วันที่ 20 ก.ย. 2566 ตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ บุกจับกุม พ.ต.ท.ณัฐพล อายุ 56 ปี สารวัตรสอบสวน สภ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี หลังมีพฤติการณ์เรียกรับสินบนจากผู้ต้องหา

คดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ต้องหารายหนึ่งมีอาชีพเป็นผู้รับเหมาทุบตึก ถูกยื่นฟ้องในคดีร่วมลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ ได้ร้องเรียนมายังนายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ "กัน จอมพลัง" ว่าถูกนายตำรวจระดับสารวัตรของ สภ.โคกสำโรง เรียกรับเงินสินบนค่าทำคดี โดยเรียกเงินจำนวน 1 เเสนบาท ทางผู้ต้องหาจ่ายเงินไปเเล้วก้อนเเรก จำนวน 5 หมื่นบาท เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 จ่ายที่ลานจอดรถของศาลากลางจังหวัด ส่วนอีกก้อนนัดหมายรับวันนี้ (20 ก.ย.)

ต่อมา "กัน จอมพลัง" ได้ประสานไปยังตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปราม ทางเจ้าหน้าที่จึงวางเเผนจับกุม โดยให้ผู้ต้องหานำเงินที่เหลืออีกก้อน จำนวน 5 หมื่นบาท ไปให้กับสารวัตรคนดังกล่าว ซึ่งตอนเเรกสารวัตรมีการนัดหมายให้นำเงินไปส่งมอบที่สำนักงานอัยการ ในเวลา 07.00 น. เเต่ภายหลังได้เปลี่ยนสถานที่กะทันหัน โดยนัดหมายให้นำเงินไปส่งมอบภายในร้านอาหารเเห่งหนึ่ง อยู่ในพื้นที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ซึ่งร้านดังกล่าวตั้งอยู่ในซอยตัน และมีการเปลี่ยนเวลาในการส่งมอบเงินเป็น 09:00 น. เเต่ก็เดินทางมาถึงจุดนัดหมายช้ากว่าเวลานัด 2 ชั่วโมง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวสารวัตรเองก็มีความระมัดระวังตัวเองพอสมควร

ซึ่งหลังจากที่รับเงินจากผู้เสียหายเเล้ว ขณะที่กำลังจะเดินขึ้นรถกระบะส่วนตัวที่จอดอยู่บริเวณลานจอดรถของร้านอาหาร เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวเข้าจับกุม โดยพบเงินของกลาง 5 หมื่นบาทอยู่ในกระเป๋ากางเกงด้านขวาหลัง เป็นธนบัตรใบละ 1,000 บาท จำนวน 50 ฉบับ ซึ่งการตรวจสอบเลขธนบัตรตรงตามที่ทำบันทึกของกลางไว้ พร้อมทั้งได้ตรวจค้นรถซึ่งไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย

ภายหลังจากจับกุม พ.ต.อ.สมบัติ มาลัย ผู้กำกับการกองป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ได้เข้ามาสอบปากคำ พ.ต.ท.ณัฐพล ผู้ต้องหา คำแรกได้ทักทายว่า "คุณณัฐพล คุณไปทำอะไรมา" ซึ่งทาง พ.ต.ท.ณัฐพล ก้มหน้าไม่ได้ตอบคำถาม นอกจากนี้ผู้กำกับยังถามอีกว่า รู้ใช่หรือไม่ว่าตอนนี้ตัวเองถูกจับกุมกลายเป็นผู้ต้องหาแล้ว พ.ต.ท.ณัฐพล ตอบเพียงสั้นๆ ว่า "ครับ" จากนั้นทางผู้กำกับได้ เล่าความเป็นมาว่า ก่อนหน้านี้ได้รับการร้องเรียนจากผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ต้องหาอีกคดีหนึ่งได้ร้องเรียนว่ามีการเรียกรับเงินจำนวน 1 แสนบาท และก่อนหน้านี้ได้จ่ายเงินให้กับตำรวจไปแล้วจำนวน 5 หมื่นบาท ซึ่ง พ.ต.ท.ณัฐพล ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการรับเงินก้อนแรก แต่จำนวนด้วยหลักฐานว่าเงินก้อนที่ 2 อยู่ในกระเป๋ากางเกงตัวเองจริง

