยกเคสการเสียชีวิตของ "สารวัตรแบงค์" ที่มีเบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับส่วยรถบรรทุก มาเป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้วงการตำรวจเสื่อมศรัทธาครั้งใหญ่
โดยนายวิชา กล่าวว่า ตำรวจเป็นองค์กรที่ใหญ่เกิดขนาด เป็นองค์กรแห่งอำนาจ ชี้เป็นชี้ตาย เหมือนเป็นพระเจ้า และไม่เกี่ยวกับอำนาจประชาชนเลย นอกจากนี้ยังเป็นองค์กรแห่งการอุปถัมภ์สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มันจึงมีเรื่องการสนับสนุน มีส่วย มีการถูกครอบงำจากกระบวนการภายนอกที่มีผลประโยชน์มากมายมหาศาล ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่ผลประโยชน์เรื่องเงินอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของการสนับสนุนในระบบอุปถัมภ์ด้วย สมัยตนเป็น ป.ป.ช.ครั้งแรก เจอคดีส่วยยาเสพติด เป็นการจับครั้งใหญ่มาก มีการรื้อกันว่ามีใครบ้างในสมุดเล่มนั้นปรากฏว่า สมุดหายไป ไม่รู้ว่าใครรับส่วยบ้าง แต่ตนรู้ว่ามีอยู่ และสุดท้ายก็จับได้แต่ตัวจิ๊บจ๊อย ไม่ถึงตัวข้างบน ก็ทำให้รู้ว่ามีอำนาจซ้อนรัฐ
ขณะที่กรณีของกำนันนก ก็พบว่า การขึ้นเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มันก็เป็นเรื่องของคนไม่กี่คนเมื่อมาประกอบกับเรื่องของส่วย มันก็ทำให้เห็นอำนาจรัฐซ้อนรัฐ อำนาจใต้ดิน ดูได้จากการจัดซื้อจัดจ้างมันรวมศูนย์อยู่ที่ อบจ.อบต.เทศบาล จะไปตรงไหนมันก็เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่แค่กำนันนกเท่านั้นที่ร่ำรวยมหาศาล กำนันคนอื่นเขาเงียบๆเพราะเขาไม่ได้ยิงตำรวจ
"แต่ในข้อเท็จจริงมันก็รับกันเรื่อยๆมา รู้กัน กระซิบบอกกัน ไอ้นี่สายฉันนะ เวลาจะไปแต่งตั้งก็ต้องมองว่าจะมีส่วนช่วยให้เขาอยู่รอดปลอดภัยในการดำเนินการ สำหรับงานของเขางานเขาก็คือจัดซื้อจัดจ้าง หรือเรื่องฮั้วประมูล นี่ไม่ใช่แค่ อบจ.อบต.เทศบาล แต่ในกระทรวงทบวง กรม ก็มีเรื่องแบบนี้ มีรัฐซ้อนรัฐเกิดขึ้น"
นายวิชา กล่าวอีกว่า เหตุใดจึงเกิดคดีเหล่านี้เป็นประจำไม่ว่าจะเป็นคดีบอส คดีผู้กำกับคลุมหัวผู้ต้องหา หรือมาคดีกำนันนกที่ฆ่าตำรวจตาย จะเป็นตัวอย่างที่แรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่โลกนี้เปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน แต่ทำไมยังอยู่ภายใต้อำนาจองค์กรใต้ดินเหล่านี้อยู่ สุดท้าย หากให้มีอำนาจรัฐซ้อนรัฐแล้วไม่กำจัดออกไปในที่สุดแล้วจะเกิดกลียุคแน่นอน
"มันเริ่มผันแปรถ้าไปอ่านที่เขียนไว้ในก็อดฟาเธอร์กระบวนการนี้เป็นการฟอกเงิน และฟอกคน เพื่อส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือแล้วส่งมาในองค์กรต่างๆ ก็อดฟาเธอร์บอกเลยว่าการสิ้นสุดลงคือมานั่งอยู่ในรัฐเอง มาเป็นรัฐมนตรีเอง มาเป็นผู้บริหารประเทศเอง" นายวิชา กล่าว
ส่วนการปฏิรูปองค์กรตำรวจจะแก้ที่จุดใดนั้น นายวิชา กล่าวว่า ต้องลดองค์กรให้เล็กลง ไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจแบบนี้ เช่น เนเธอเร์แลนด์ แยกระหว่างตำรวจนครบาลและตำรวจภูธร ซึ่งอาจจำเป็นสำหรับเมืองใหญ่ เพื่อการบริหาร โดยตำรวจภูธรให้แยกไปเลยอย่าง เช่น ญี่ปุ่นมีของการแต่งตั้งด้วยตัวเองแต่ละจังหวัด และมีตำรวจชุมชนที่เรียกว่า "โคบัง" ที่ทำหน้าที่เป็นตำรวจของประชาชนไม่ใช่ตำรวจของ "นาย" จึงต้องสลายองค์กรอำนาจและมาร่วมมือกับชุมชน ที่สำคัญการฝึกอบรมต่างๆ ทำเพื่อสถาปนาอำนาจและคอนเนคชั่นเท่านั้น จนกลายเป็นการครอบงำจากวัฒนธรรมขององค์กรตำรวจด้วยกันเอง
