"หมออ๋อง" แจง 3 เหตุผล ยันไม่ได้สมคบคิดก้าวไกลเพื่อผลประโยชน์ใคร โบ้ยก้าวไกลแจงเอง
วันที่ 29 ก.ย. 2566 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 แถลงข่าวกรณีพรรคก้าวไกลมีมติขับออกจากสมาชิกพรรคและแนวทางการไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่หลังจากนี้ว่า นับตั้งแต่ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตัดสินใจลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดทางให้ที่ประชุมใหญ่ พรรคก้าวไกลมีมติเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ สส. และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้ ตนเข้าใจดีว่าตามรัฐธรรมนูญ ตนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นรองประธานสภาฯ ต่อในฐานะ สส. จากพรรคก้าวไกลได้
แม้ทางเลือกหนึ่งคือการลาออกจากการเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ สส. คนหนึ่งของพรรคก้าวไกล แต่หลังจากพิจารณาไตร่ตองอย่างถี่ถ้วน ถึงผลกระทบของการตัดสินใจของตนต่อการขับเคลื่อนวาระการเปลี่ยนแปลงที่ตนได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนในวันที่ตนเข้ามารับตำแหน่งรองประธานสภาฯ ตนจึงได้ตัดสินใจแจ้งกับคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลชุดใหม่ว่า ประสงค์จะทำหน้าที่ต่อในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำให้ตนไม่สามารถเป็นสมาชิกของพรรคก้าวไกลได้อีกต่อไป
นายปดิพัทธ์ ระบุว่า ตนมีเหตุผลประกอบการตัดสินใจ 3 ส่วน ดังนี้
1. ต้องการใช้วาระที่เหลือของสภา ในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพสูง และเป็นของประชาชน
สภาโปร่งใส ตนจะขับเคลื่อนให้สภาฯ มีการจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากล ซึ่งรวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำงานของสภาฯ ในรูปแบบที่วิเคราะห์ต่อได้ การกำหนดให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมคณะกรรมาธิการ การยกระดับระบบสืบค้นข้อมูลของเว็บไซต์สภาฯ การพัฒนาระบบตรวจจับใบหน้า (face detection) เพื่อป้องกันการเสียบบัตรแทนกัน
สภาประสิทธิภาพสูง ตนจะขับเคลื่อนให้สภาฯ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน ผ่านการออกนโยบาย Cloud First Policy ที่จะนำไปสู่การประหยัดต้นทุนด้านธุรการและความปลอดภัยในการเก็บเอกสาร รวมถึงการขับเคลื่อนให้สภาคำนึงถึงความยั่งยืนในการบริหารจัดการ ผ่านการส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานสะอาดในอาคารรัฐสภา และการอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่และผู้ใช้บริการในการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า
สภาของประชาชน ตนจะขับเคลื่อนให้สภายึดโยงกับประชาชนและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการเมืองในระบบรัฐสภา ผ่านการเพิ่มการมีส่วนร่วมของเยาวชน การเปิดใช้พื้นที่รองรับกิจกรรมและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน การจัดสภาสัญจรเพื่อนำพากลไกสภาไปใกล้ชิดประชาชนทุกพื้นที่ และการตรวจรับสภาให้ไม่มีการทุจริตและการใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม
2. ตนต้องปฏิบัติหน้าที่รองประธานสภาอย่างเป็นกลางต่อทุกพรรคการเมืองในสภา และต่อประชาชนทุกชุดความคิด ไม่ว่าผมจะสังกัดพรรคใด ดังนั้น การที่ตนต้องเปลี่ยนพรรคต้นสังกัด จะไม่กระทบต่อการทำหน้าที่และแผนงานของตนในฐานะรองประธานสภา
3. ตนมั่นใจว่าพรรคก้าวไกลจะสามารถดูแลความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชนชาวพิษณุโลกได้อย่างครบถ้วน
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา การทำหน้าที่รองประธานสภาของตน ทำให้ตนจำเป็นต้องพัฒนาทีมงานพรรคก้าวไกลในจังหวัดพิษณุโลก โดยเฉพาะพื้นที่เขต 1 เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการประสานการแก้ไขปัญหาในพื้นที่
ดังนั้น ตนมั่นใจว่าทีมงานของพรรคก้าวไกลในจังหวัดพิษณุโลก จะมีศักยภาพเต็มที่ในการทำงานดูแลพี่น้องประชาชนชาวพิษณุโลกเขต 1 ร่วมกับผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จังหวัดพิษณุโลกเขต 5 (นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ) ขณะที่ตนเองก็ยังคงทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต 1 ควบคู่ไปกับบทบาทรองประธานสภาฯ ให้ดีที่สุด
ตนน้อมรับมติของพรรคก้าวไกลที่ต้องการทำหน้าที่ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ และตัดสินใจให้สมาชิกภาพของผมในฐานะสมาชิกพรรคก้าวไกลยุติลง
“จากนี้เป็นต้นไป ไม่ว่าผมจะไปสังกัดพรรคการเมืองใด ผมจะผลักดันการยกระดับการทำงานของสภาอย่างเต็มที่ตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ ในฐานะรองประธานสภาที่เป็นกลางต่อทุกพรรค และรองประธานสภาของพี่น้องประชาชนทุกคน” นายปดิพัทธ์ กล่าว
จากนั้นนายปดิพัทธ์ เปิดให้สื่อมวลชนถามตอบ โดยผู้สื่อข่าวสอบถามว่าเหลือเวลาอีก 30 วันได้หารือกับพรรคการเมืองอื่น เพื่อเข้าไปสังกัดหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า การตัดสินใจของพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นการตัดสินใจระยะสั้น มีการพูดคุยถึงทางเลือกต่างๆร่วมกัน ซึ่งการพูดคุยนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว เราได้มอบฉันทามติว่าจะน้อมรับมติของพรรค และหลังจากนี้จะเป็นการตัดสินใจของตนเองว่าจะไปอยู่พรรคไหน แน่นอนว่าต้องเป็นพรรคการเมืองที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของตน ไม่สามารถข้ามขั้วหรือขัดแย้งต่ออุดมการณ์ของตนได้
เมื่อถามว่ายังมีความรู้สึกว่า ตนเองยังเป็นพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ความรู้สึกก็ห้ามกันไม่ได้ แต่โดยพฤตินัย ตนไม่ได้เกี่ยวกับพรรคก้าวไกลตั้งแต่รับหน้าที่รองประธานสภาฯ แล้ว ดังนั้นความรู้สึกถูกเตรียมการไว้แล้ว
เมื่อถามว่าหากมีการยุบสภาฯ หรือมีการเลือกตั้งใหม่จะกลับมาพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ขอให้ถึงเวลาก่อน ยังคิดว่าอีกนาน ตอนนี้ตัดสินใจให้ดีที่สุดก่อน
เมื่อถามว่ามีการเปรียบเทียบในอดีต สส.พรรคก้าวไกล ก็เคยไปปฏิบัติกิจกรรมร่วมกับพรรคอื่น แต่ไม่ได้มีการขับออก นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ให้เป็นเรื่องของสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลตัดสินแล้วกัน ตนไม่สามารถตัดสินและวิจารณ์เรื่องอดีตได้ ส่วนที่มีการมองว่าเป็นการสมคบคิดกันใช่หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ที่จะวิจารณ์