เบื้องต้นในชั้นจับกุมแจ้ง 1 ข้อหา ตามมาตรา 150 "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งตนได้เรียกรับหรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งนั้น"

หลังจากนั้น พ.ต.ท.ณัฐพล ผู้ต้องหา ได้ขอใช้สิทธิ์ตามกฎหมายในการติดต่อญาติ โดยได้โทรศัพท์หาภรรยา และขอพูดคุยเป็นการส่วนตัว จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ สภ.โคกสำโรง

กัน จอมพลัง กล่าวว่า คดีนี้ผู้เสียหายมาร้องเรียนแทนพ่อ ซึ่งถูกดำเนินคดีหลังจากเข้าไปรับจ้างทุบตึก โดยตำรวจอ้างว่าจะสามารถช่วยเหลือคดีนี้ได้ และยังอ้างอีกว่าเงินจำนวนนี้จะนำส่งต่อให้กับอัยการ และตำรวจระดับรอง ผบ.ตร ตนเองจึงประสานไปยังเจ้าหน้าที่กองปราบฯ และมีการประชุมวางแผนร่วมกับเจ้าหน้าที่เป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ และมีการนัดเเนะสถานที่ต่างๆ จนกระทั่งวันนี้สามารถจับกุมผู้ต้องหาเป็นตำรวจยศระดับสารวัตร ซึ่งวิธีการที่ตำรวจนายนี้กระทำนั้น เชื่อว่าไม่สามารถช่วยเหลือคดีได้อย่างแน่นอน แต่เป็นการตีกินเพื่อหลอกเอาเงินผู้เสียหาย ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เป็นการเอาอาชีพของตัวเองมาหากิน ภาพตำรวจจับตำรวจก็ไม่สมควรจะเกิดขึ้น การกระทำดังกล่าวทำให้วงการตำรวจเสื่อมเสีย

ด้านผู้เสียหาย คือ น.ส.โรส (นามสมมติ) อายุ 34 ปี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม ปี 65 พ่อของตนวัย 59 ปี ซึ่งเป็นผู้รับเหมาทุบตึก ได้รับการว่าจ้างจากผู้ชายคนหนึ่ง ชื่อ "นายบอย" ให้ไปทุบอาคารโรงงาน แต่เมื่อไปถึงสถานที่ก็รู้สึกเเปลกใจ เพราะไม่เหลือโครงสร้างหรือรูปร่างของอาคารแล้ว เนื่องจากถูกทุบไปก่อนหน้านี้ เหลือเพียงเศษซากเท่านั้น จึงทำได้เพียงเข้าไปรื้อเศษซากเเละโครงเหล็กออก แต่มาทราบภายหลังว่าที่ดินผืนดังกล่าวถูกธนาคารยึดอยู่ การเข้าไปรื้อถอนหรือกระทำการใดๆ นั้นถือว่าผิดกฎหมาย

ซึ่งตนก็พยายามติดต่อไปหานายบอย ผู้ว่าจ้าง แต่นายบอยก็บ่ายเบี่ยง อ้างให้ไปคุยผ่านตำรวจเท่านั้น และไม่สามารถติดต่อนายบอยได้อีก

ต่อมาก็มีหมายเรียกส่งมาที่บ้านแต่พ่อไม่ได้ไปพบเจ้าหน้าที่ เนื่องจากมีตำรวจเจ้าของคดีติดต่อมาหา บอกว่าอาคารดังกล่าวมีมูลค่า 305 ล้านบาท เเละอ้างว่าคดีดังกล่าวนั้นสามารถเคลียร์ได้ โดยที่ไม่ต้องนำเอกสารหรือหลักฐานใดๆ มายื่น เพียงแต่ต้องใช้เงินจำนวน 3 เเสนบาท ซึ่งตนเองไม่มีเงิน จึงได้มีการต่อรองเหลือ 1 เเสนบาท เเต่ยังไม่มีเงินให้ จนกระทั่งช่วงปลายเดือนธันวาคมปี 65 พ่อของตนถูกออกหมายจับในข้อหา "ร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ"

จากนั้นทางตำรวจก็ติดต่อมาหาโดยเร่งให้นำเงินมาให้ ก่อนวันที่ 26 กันยายน 2566 โดยอ้างว่า หากไม่นำเงินมาตามกำหนดพ่อของตนจะต้องติดคุก โดยได้นัดหมายให้นำเงินก้อนแรกจำนวน 5 หมื่นบาท ที่ศาลากลางจังหวัดลพบุรี ซึ่งตอนแรกอ้างว่าจะพาไปพบอัยการ โดยให้ไปนั่งรอที่หน้าห้องอัยการ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้พบ และไปจ่ายเงินที่บริเวณลานจอดรถของศาลากลางจังหวัด

แต่สิ่งที่ตนตั้งข้อสังเกต คือนอกจากพ่อของตนแล้ว ยังมีผู้รับเหมาอีกหลายคนที่เข้าไปรับงานทุบอาคารดังกล่าว รวมไปถึงตัวนายบอย (ผู้ว่าจ้าง) ก็ไม่ได้โดนดำเนินคดีใดๆ จึงตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการวางงานหรือไม่ ซึ่งหากทราบตั้งแต่แรกว่าเป็นที่ดินผิดกฎหมายก็คงไม่เข้าไป

ผู้เสียหาย เล่าทั้งน้ำตาว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่เกิดเรื่องขึ้น ครอบครัวของตนได้รับผลกระทบหนัก เครียดจนถึงขั้นร้องไห้ นอกจากนี้ยังหวาดกลัว เนื่องจากตำรวจคนนี้มีการกล่าวอ้างว่ามีตำรวจระดับรอง ผบ.ตร. หนุนหลังอยู่ จึงรู้สึกหวาดกลัวไม่กล้าทำอะไร จึงร้องเรียนมายังกัน จอมพลัง อย่างไรก็ตาม ตนเองไม่ได้อยากทำกับสารวัตรแบบนี้ แต่ก็ไม่อยากให้พ่อต้องติดคุกเหมือนกัน ที่ผ่านมาเขาไม่ยอมรับเอกสารอะไรจากตนเลย เอาแต่บังคับให้การตามสำนวนที่นายตำรวจคนดังกล่าวเขียนเพียงเท่านั้น


นอกจากนี้ ทีมข่าวช่อง8 ได้หลักฐานเป็นคลิปเสียง ซึ่งเป็นการสนทนาระหว่างผู้เสียหาย กับ สารวัตรณัฐพล โดยใจความโดยรวมประเด็นเรื่องเงิน ที่หาให้ไม่ทัน

ต่อมา ภรรยาของสารวัตรณัฐพล เดินทางไปที่สภ.โคกสำโรง โดยผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามเรื่องที่เกิดขึ้น โดยกล่าวสั้นๆว่า ไม่เชื่อว่าสามีจะมีพฤติกรรมแบบนี้ เนื่องจากทุกอย่างดูปกติ และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีเงินอื่นนอกจากเงินเดือนเข้ามาเลย และไม่เคยเล่าเรื่องการทำงานให้ฟัง และทำงานที่โรงพัก ไม่คิดว่าสามีจะทำเรื่องดังกล่าว

ฉาววงการกากี ล่อจับสารวัตรรับส่วย เหยื่อแฉคลิปขู่เรียกเงินแสนมัดตัวดิ้นไม่หลุด