ขณะที่นายมานะ กล่าวว่า เคสกำนันนก สะท้อนปัญหาคอรัปชั่น ทำให้ข้าราชการ ที่ไม่ดีต้องไปก้มหัวให้กับผู้มีอิทธิพล ส่วนข้าราชการที่ดี ก็ไม่มีที่ยืน ยิ่งในทางสถิติ ตำรวจเป็นหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 เสมอ เมื่อถามความเห็นของประชาชน แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่เชื่อมั่นกับองค์กรตำรวจ
โดยเรื่องส่วยที่เกิดขึ้นนั้นมีการร้องเรียนจากประชาชน หรือจากสมาคมการค้าทั้งไทยและต่างชาติว่า มีการเรียกเก็บส่วย เช่น ส่วยรถบรรทุก มีการชี้เป้าที่ส่วยสติ๊กเกอร์ที่มีเงินหมุนเวียนประมาณหมื่นล้านบาท โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐ คนในกระบวนการยุติธรรม หรือเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ขณะเดียวกันอุปสรรคของระบบไอทีหน่วยงานหลีกเลี่ยงจะป้อนข้อมูลหรือทำข้อมูลที่นำไปใช้งานได้อย่างเช่นเป็นไฟล์ JPEG จึงต้องทำอย่างไรให้หน่วยงานรัฐจริงใจในการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้
ส่วนกรณีกำนันนกประชาชนเห็นชัดเจน เป็นการทำลายเกียรติภูมติของเครื่องแบบถ้าเรื่องนี้จะไปเป็นไฟไหม้ฟาง ถ้าจะต้องปฏิรูปต้องเลิกมุมมิบในสภาฯ ต้องบอกว่า ถ้าจะปฏิรูปตำรวจ ประชาชนจะได้อะไร และตำรวจต้องไม่ตบทรัพย์ ต้องไม่ขอค่าดำเนินคดีกับประชาชน ต้องไม่ให้ประชาชนไปขอหลักฐานจากกล้องวงจรปิดเสียเอง หรือเรื่องตั๋วช้างจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร ก็ขอให้ ผบ.ตร.คนใหม่จะทำให้ประชาชนจดจำแบบไหนเท่านั้น
ด้าน พ.ต.อ.วิรตม์ ศิริสวัสดิบุตร กล่าวถึงเคสกำนันนก ว่า เรื่องนี้สะท้อนหลายมิติ ทำไมตำรวจถึงเลวขนาดนี้ และวันนี้ไม่จำเป็นต้องสาวไส้ให้กากิน เพราะประชาชนก็เห็นเป็นที่ประจักษ์ มันเลวร้ายจริงๆ ตำรวจกลายเป็นอาชญากรเสียเอง และวันนี้เรื่องความเลวร้ายของตำรวจไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล แต่มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง / หากย้อนไปเมื่อปี 2547 การซื้อขายตำแหน่งมีน้อย มันเริ่มหนักหนาตั้งแต่ เอาตำรวจออกจากความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย ทำให้ตำรวจออกระเบียบข้อบังคับกำหนดตำแหน่งเอง แม้จะมี ก.ตร.ทุกโรงพัก แต่ ก.ตร. ก็แต่งตั้งโดยผู้กำกับ สน.นั้นๆ แบบนี้เขาก็เอาคนของเขาเข้ามาอยู่ดี ทำให้ปัจจุบันเรื่องการซื้อขายตำแหน่งหนักหนามาก ในวงการตำรวจรู้ดี แต่ผู้มีอำนาจไม่ยอมรับ รับรู้แค่ว่าซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้ มองข้ามปัญหาซื้อขายตำแหน่งไปเลย
"เรื่องส่วยมีทุกเรื่องเลย ทั้งหวยใต้ดิน สถานบริการ บ่อน รถบรรทุก การพนันออนไลน์ต้องจ่ายส่วยทั้งสิ้น ไม่มีการทำผิดกฎหมายใดที่เปิดอยู่แต่ไม่จ่ายเงินให้ตำรวจ" พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจะต้องปฏิรูปองค์กรที่เป็นปัญหาทั้งระบบ โดยต้องลดระบบการปกครองออกจากรูปแบบมีชั้นยศแบบทหารหรือมีความคิดแบบทหาร แต่ตำรวจกลับนำวินัยทหารมาใช้ ทำให้โครงสร้างไม่สอดคล้องกับการทำงานให้ประชาชนเช่นเดียวกับตำรวจหลายแห่งทั่วโลก เพราะการไม่มียศเป็นมิตรกับประชาชนมากกว่า รวมถึงอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีอำนาจตรวจสอบตำรวจได้ด้วย