เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เร่งระบายน้ำรับมวลน้ำเหนือ เตือนพื้นที่ท้ายเขื่อนเฝ้าระวัง
วันที่ 1 ตุลาคม 2566 จากสถานการณ์น้ำทางภาคเหนือหลายจังหวัดกำลังเจอกับปัญหาน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ และมวลน้ำเหล่านี้บางส่วนจะไหลลงเข้าสู่ภาคกลาง ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เป็นกุญแจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำลุ่มภาคกลางเอง
ล่าสุดมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างพื้นที่ว่างรองรับมวลน้ำเหนือที่กำลังไหลเข้ามาสมทบต่อไป โดยปัจจุบันน้ำเหนือไหลผ่านจุดวัดน้ำ C2 หน้าค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ ลงมายังเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวัดได้ 1,301 ลบ.ม./วินาที ทำให้กรมชลประทานต้องเพิ่มการระบายน้ำลงท้ายเขื่อนจากอัตรา 841ลบ.ม./วิ ไปอยู่ที่ 926 ลบ.ม./วิ เพื่อสร้างสมดุลเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน รวมถึงสร้างพื้นที่ว่างในลำน้ำ รองรับมวลน้ำเหนือที่จะลงมาสมทบ
จากการระบายน้ำลงท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนลดลง จาก 16.60 ม.รทก. (เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ลงไปอยู่ที่ 16.46 ม.รทก.
ขณะที่ระดับน้ำท้ายเขื่อนเองได้ยกตัวขึ้นจาก 10.28 ม.รทก. ล่าสุดวัดได้ 10.65 ม.รทก. ซึ่งจะทำให้พื้นที่ในจังหวัดท้ายเขื่อนมีระดับน้ำสูงขึ้น 30-35 เซนติเมตรในช่วง 24 ชั่วโมงข้างหน้า
ชลประทานชัยนาทจึงแจ้งเตือน ผู้ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น กระชังปลา ร้านอาหาร เรือ แพ โป๊ะ ตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ลงไปถึง จ.สิงห์บุรี อ่างทอง โดยเฉพาะริมคลองโผงเผง และพระนครศรีอยุธยา พื้นที่คลองบางบาล ต.หัวเวียง อ.เสนา แม่น้ำน้อยใน ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ ควรเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ เพื่อให้สามารถขนย้ายสิ่งของให้พ้นน้ำ และรับมือกับระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นได้ทันท่วงที อีกทั้งขอให้ติดตามประกาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย