"อนุทิน" มอบนโยบาย กทม. บอก "ชัชชาติ" โละสายสีเขียว เริ่มใหม่ให้ถูกกฎหมาย พร้อมหนุน "ผู้ว่าฯกทม." ขับเคลื่อนงานไปพร้อมกัน ไม่ห่วงน้ำท่วม กทม. ส่วนภัยพิบัติจังหวัดอื่นผู้ว่าฯตื่นตัวอยู่แล้ว
วันที่ 2 ต.ค. 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย พร้อมด้วยนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรมว.มหาดไทย เดินทางมามอบนโยบายให้กรุงเทพมหานคร โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. คณะผู้บริหาร กทม. ผู้อำนวยการสำนัก ผอ.เขต 50 เขต ต้อนรับ
จากนั้น นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ว่า การมอบนโยบายและตรวจราชการครั้งนี้ มหาดไทยจะร่วมกันทำงานกับกทม.อย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด โดยกระทรวงมหาดไทยพร้อมสนับสนุนกทม.ในทุกด้าน ทุกเรื่องที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องได้รับการแก้ไข
เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด เกี่ยวกับการทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ตั้งแต่ปี 2555 (สัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย) ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน เพราะหากฝืนทำไปก็ไปต่อไม่ได้
ดังนั้น จึงต้องเริ่มต้นใหม่ในยุคของเรา โดยให้ผู้ว่าฯ กทม.เริ่มทำใหม่ เพราะหากรับของเก่ามาแล้ว มีปัญหา ก็ไม่ควรทำ ส่วนคำสั่งคสช. มาตรา 44 นั้นอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน ยังไม่ได้เสนอยกเลิกแต่อย่างใด
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาน้ำท่วมใน กทม.ไม่ห่วง เพราะ กทม. มีสำนักการระบายน้ำรับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว หาก กทม.ต้องการให้กระทรวงมหาดไทย สนับสนุนเรื่องใด ก็พร้อมสนับสนุน ส่วนภัยพิบัติในจังหวัดต่างๆ ผู้ว่าฯทุกจังหวัดมีความตื่นตัวอยู่แล้วที่จะแก้ไขปัญหา ส่วนจะประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เป็นอำนาจของผู้ว่าฯโดยตรง
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องรถไฟฟ้า มี 2 ส่วน คือ คำสั่ง คสช. มาตรา 44 เป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เดินรถอย่างต่อเนื่อง ไร้รอยต่อโดยเอาหนี้ทั้งหมด มาแลกกับการขยายสัมปทานให้กับเอกชน ซึ่งกทม.ต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง
อีกส่วน เป็นเรื่องหนี้ของค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) และค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ซึ่ง E&M กทม.สามารถจ่ายได้ เพราะมีเงินอยู่แล้ว แต่ต้องผ่านการอนุมัติจากสภากทม.ก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว นำผลการศึกษามารายงานต่อที่ประชุมสภากทม.ก่อน เมื่อได้ข้อสรุปจากคณะกรรมการวิสามัญฯ กทม.จึงเสนอกระทรวงมหาดไทยและครม. ส่วน O&M อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง จึงยังจ่ายไม่ได้
ส่วนเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตามนโยบายรัฐบาล กทม.สามารถเชิญเอกชนมาได้ แต่ดูจากตัวเลขต้นทุนแล้วเป็นเรื่องยากที่เอกชนจะยินยอม แต่หากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว และโครงการกลับมาเป็นของ กทม. สามารถเก็บได้ แต่ต้นทุนอยู่ที่ 33 บาท ถ้าคิดค่าโดยสาร 20 บาท จะมีส่วนต่าง 13 บาท ซึ่งส่วนนี้กทม.ต้องรับผิดชอบ