"นายกรัฐมนตรี" เกาะติดวอร์รูมน้ำ หลังสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ และอีสานวิกฤต กำชับให้ทุกหน่วยงานติดตามและเตรียมจัดจราจรน้ำเหนือ และน้ำยม และลุ่มน้ำชี เตรียมรับมวลน้ำระลอกใหม่

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 65 เวลา 19.00 น.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปติดตามสถานการณ์น้ำ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน (สามเสน) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สรุปสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมฝนที่ตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทย ตั้งแต่กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทําให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังในพื้นที่ เช่น ลุ่มน้ำวัง มีพื้นที่น้ำท่วม เนื่องจากน้ำในแม่น้ำวังล้นตลิ่ง ส่งผลกระทบกับจังหวัดลําปาง และตาก ส่วนลุ่มน้ำยม-น่านจากปริมาณฝนที่ตกในเขตจังหวัดแพร่ ทําให้ปริมาณน้ำในน้ำยมเพิ่มสูงขึ้น เริ่มมีผลกระทบกับจังหวัดสุโขทัยบางส่วน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่ปิง แม่น้ำน่าน ยังคงสูงขึ้น ทําให้ต้องบริหารจัดการน้ำ และจัดจราจรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด

ในส่วนลุ่มน้ำชี-มูล พื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำชีปริมาณน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนในพื้นที่แม่น้ำชีตอนล่างยังคงมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณ จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร แต่มีแนวโน้มลดลง ส่วนของลุ่มน้ำมูล มีน้ำท่วมบริเวณจ.อุบลราชธานี เนื่องจากปริมาณน้ำล้นตลิ่งบริเวณสถานี M.7 อำเภอวารินชําราบ โดยปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันสามารถระบายน้ำได้อย่างต่อเนื่อง

 

 

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาตลอด และเป็นห่วงพี่น้องประชาชน โดยต้องมาดูด้วยตัวเอง ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำแบบ Real-time รับฟังข้อติดขัดในการปฏิบัติงาน เพื่อช่วยให้ท่านได้ทำงานอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 ด้าน โดยขอให้กรมชลประทานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดจราจรน้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ลุ่มน้ำยม-น่าน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้ ให้หน่วยงาน ได้แก่ จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ กรมชลประทาน ตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ สะพาน และอาคารชลประทาน ให้มีความมั่นคง และพร้อมใช้งานตลอดช่วงฤดูน้ำหลาก รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัย และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ให้กรมอุตุวิทยา ติดตามสภาพอากาศ แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนสภาพอากาศกับประชาชน เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด และการแจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนในพื้นที่ให้ทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง