“อัจฉริยะ” ร้อง ปปป.ตรวจสอบ “บิ๊กโจ๊ก” หลังพบลูกน้องใช้บัญชีม้าเว็บพนันจ่ายค่าไฟฟ้าให้ แฉ จ้างนักข่าวนับ 10 สำนัก ช่วยเขียนเชียร์-โจมตีคู่แข่ง”
ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.จตุภูมิ รักษาภักดี รอง ผกก.(สอบสวน) กก.4 บก.ปปป. เพื่อยื่นหนังสือให้ดำเนินการตรวจสอบการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท อันได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นายอัจฉริยะ ระบุว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ให้ลูกน้องเป็นผู้ชำระค่าไฟฟ้ารายเดือน เดือนละประมาณ 10,000 กว่าบาท แต่ต่อมาปรากฏว่า ผู้ที่ชำระเงินดังกล่าว คือ นายครรชิต ซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีโอนเงินจากบัญชีของตนเอง จ่ายค่าไฟฟ้าบ้าน 2 หลัง คือ ในซอยวิภาวดี 60 ซอยวิภาวดีรังสิต 60 แยก 3-9 ถนนวิภาวดีรังสิต ตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. อีกทั้งจากข้อมูลยังพบว่า นายครรชิต ไม่ใช่ลูกน้องโดยตรงของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ แต่เป็นบุคคลที่ใช้บัญชีเกี่ยวข้อง และมีความเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์เครือข่ายของมินนี่
นายอัจฉริยะ กล่าวต่อว่า การที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด จาก นายครรชิต เจ้าของบัญชี ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่อันควรได้ตามกฎหมาย จึงอยากขอให้ทาง บก.ปปป. ช่วยตรวจสอบพฤติการณ์ดังกล่าวว่า เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกรณีการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว หรือไม่
ขณะที่ ประเด็นในส่วนของเครือข่ายในกลุ่มผู้สื่อข่าวที่คาดว่าจะถูกดำเนินคดี นายอัจฉริยะ ระบุว่า เบื้องต้นทราบว่า มีอยู่ประมาณ 10 คน ที่รับเงินจากการจ้างเขียนเชียร์ และเขียนโจมตีคู่แข่ง มีทั้งการจ่ายเป็นรายเดือน โดยใช้บัญชีม้าของมินนี่ในการโอนให้ ซึ่งอีกไม่นานคาดว่ารายละเอียดส่วนนี้จะเริ่มกระจ่างชัดมากขึ้น
ผู้จัดการส่วนตัว เอ ศุภชัย ชี้แจงปม "พี่เอ" ถ่ายรูปคู่ ร่วมเฟรม มินนี่
ผู้จัดการส่วนตัวของ เอ ศุภชัย ออกมาเปิดเผยกับทีมข่าวช่อง 8 ถึงกระแสข่าว เอ ศุภชัย ผู้จัดการซุปตาร์ในวงการบันเทิงร่วมเฟรมกับ บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล และ มินนี่ รวมทั้งมีภรรยาบิ๊กโจ๊กร่วมเฟรมด้วย ว่า ได้รับเชิญไปงานเลี้ยงเนื่องจากรู้จักบิ๊กโจ๊กกับภรรยามานาน แต่ไม่เคยรู้จักมินนี่เป็นการส่วนตัวเท่าที่เห็นตามข่าวก็ไม่มีความกังวลอะไร
ภาพที่มีการเผยแพร่ออกมา มินนี่เข้ามาขอถ่ายรูปซึ่งเป็นปกติของคนที่มีชื่อเสียงสามารถถ่ายรูปกับทุกคนได้
อดีตนักข่าวฉายา พิราบ 5 ยืนยัน บิ๊กโจ๊ก เป็นคนสุภาพ ไม่เคยรับเงินโจมตี
ล่าสุดวันนี้ ทีมข่าวช่อง 8 ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับ นายวันชัย พูลเพิ่มพันธ์ อายุ 65 ปี ซึ่งมีฉายาว่า พิราบ 5 เป็นผู้สื่อข่าวท้องถิ่นประจำจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า ตนเอง รู้จักกับบิ๊กโจ๊ก มาตั้งแต่บิ๊กโจ๊ก ยศร้อยตำรวจโท เนื่องจาก ครั้งแรกที่เจอกัน บิ๊กโจ๊ก มีตำแหน่งเป็นนายตำรวจประจำสำนักงานของ พล.ต.อ.บุญชัย ชื่นสุชน ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค7 (ปี2540 - 2542)