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าเป็นการขับออกโดยธรรมชาติใช่หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า การขับออกครั้งนี้ ตนคิดว่าพรรคก้าวไกลตัดสินใจอย่างยากลำบากและรอบคอบ จึงไม่คิดว่าเป็นการสมคบคิดเรื่องผลประโยชน์กับใคร
“การขับออกครั้งนี้ ผมก็คิดว่าพรรคก้าวไกลตัดสินใจอย่างยากลำบากและรอบคอบ ดังนั้นถามว่าสมคบคิดเพื่อผลประโยชน์ของใครคงไม่ใช่ แต่ด้วยข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ เราจำเป็นต้องหาทางที่ดีที่สุดให้เกิดขึ้น และถ้าผมตัดสินใจจะยืนยันมติแบบนี้ ทางพรรคก้าวไกลก็ไม่มีโอกาสเลือกทางอื่น” นายปดิพัทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่าการตัดสินใจครั้งนี้ ถือว่าไม่ตรงไปตรงมาตามมาตรฐานพรรคก้าวไกลใช่หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ที่จะวิจารณ์ พร้อมยืนยันว่ายังไม่มีการคุยอย่างเป็นทางการกับพรรคอื่น ตอนนี้มีเวลา 30 วัน เพิ่งจะวันที่ 1 ตอนนี้สิ่งที่ต้องการคือการกลับไปจังหวัดพิษณุโลก กลับไปหาครอบครัว และค่อยๆ ทำความเข้าใจกันกับคนพิษณุโลก
นายปดิพัทธ์ ยืนยันว่าสามารถชี้แจงได้ ไม่มีเงื่อนงำ ทุกอย่างพูดตรงไปตรงมา ว่าเราทำด้วยเหตุผลอะไรบ้าง ผลงานที่ผ่านมาและอนาคตจะเป็นบทพิสูจน์ว่าได้ทำตามที่ให้สัญญาไว้กับประชาชนหรือไม่
ส่วนการกระทำแบบนี้จะทำให้ไม่ได้รับการเคารพจาก สส. ในการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า การที่พรรคที่ชนะอันดับ 1 ไม่เป็นฝ่ายบริหารและประธานสภาฯ มันก็ส่งเค้าถึงความไม่ปกติของสังคม ตนจึงไม่คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น เชื่อว่า สส.ทุกคนเป็นมืออาชีพและมีวุฒิภาวะ เพราะฉะนั้น สิ่งไหนที่เป็นตามหลักการและระเบียบข้อบังคับ ทุกคนก็ต้องปฏิบัติตาม คงไม่กังวลถึงความกดดันและเกมการเมืองแต่อย่างใด
เมื่อถามว่ามีความกดดันจากฝั่ง สส.รัฐบาลหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ไม่มีความกดดันมี แต่กำลังใจให้ทำหน้าที่ให้ดี
เมื่อถามว่าการกระทำแบบนี้เป็นเกมการเมืองเก่าที่พรรคก้าวไกลเคยวิจารณ์พรรคการเมืองอื่น แต่กลับทำเสียเอง นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ต้องไปถามพรรคก้าวไกล ตนไม่สามารถตอบแทนพรรคได้และเชื่อว่าทุกอย่าง การตัดสินใจทุกอย่างต่อสาธารณะ ทุกท่านสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้
เมื่อถามว่าจะถูกมองว่าพรรคที่รองรับจะเป็นนอมมินีของพรรคก้าวไกลหรือไม่ เหมือนกับที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ จากพรรคประชาชาติเคยถูกมองว่าเป็นนอมินีของพรรคเพื่อไทย นายปดิพัทธ์ ระบุว่า ไม่เป็นธรรมกับพรรคอื่น เพราะแต่ละพรรคมีนโยบาย ศักดิ์ศรี และผู้นำของตนเอง
“ผมจะเป็นสมาชิกของพรรคไหนก็ให้เกียรติพรรคนั้นด้วย ไม่มีเรื่องของการเป็นนอมินี” นายปดิพัทธ์ กล่าว
นายปดิพัทธ์ กล่าวอีกว่า พรรคที่จะไปสังกัดต้องเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง อุดมการณ์ประชาธิปไตยสอดคล้องกับอุดมการณ์ของตน ตนอยากเห็นการเมืองที่ดี ตรงไปตรงมา สร้างสรรค์ สนับสนุนอำนาจประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน ทั้งนี้ ทีมงานพรรคก้าวไกลพิษณุโลกจะตามไปด้วยหรือไม่ คงต้องดูข้อกฎหมาย