ซึ่งเท่าที่จำความได้ บิ๊กโจ๊ก ในสมัยที่อยู่กับผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค7 บิ๊กโจ๊ก มีหน้าที่เป็นนายตำรวจที่ประสานงานทั้งตำรวจในพื้นที่และผู้สื่อข่าวในพื้นที่ภูธรภาค7 ซึ่งในสมัยนั้น เท่าที่สัมผัสและคลุกคลีกับบิ๊กโจ๊ก เจ้าตัวเป็นคนที่พูดจากสุภาพ ไม่ว่าจะคุยกับตำรวจชั้นประทวนหรือคุยกับนักข่าวในพื้นที่ บิ๊กโจ๊ก จะเรียกพี่ทุกคน เช่นพูดเสร็จจะลงท้ายว่า "ครับพี่ ขอบคุณครับ" และยืนยันว่าบิ๊กโจ๊ก ไม่ใช่คนสองอารมณ์ ซึ่งบิ๊กโจ๊ก จะเป็นคนที่จำคนแม่น โดยหลังจากที่มีการเติบโตได้รับตำแหน่งเป็นผู้กอง ผู้กำกับ จนเป็นผู้การ กระทั่งเป็น รอง.ผบ.ตร. หากบิ๊กโจ๊ก ย้อนกลับมาเจอใครในสมัยอดีต บิ๊กโจ๊ก ก็จะทำตัวเหมือนเดิม
ส่วนประเด็นเรื่องที่มีข่าวออกมาว่า บิ๊กโจ๊ก มีการจ่ายเงินให้นักข่าว ส่วนตัวไม่เคยได้เงินจากบิ๊กโจ๊ก แต่ยอมรับว่า ในสมัยก่อน การเชิญนักข่าวไปร่วมแถลงข่าว ก็มีบ้างที่จะดูแลเป็นค่าน้ำมันให้กับนักข่าว ซึ่งค่าน้ำมันในสมัยนั้น เท่าที่จำได้ประมาณ 200 - 300 บาท แต่ไม่ได้จ่ายทุกงาน และส่วนมากตำรวจก็จะดูแลนักข่าว เช่นชวนไปกินข้าวหลังจากแถลงข่าวเสร็จหรือหลังจากเสร็จภารกิจในตอนนั้น
ส่วนประเด็นที่ ตำรวจโยนงานexclusive หรือมีการทำหน้าที่เขียนข่าวโจมตีฝั่งตรงข้าม ยืนยันว่าในสมัยตนเอง ไม่เคยมีเรื่องดังกล่าว ส่วนการเจอกันในส่วนตนเองกับบิ๊กโจ๊ก ในคดีสำคัญๆ ที่บิ๊กโจ๊ก มาแถลงข่าวเช่นคดีกำนันนก เท่าที่ได้รับข้อมูลมาจากตำรวจที่ดูแลสำนักงานตำรวจภูธรภาค7 ทุกครั้งที่บิ๊กโจ๊ก จะเดินทางมาที่ภาค7 บิ๊กโจ๊ก จะมีการสั่งให้ตำรวจ เตรียมงบประมาณเอาไว้ เพื่อดูและค่าอาหาร เช่น 1.ค่าอาหารของบุคคลที่เรียกมาสอบปากคำหรือเป็นพยาน 2.ค่าอาหารตำรวจที่มาติดตามคดี และ3. ค่าอาหารที่ต้องเตรียมไว้ให้ผู้สื่อข่าวที่มาติดตามคดี ทั้ง 3 มื้อ
สำหรับประเด็นเรื่องการชิงตำแหน่ง ผบ.ตร. ถามว่า บิ๊กโจ๊ก เหมาะสมกับตำแหน่งนี้หรือไม่ในตอนนี้ ส่วนตัวมองว่า ทุกคนที่เป็นแคนดิเดต เหมาะสมทั้งหมด
7 องค์กรสื่อ ซึ่งประกอบไปด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และสมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชุมกันและขอแสดงจุดยืนต่อสาธารณะว่า สื่อมวลชนที่รับเงินจากแหล่งข่าวเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรมวิชาชีพอย่างร้ายแรง ไม่สามารถยอมรับได้
โดยที่ประชุม 7 องค์กรวิชาชีพ มีมติดังนี้
1. เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความกระจ่างชัดในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณะ โดยคณะกรรมการร่วม 7 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนขององค์กรสมาชิก องค์กรละ 2 คน เป็นกรรมการในส่วนของนักวิชาชีพ 1 คน และกรรมการซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอีก 1 คน โดยแต่ละองค์กรให้เสนอชื่อบุคคลภายนอก องค์กรละ 1 คน เพื่อคัดเลือกเป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว
2. ขอให้องค์กรต้นสังกัดที่ถูกระบุว่ามีนักข่าวรับเงินตรวจสอบว่านักข่าวคนดังกล่าวรับจริงหรือไม่ และการดำเนินการขององค์กรต้นสังกัดแจ้งต่อสาธารณะให้ทราบ ส่วนบุคคลที่ไม่มีต้นสังกัด ทำตัวเป็นนักข่าวเพื่อส่งข่าวต่อไปยังสำนักข่าวอื่นๆ แต่ทำผิดจริยธรรมวิชาชีพนั้น 7 องค์กรสื่อขอเรียกร้องให้ทุกสำนักข่าว ไม่ซื้อข่าวจากบุคคลดังกล่าวอีกต่อไป
3. กรณีที่มีนักข่าวมีส่วนพัวพันหรือไปเกี่ยวข้องกับการรับเงินในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) จะตรวจสอบเรื่องของจริยธรรมวิชาชีพเช่นกัน ส่วนความผิดตามกฎหมายนั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย
4. 7 องค์กรสื่อขอเรียกร้องให้บุคคลที่เป็นอดีตนักข่าว ทำหน้าที่ส่งข่าวต่อให้สำนักข่าวอื่นๆ แสดงตัวตนให้ชัดเจนว่าการรับเงินดังกล่าวเป็นค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนในการทำข่าว เพราะถือเป็นอาชีพที่สามารถดำเนินการได้ ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน